svasdssvasds

สิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบโควตา ไม่แฟร์สำหรับเด็กกรุงเทพ...?

สิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบโควตา ไม่แฟร์สำหรับเด็กกรุงเทพ...?

เป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์กับกรณีของเด็กในกรุงเทพรู้สึกไม่แฟร์ ที่มหาวิทยาลัยภูมิภาคเปิดโควตารับเด็กในพื้นที่ก่อน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์

SHORT CUT

  • เกิดการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ประเด็นของมหาวิทยาลัยภูมิภาคเปิดรอบโควตาที่รับเด็กในพื้นที่ก่อน 
  •  จุดประสงค์ของโควตาภูมิภาค คือการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้โดยไม่ต้องดิ้นรน
  • ในขณะเดียวกันหลายมหาวิทยาลัยก็เปิดรอบโควตาสำหรับเด็กทุกคนในประเทศ

เป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์กับกรณีของเด็กในกรุงเทพรู้สึกไม่แฟร์ ที่มหาวิทยาลัยภูมิภาคเปิดโควตารับเด็กในพื้นที่ก่อน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์

เป็นเรื่องถกเถียงกันในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ในประเด็นของมหาวิทยาลัยภูมิภาคเปิดรอบโควตาที่รับเด็กในพื้นที่ก่อน ทำให้เด็กในกรุงเทพส่วนใหญ่รู้สึกไม่แฟร์ เพราะการมีรอบโควตาที่เปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ก่อนทำให้เด็กในกรุงเทพเสียสิทธิ์ในรอบโควตาไป ถึงแม้ความเจริญจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะมีความพร้อม

ในขณะเดียวกันก็มีความคิดเห็นของชาวเน็ตหลายคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคมีรอบโควตาที่จำกัดเฉพาะเด็กในพื้นที่ก่อน ก็เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว การมีรอบโควตาช่วยให้เด็กได้มีพื้นที่เรียน กระจายการศึกษาสู่เด็กในภาคนั้นๆให้สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่ต้องดิ้นรน

 

รอบโควตาคืออะไร ทำไมต้องมีรอบโควตา ?

จุดประสงค์หลักของรอบโควตาแบบเปิดรับเด็กในพื้นที่ก่อนของแต่ละมหาวิทยาลัยในภูมิภาค คือการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ อีกทั้งยังผลักดันให้นำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับภูมิภาค ซึ่งระบบโควตาจะเน้นการรับสมัครนักเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น กลุ่มนักเรียนในเขตพื้นที่ กลุ่มนักเรียนในโควตาโรงเรียน กลุ่มนักเรียนในภูมิภาค หรือ กลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ จะใช้คะแนนสอบส่วนกลางที่ ทปอ. เป็นผู้จัดสอบ เช่น TGAT/TPAT A-Level หรือ มหาวิทยาลัยจัดสอบวิชาเฉพาะของตนเอง รวมถึงอาจมีการใช้ GPAX และ GPA 6 เทอม ยังถือเป็นรอบที่มีเกณฑ์คัดเลือกที่หลากหลาย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คัดเลือกเองเพื่อให้ได้นักเรียนที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด ในขณะเดียวกัน เด็กนอกพื้นพื้นที่ก็ไม่ได้เสียสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อ เพราะมหาวิทยาลัยก็ยังคงเปิดรับเด็กโควตาประเภทอื่นๆ เช่น โครงการความสามารถพิเศษทางด้านวิชาการ ด้านดนตรี-นาฏศิลป์ หรือความสามารถพาะด้านอื่นๆ ตามที่กำหนด เช่น โอลิมปิกวิชาการ นักเรียนดีเด่น หรือผ่านการแข่งขันได้รับรางวัลต่างๆ ที่หลายมหาวิทยาลัยกำหนดเปิดรับ ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติตามกำหนดและคะแนนสอบตามที่กำหนดไว้

 

