svasdssvasds

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ การศึกษาทางเลือกของชุมชน

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’  การศึกษาทางเลือกของชุมชน

อิสระ เสรี อบอวลด้วยความสุข ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ การศึกษาทางเลือกของชุมชน เปลี่ยนเอากระท่อมและทุ่งนากว้าง มาเป็นโรงเรียนสอนความรู้นอกตำรา

SHORT CUT

  • ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ ใน จ.บุรีรัมย์ เกิดขึ้นจากแนวความคิดความฝันของ ครูลี่-คีตา วารินบุรี ที่เปลี่ยนเอากระท่อมและทุ่งนากว้าง มาเป็นโรงเรียนสอนความรู้นอกตำรา
  • ครูลี่ บอกว่า เคยถามเด็กๆ ทุกคนบอกว่า เขาเบื่อกับการที่ต้องทําอะไรซ้ำๆ ที่โรงเรียน เขาเบื่อกับการต้องแบกหนังสือ แบกการบ้านกลับบ้าน แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราได้ให้อิสระกับเขา
  •  เพราะการเรียนรู้ เราต้องเข้าใจ ความแตกต่างของเด็กว่าแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

อิสระ เสรี อบอวลด้วยความสุข ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ การศึกษาทางเลือกของชุมชน เปลี่ยนเอากระท่อมและทุ่งนากว้าง มาเป็นโรงเรียนสอนความรู้นอกตำรา

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ ในชุมชน จะพากันมาที่ "โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง" แห่งนี้ บรรยากาศโล่งกว้าง อิสระ เสรี อบอวลไปด้วยความสุขจากการปลูกผัก ร้องเพลง เล่นดนตรี วิ่งเล่นกันไปมา โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างแห่งนี้ จึงมีเสียงเพลงและเสียงหัวเราะอบอวลไปทั่วท้องนา

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านถาวร ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.บุรีรัมย์ เกิดขึ้นจากแนวความคิดความฝันของครูลี่-คีตา วารินบุรี ที่เปลี่ยนเอากระท่อมและทุ่งนากว้าง มาเป็นโรงเรียนสอนความรู้นอกตำรา เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีธรรมชาติ พื้นบ้าน การรักษารากฐานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น

“เอาแผ่นดินมาเป็นกระดาษ เอาจอบมาเป็นปากกา นี่เป็นใบสมัครที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ มวลสารที่ดีที่ส่งถึงกัน และเป็นใบสมัครที่กินได้ด้วย พื้นที่ตรงนี้ จะเป็นพื้นที่การแบ่งปันภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีส่งต่อให้กับลูกหลาน แล้วความอบอุ่นก็เกิดขึ้น ให้เขาใกล้ชิดกลับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบ้านของเขา ได้ซึมซับวิถีชุมชนที่มีอยู่แล้ว แล้วความสนุกสานก็เกิดขึ้น” ครูลี่- คีตา วารินบุรี บอกเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มและอิ่มเอมความสุข

ทุกกิจกรรมของโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จึงมีคุณค่า อุดมด้วยปัญญาแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

ครูลี่ -คีตา วารินบุรี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง บอกว่า เมื่อก่อน เคยเป็นนักดนตรีตามผับ ตามบาร์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีความฝันเหมือนทุกๆ คนนั่นแหละ มันเหมือนวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่น ว่าเรียนจบแล้วต้องเข้าไปกรุงเทพ เพื่อตามหาความฝันของตนเอง

“ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รับวัฒนธรรมพวกนี้มา พอเข้าไปในกรุงเทพฯ ก็ทํางานอยู่หลายที่ สุดท้าย ความฝันของคนเป็นนักดนตรี ก็มีประมาณนี้ เหมือนเจอทางตัน เพราะเราเล่นดนตรีกลางคืนทุกวันๆ มันก็เบื่อ อยากหาอะไรทําใหม่ๆ บ้าง พอดีผมได้ไปเจอกับอาจารย์เอกลักษณ์ หน่อคํา (เอ แมลงเพลง) ท่านก็พาไปทํากิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับเด็ก เอาเครื่องดนตรีไปมอบให้เด็กตามรอยตะเข็บชายแดน ไปเล่นดนตรี เอากล่องไปรับบริจาค เพื่อที่จะซื้อของไปให้น้องที่ขาดโอกาส ก็เริ่มเรียนรู้การแบ่งปันคนอื่นนั้นมีความสุขนะ จนกระทั่ง อาจารย์ชวนมาอยู่ที่เชียงใหม่ บอกว่าเดี๋ยวเราไปทําโรงเรียนธรรมชาติ จริงๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ว่าผมชอบแนวความคิดนี้ ก็ตัดสินใจลาออกจากร้านที่กรุงเทพ มาเล่นดนตรีที่เชียงใหม่ มาทําโรงเรียนธรรมชาติ เอาเด็กชนเผ่าปกาเกอะญอมาเรียน สอนดนตรีให้เด็กๆ”

ครูลี่ บอกว่า ทำโรงเรียนธรรมชาติกันอยู่ 3-4 ปี เอาเด็กมาเรียน เราเป็นทั้งครู เป็นภารโรง เป็นอะไรทุกอย่าง และที่สำคัญ ได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์ปราสาท เทศรัตน์ เจออาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน อาจารย์ก็ได้แนะนำให้รู้จักเรียนรู้จากเรื่องรีเซ็ต เรื่องการฝึกสมาธิ เรื่องด้านในของชีวิต  

“พอโรงเรียนธรรมชาติปิดตัวลง ก็ได้มีโอกาสไปพำนักอยู่กับอาจารย์ปราสาท ที่จังหวัดแพร่ ก็ได้วิชาความรู้ ถ่ายทอดเรื่องของประสบการณ์ การใช้ชีวิต การทําเพื่อตัวเอง  ทีนี้เราก็เหมือนตกผลึกอะไรบางอย่าง จากนั้น ก็มีโอกาสไปที่มุกดาหาร อาจารย์ไพบูลย์บวชอยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสได้เจอกับพี่นนท์-สุวิชานนท์ รัตนภิมล ก็ได้ไปเรียนรู้ด้านในเพิ่มเติมจากพี่นนท์ด้วย”

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’  การศึกษาทางเลือกของชุมชน

กลับคืนบ้านเกิด ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง 

ครูลี่ เล่าว่า กลับบ้านครั้งนี้ ตอนแรกยังไม่ได้คิดจะมาทําโรงเรียนเลยนะ  กลับมาบ้าน เพราะว่าคิดถึงแม่ อยากมาอยู่กับแม่ เส้นทางชีวิตจากแม่มานานมาก

“ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ว่าสุดท้ายคนเราก็ต้องกลับบ้าน และอาจารย์ก็เคยเล่าเรื่องที่ดินรกร้างนี่แหละว่า เพราะคนรุ่นใหม่ เขาทิ้งบ้าน ทิ้งแผ่นดิน สุดท้ายมันก็จะเป็นของต่างชาติ อาจารย์ปราสาทก็พูดบ่อย ทำให้ผมตัดสินใจกลับบ้าน มาดูแลแม่ ทีนี้พอมาอยู่กับแม่สักพักหนึ่ง ก็มีเพื่อนอยู่ที่นี่ เขาก็รู้ว่าเรากลับบ้าน เขาก็มาหา ชวนไปเล่นดนตรีอีก แต่ตอนนั้นผมรู้สึกเบื่อดนตรีแล้วนะ  คือคิดจะเลิกเล่นแล้ว  ใจอยากเป็นชาวนา อยู่กับวิถี ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือ เกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมพวกนี้ ซึมซับในตัวเราเยอะอยู่เหมือนกัน ทำให้มองเห็นคนอีสานจากบ้าน แล้วก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่  มันอาจจะฝังอยู่ พอผมมาอยู่กับแม่ ก็ปลูกผัก ทํานา ทำสวนได้ประมาณสองเดือน”

ครูลี่ บอกว่า จุดประกายเริ่มต้นนั้นมาจากหลาน จนกลายมาเป็นโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