สิทธิ์รอบโควตา เพิ่มโอกาสการศึกษาให้เด็กในพื้นที่

ในกระบวนการรับเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัย จะรับผ่านระบบที่เรียกว่า TCAS ย่อมาจาก Thai University Central Admission System คือระบบการคัดเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเปรียบเสมือนพื้นที่กลางที่มหาวิทยาลัยจะเข้ามาในระบบเพื่อรับสมัครนักเรียน ซึ่งระบบ TCAS สามารถสมัครได้ทุกวุฒิการศึกษาทั้ง ม.6 สายอาชีพ เทียบเท่า และเทียบวุฒิ GED อย่างไรก็ตามก็ต้องดูตามรายละเอียดของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยปัจจุบันจะมีการแบ่งการรับออกเป็น 4 รอบ คือ รอบที่ 1 รอบ Portfolio (ใช้แฟ้มสะสมผลงาน) รอบที่ 2  Quota รอบที่ 3 รอบ Admission และรอบที่ 4 รอบ Direct Admission (รอบรับตรงอิสระ)

โดยที่กำลังเป็นประเด็นในโลกออนไลน์อยู่นั้น คือการที่รอบที่ 2 หรือรอบ Quota หลายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเปิดรับเด็กในพื้นที่ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ใน TCAS รอบที่ 2 การรับนักเรียนโควตาภาคเหนือจากโรงเรียนมัธยมในเขตพัฒนาภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2567 ที่ได้จัดสรรโควตาให้แก่เด็กนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ของโรงเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมนักเรียนที่เรียนดีในเขตพัฒนาภาคเหนือให้ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเดียวกัน และเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่จังหวัดและอำเภอในเขตพัฒนาภาคเหนืออย่างทั่วถึง โดยมีการกำหนดสัดส่วนอย่างชัดเจนว่าในแต่ละพื้นที่เปิดรับจำนวนกี่คน

แบ่งสัดส่วนตามกลุ่มวิชาหลักที่ใช้ในการคัดเลือก กลุ่มวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ คือ ส่วนที่ 1

1. โควตาเฉพาะนักเรียนจากโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในอำเภอเมือง 657 ที่นั่ง

2. โควตาให้นักเรียนทั้งจังหวัด (อำเภอเมืองและรอบนอก) 1,185 ที่นั่ง

3. รวมให้นักเรียนทุกจังหวัดในภาคเหนือ 1,842 ที่นั่ง

และส่วนที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรโควตาให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือแต่ไม่ได้รับคัดเลือกจากส่วนที่ 1 รับทั้งหมด 1,841 ที่นั่ง โดยผู้สมัครที่เหลือจะนำมาจัดสรรอีกครั้งรวมกับโควตาที่รวมให้นักเรียนทุกจังหวัดในภาคเหนือ (ในส่วนที่ 1) อีก 1,842 ที่นั่ง รวมจำนวนโควตาในส่วนที่ 2 ทั้งหมด 3,683 ที่นั่ง

สิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบโควตา ไม่แฟร์สำหรับเด็กกรุงเทพ...?

ถึงแม้จะมีระบบโควตา แต่เด็กหลายคนก็ยังหลุดออกจากระบบการศึกษา

แต่ในขณะเดียวกัน ถึงหลายมหาวิทยาลัยจะมีรอบโควตาเพื่อรองรับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสได้รับการศึกษาเนื่องจากสภาพปัจจัยทั้งภายในและภายนอกไม่เอื้ออำนวย จากการสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประจำปีการศึกษา 2566 พบว่ามีจำนวนเด็กนักเรียนที่ยากจนและยากจนพิเศษ 1.8 ล้านคน ที่มีโอกาสจะหลุดออกจาระบบการศึกษา จำนวนนักเรียนจาก 1 ล้านคนจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของ สศช. ที่ 2,803 บาท 12.46% (21,921 คน) คือจำนวนของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษซึ่งศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.3 ของปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS66 ซึ่งมีนักเรียนเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ

ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยังมีเด็กที่อยู่ในวิกฤตทางการศึกษาจำนวน 73% ที่เป็นปัญหาซับซ้อนมากกว่าหนึ่งปัญหาโยงมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายและจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย การให้เงินสนับสนุนไม่สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้พ้นวิกฤตได้ แต่ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย ภาครัฐต้องมีมาตรการเชิงรุกที่มุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้สามารถยืดหยัดพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เดินหน้ามาตรการ “Thailand Zero Dropout” แก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามและเข้าช่วยเหลือ เพื่อให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาศักภาพอย่างเต็มที่

ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ระบบโควตา

ถึงแม้ว่าระบบ TCAS (2566 – ปัจจุบัน) มีการปรับรูปแบบการสอบ TGAT TPAT ให้มุ่งเน้นเรื่องความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาชีพ ถึงแม้จะดูไม่มีข้อเสีย แต่หลายคนก็ยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำของการศึกษาอยู่ เช่นค่าใช่จ่ายในการเรียนพิเศษ ค่าเข้าค่ายและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ค่าเดินทางในการไปสอบ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบรอบต่างๆ การมีโอกาสสร้างแฟ้มสะสมผลงานที่ดีกว่าคนอื่นในรอบที่ 1 (รอบ Portfolio) บางมหาวิทยาลัยอาจใช้ผลคะแนนที่มาจากหน่วยงานภายนอก เช่น TOEIC TOFFE IELTS A-LEVEL BMAT ฯลฯ  ค่าสมัครในรอบแฟ้มสะสมผลงาน ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ยังไม่รวมถึงค่าเดินทางที่ต้องไปสอบ เด็กที่ไม่มีกำลังจ่ายก็อาจจะมีสิทธิ์ในการสอบแค่รอบโควตาและรอบรับตรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีค่าใช้อย่างค่าสมัคร Admission ที่สามารถเลือกได้สูงสุดถึง 10 อันดับ หากต้องการเลือกทั้ง 10 อันดับ ก็ต้องจ่ายทั้งหมด 900 บาท หรือค่าสมัครสอบที่ส่วนใหญ่ต้องนำไปยื่นในรอบ Admission ทั้งหมด 6 วิชา วิชาละ 140 บาท หรือแม้กระทั่งการยื่นคำร้องขอทบทวนผลสอบก็อยู่ที่วิชาละ 100 บาท (สูงสุดไม่เกิน 300 บาทต่อคน)

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยบางแห่งก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้ พร้อมนำแนวทางการแก้ไขต่าง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (กลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ), โครงการจุฬาฯ-ชนบท, โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงอุดมศึกษาธิการฯ (อว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะนำงบประมาณมาสนับสนุนการสมัครสอบในรอบ Admission (รอบที่ 3) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง และนักเรียนในกระบวนการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ประจำปี 2567 (TCAS รอบ 3) เป็นการแบ่งเบาภาระได้สูงสุดคนละ 900 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นภาครัฐเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 นางสาว ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ได้ประกาศเดินหน้านโยบายปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อลดภาระและความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ แบ่งนโยบายปฏิรูปออกเป็น 4 เป้าหมาย ซึ่งจะทำใน 3 ประเด็น คือ 1. การปรับการการจัดการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่มีศักยภาพสามารถเรียนจบได้เร็วขึ้น หรือสามารถเข้าถึงหลักสูตรได้ตั้งแต่มัธยมและสะสมหน่วยกิตไว้ในระบบ และนำมาเทียบโอนเมื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย 2.สนับสนุนงบประมาณเพิ่มติมให้กับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความประเทศได้รวดเร็ว 3.ส่งเสริมให้นักศึกษามีงานทำในระหว่างเรียน คือการทำให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดช่วงชีวิต โดยจะให้นักเรียนสมัครสอบ TCAS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดข้อสองเก่าเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสฝึกทำข้อสอบ ลดการสอบข้อเขียนและเพิ่มการวัดทักษะในรูปแบบอื่นๆ สนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่เปราะบางและด้อยโอกาส สร้างระบบการเรียนรู้ที่มี AI ช่วยสอน เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และการจัดทำระบบให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนที่สอบเข้าได้แต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหรืออื่นๆ

ถึงจะมีรอบโควตา ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะสอบติด

สิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบโควตา ไม่แฟร์สำหรับเด็กกรุงเทพ...?