“พอดีมีหลานอยู่คนหนึ่ง กำลังติดเกม ก็ไม่ค่อยคุยกับเรา ไม่ค่อยเล่น  ไม่ค่อยทำอะไร ก็เลยวางแผนจะทํากิจกรรม เริ่มต้นจากเด็กประมาณสัก 4-5 ขวบ รวมทั้งหลานคนนี้ด้วย ผมพาเด็กๆ มาทําแคมป์ ไปเดินป่า พาไปเล่นน้ำ ทําอาหารด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆ ห่างจากมือถือ ห่างจากเกม  ก็พาเขาร้องเพลง เราก็เล่นกีตาร์ แล้วก็บังเอิญมันมี  ฟีดแบคกลับมาในทางที่ดี คือจากหลานเรานี่แหละ มันเริ่มห่างจากโทรศัพท์ จากเดิม เป็นเด็กที่อยู่กับโทรศัพท์ สิ่งที่เราเห็นก็คือ เขาจะไม่ค่อยคุยกับใคร เข้ากับคนอื่นไม่ได้ แล้วก็คําพูดคําจาก็ไม่เพราะหู ภาษาอะไรก็ไม่รู้ เราก็ฟังไม่รู้เรื่อง  พอทําสักพักหนึ่ง ก็เริ่มมีผลตอบรับกลับมา เด็กมันเริ่มดีขึ้นนะ แล้วก็บังเอิญ ช่วงนั้นมีวันเด็กในหมู่บ้าน เราก็อยากให้พวกผู้ใหญ่ได้เห็น ก็พาเด็กๆ ไปร่วมกิจกรรมวันเด็ก ก็ไปขอเขา อยากให้เด็กกลุ่มนี้มาร่วมแสดงด้วย เป็นการแสดงครั้งแรก ที่ไม่ได้หวือหวาอะไร  เอาวัสดุเหลือใช้นั่นแหละมาทำเครื่องทำดนตรี ก็เอาถังสีมาทำกลอง เอากระป๋องทินเนอร์มาทําพิณ เราก็เล่นกีตาร์ตัวเดียวแหละ ก็ร้องเพลงกันได้ 3-4 เพลง พอแสดงเสร็จก็ลงมา หลังจากนั้นก็ มีชาวบ้าน ทยอยเอาลูกเอาหลานมาฝากเพิ่มมากขึ้นๆ”

ส่วนหนึ่งก็คือ ครูลี่มีประสบการณ์จากการทำโรงเรียนธรรมชาติที่เชียงใหม่มาด้วย บวกกับมีแม่ที่คอยหนุน คอยเป็นที่ปรึกษาให้ลงมือทำ 

“แม่บอกผมว่า ถ้าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ ง่ายๆ เพราะว่า จริงๆ แล้ว แม่ก็ชอบเสียงเพลงอยู่แล้ว แม่อยากให้ผมทำวงหมอลําให้เด็ก ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำนะครับ ดูกําลังตัวเอง จนตัดสินใจลงมือทำ”

ครูลี่ ก็เลยนัดเด็กๆ ให้เด็กทุกคน ก่อนจะเข้ามาเรียน โดยมีกติกาว่า ต้องปลูกผักเป็นใบสมัครเข้าเรียน

“เด็กๆ ที่พ่อแม่พามาจะต้องฝึกปลูกผักให้เป็น ปลูกอะไรก็ได้ตามใจชอบ ระหว่างปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนเป็นเวลา 3 เดือน หากแปลงผักและนิสัยใจคอเด็กๆ งอกงาม ก็เข้ามายกขันขึ้นครู นับเป็นสมาชิกโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างได้เต็มตัว”