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ  โฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการและผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมีรอบโควตาถือเป็นเรื่องที่ดี ที่เปิดพื้นที่ให้กับเด็กในต่างจังหวัดได้ศึกษาในภูมิภาคของตนเอง การมีรอบโควตาก็เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดรอบโควตาให้กับเด็กในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่จะให้เด็กในพื้นที่โซนอีสานก่อน และการมีโควตาก็มีประโยชน์ต่อผู้เรียนที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลจากถิ่นฐานของตนเอง ไม่เป็นภาระกับตนเองครอบครัว และเป็นการให้โอกาสเด็กในพื้นที่นั้นๆได้เข้าถึงการศึกษา ถึงแม้จะเปิดรอบโควตาให้กับเด็กในภูมิภาค ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถสอบเข้าได้ เพราะก็ยังต้องมีการสอบคัดเลือกกันอยู่ดี และยังยืนว่าควรจะมีระบบโควตาต่อไป และเข้าใจเด็กในภูมิภาคที่ที่จะรู้สึกไม่พอใจกับระบบโควตา เพราะในฐานะโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการและผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปจัดการเรื่องระบบการรับเข้าของมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของ ทปอ. ที่เป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสอบ สิ่งที่ทำได้คือการร้องขอและเปิดกว้างให้เด็กทั่วภูมิภาคมีโอกาสในการศึกษาเท่าๆ กันไม่ใช่แค่เด็กในพื้นที่กรุงเทพ และจะนำปัญหานี้ไปปรึกษากับ ทปอ. เพื่อหาวิธีการและแนวทางในอนาคต

ย้ำ! โควตาภูมิภาคยังจำเป็นและมีประโยชน์อยู่

สิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบโควตา ไม่แฟร์สำหรับเด็กกรุงเทพ...?

ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เด็กในกรุงเทพมีโอกาสมากกว่านักเรียน นักศึกษาในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยม มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เก่าแก่และเป็นเลิศในสาขาวิชาต่างๆ ล้วนกระจุกตัวในกรุงเทพเกือบทั้งหมด โดยให้ความเห็นว่า ระบบโควตาภาคเป็นระบบที่มีมานานแล้ว และมีเพื่อให้โอกาสกับนักเรียนประจำภาคนั้นๆ ในเรื่องความผูกพันธ์ของวัฒนธรรมประเพณี ภาษาถิ่นก็มีความใกล้เคียง มหาวิทยาลัยในภูมิภาคจึงเน้นรับเด็กที่อยู่ในภาคนั้นๆก่อน เพราะเป็นนักเรียนที่มีวัฒนธรรมประเพณีเชื่อมโยงกัน เพราะมหาวิทยาลัยในกรุงเทพก็มีมากกว่ามหาวิทยาลัยตามภูมิภาคอยู่แล้ว นอกจากประเด็นเรื่องให้การโอกาสเด็ก ก็อาจจะมีประเด็นในเรื่องของเศรษฐกิจด้วย นักเรียนนักศึกษาที่สอบเข้าโควตาภาคจะไม่ต้องเดินทางไกลบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่าย มีความผูกพันธ์กับท้องถิ่น เรียนจบไปแล้วก็นำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเองได้ และยังเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีระบบโควตาอยู่ เพียงแต่จัดสอบเข้าเรียนอาจจะต้องมีการปรับให้มีการรับนักศึกษาที่ตรงสาขาวิชานั้นๆ มากยิ่งขึ้น ลดการสอบลง เอาเฉพาะวิชาที่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายลง อย่างเช่น ค่าสอบ ค่าสมัครในรอบต่างๆ การมีโควตาภูมิภาคทำให้นักเรียนที่อยู่ตามโรงเรียนมัธยมที่จะเดินทางมาสอบรอบโควตาภูมิภาคก็จะได้เดินทางมาไม่ไกลมาก และยังช่วยลดช่องว่างของค่าใช้จ่ายการเดินทางได้เล็กน้อยหากเทียบกับต้องเดินทางเข้ามาสอบในกรุงเทพ และยังเห็นว่าในระบบ TCAS ก็ยังมีรอบอื่นๆ และมหาวิทยาลัยก็มีที่นั่งเหลือให้กับนักศึกษาทุกๆ จังหวัดรวมไปถึงพื้นที่กรุงเทพใน TCAS รอบ 3 เพียงแต่ในโควตาภาคโดยส่วนใหญ่จะรับในเปอร์เซ็นต์ที่นั่งประมาณ 60%-65% และจะเหลือประมาณ 30%-35% ที่จะรับเด็กในพื้นที่กรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ เข้าไปเรียน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเด็กนักเรียนในกรุงเทพจะไม่สามารถไปสอบมหาลัยในต่างจังหวัดได้ เราจะเห็นได้ว่าก็มีนักเรียนในกรุงเทพส่วนใหญ่ที่สอบเข้าและเรียนจบในมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเยอะมาก ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในกรุงเทพก็ไม่ได้มีโควตาให้เด็กในกรุงเทพมากนัก ปารมีให้ความเห็นว่าเด็กในกรุงเทพมีโอกาสสูงมากอยู่แล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพให้โควตาภาคเฉพาะนักเรียนในกรุงเทพ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะกลายเป็นการลดโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดและทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยในปริมณฑลอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ที่มีการให้โควตาภาคกับจังหวัดใกล้เคียง แต่ไม่ได้มีโควตาให้กับเด็กในพื้นที่กรุงเทพ มองว่าเป็นการให้โควตาที่สมเหตุสมผล เพราะช่วยให้เด็กต่างจังหวัดย่นระยะเวลาการเดินทางที่จะเข้ามาสอบ ไม่ต้องมากระจุกตัวแค่ในกรุงเทพ ไม่ได้มองว่าเป็นการตัดโอกาสนักเรียนในกรุงเทพเพราะยังมี TCAS รอบอื่นๆ ที่รับนักเรียนให้เข้าเรียนได้

ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา ยังเห็นด้วยกับการมีระบบโควตา ซึ่งนโยบายพรรคก้าวไกลเองก็อยากจะผลักดันให้ค่าสมัครสอบในแต่ละวิชา รวมถึงประมวลผล TCAS ในแต่ละรอบ ไม่เกิน 500 บาท ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่เด็กนักเรียนในฐานะไม่ดีพอจะจ่ายไหว เพราะการสอบในแต่ละรอบยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอีกมากมาย อย่างค่าเดินทาง ค่าหอพักสำหรับเด็กนักเรียนต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้ามาสอบในตัวเมือง ซึ่งมองว่ารอบที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในระบบ TCAS คือรอบ Portfolio (รอบที่ 1) เพราะการที่จะได้มาซึ่งผลงานที่ดี ต้องมีการเข้าแข่งขันและบางกิจกรรมก็มีค่าใช้จ่าย เด็กที่ฐานะไม่ดีก็จำเป็นจะตกออกนอกระบบนี้ไป และค่าใช้จ่ายในรอบ Portfolio หลายมหาวิทยาลัยยังแพงอยู่ ซึ่งตัวของปารมีเองก็ยังต่อสู้เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลง และยังย้ำว่าการมีโควตาภูมิภาคยังจำเป็นและมีประโยชน์อยู่

หลายมหาวิทยาลัย ก็ยังเปิดโอกาสให้กับเด็กในประเทศ

ในขณะเดียวกันหลายมหาวิทยาลัยในภาคกลางก็เปิดรอบโควตาสำหรับเด็กทุกคนในประเทศ เช่น โครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการโควตา 28 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น การมีโควตาของโรงเรียนในเครือของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เช่น โครงการรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น การเปิดรอบโควตาที่มีเกณฑ์จัดสรรให้เด็กภายในพื้นที่ไม่ได้การันตีว่าเด็กในภูมิภาคจะได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในทุนของตัวเด็กเอง ความไม่เท่าเทียมจากความเลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการสร้างข้อจำกัดบางส่วนผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของมหาวิทยาลัย แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กภายในภูมิภาคได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในภูมิภาคของตนเองและนำกลับมาพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเด็กที่คุณสมบัตินอกเหนือจากเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย ก็ยังสามารถยื่นเข้าพิจารณาคะแนนในรอบถัดไปได้

 

อ้างอิง

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/83684

https://www.tcijthai.com/news/2023/11/article/13302

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/81053

https://admission.reg.cmu.ac.th/app.php?page=

https://www.lannernews.com/19112566-03/

https://www.dek-d.com/tcas/54407/

https://tcas.in.th/

https://theactive.net/news/learning-education-20230619/

https://www.eef.or.th/infographic-452234/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related