ต้องปลูกผักแทนการกรอกใบสมัครเรียน 

“คือมันจะได้วัดเด็กไงครับ ว่าเด็กเอากับเราไหม? เด็ก ป.1 ป.2 ให้เขามาขุดแปลงผัก มันเป็นเรื่องยากนะครับ ทีนี้ผู้ปกครองเขาก็เล่นด้วย ถ้าจะเปลี่ยนแปลงดี ก็ให้ทำแปลงผักนี่แหละแทนใบสมัคร เป็นการคัดสรรไปในตัว มันเป็นการสแกน ทีนี้ พอทําไปทํามา เด็กก็เริ่มเยอะขึ้น กิจกรรมที่เราพาเด็กๆ ทำ มันคงตอบโจทย์เขา เขาไม่ได้อยากเล่นโทรศัพท์ แต่เขาไม่รู้จะทําอะไร แล้วที่หมู่บ้านผมก็มีธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ เคยเป็นดินภูเขาไฟด้วย ทำให้พืชผักอาหารที่ภูเขาไฟนั้นอร่อย ไม่ว่าจะเป็นเห็ด หน่อไม้ ดอกกระเจียว อะไรพวกนี้เยอะมากครับ เราพาเด็กขึ้นเขา ไปกางเต็นท์บนภูเขา แต่หลัก ๆ ก็คือ การทํารีเซ็ตตัวเองนี่แหละ เริ่มจากเบื้องต้นก่อน อาจารย์บอกว่าให้เราปรับข้างในให้ได้ก่อน ลงรีเซ็ตลงไป เราก็ได้ฝึกตัวเองไปด้วย และการรีเซ็ตก็เริ่มมีกําลังเยอะขึ้น อันนี้รู้สึกได้เลย เด็กมีความสุขมากขึ้น มันเหมือนพวกเขาได้ปลดปล่อย เขาได้เล่น ได้เรียนรู้”

นั่นคือที่มาของ “โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง”

แน่นอนว่า ย่อมแตกต่างกับโรงเรียนในระบบของรัฐอย่างสิ้นเชิง

ครูลี่ บอกว่า เคยถามเด็กๆ ทุกคนบอกว่า เขาเบื่อกับการที่ต้องทําอะไรซ้ำๆ ที่โรงเรียน เขาเบื่อกับการต้องแบกหนังสือ แบกการบ้านกลับบ้าน มาถึงบ้าน ก็มานั่งเขียนๆ ในโรงเรียนที่เขาไปเรียนนั้นมีแต่กฎระเบียบ ไม่มีอิสระ แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราได้ให้อิสระกับเขา

“การมาเรียนรู้ที่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง นอกจากเรื่องของดนตรี เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในชุมชนแล้ว เรามีอีกอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนเป็นหลักสูตร ก็คือ เรื่องฐานกายกับฐานใจ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิต เรื่องกายมันก็คือเรื่องของปัจจัยสี่ที่เราดํารงอยู่ นั่นคืออาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เราทําเรื่องพวกนี้ สอนให้เด็กๆ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เก็บผักพื้นบ้านมาทำอาหารกัน รวมไปถึงให้เด็กๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตศึกษาใน YouTube บ้าง แล้วก็ ให้เพื่อนมาช่วยสอนบ้าง เรื่องยา เรื่องสุขภาพ อะไรพวกนี้ ก็มีพี่น้องเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน แต่วิชาใจ คือเรื่องของด้านใน การมองรู้สึกตัว พัฒนาเรื่องของสติของตัวเอง  เราจะเน้นเหมือนเป็นแก่นตั้งแต่แรก เพื่อเอามาเติมเรื่องของวิชากาย”

แน่นอน การก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง นั้นย่อมมีทั้งคนที่เห็นดีเห็นงาม และคนที่คัดค้านไม่เห็นด้วย เป็นปกติธรรมดา

“มันมีอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วย กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยครับ กลุ่มที่เห็นด้วยก็มี แต่ผมมองว่ามีน้อยนะ หมายถึงใน ในชุมชนเรานะ น้อยมากครับ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนี่ก็เยอะ  เพราะมักจะไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนทั่วไปว่า เห็นไหมๆ ไปเรียนโรงเรียนเล็กฯ อ่านหนังสือก็ไม่ออก ยิ่งไปยิ่งโง่ บางทีเราฟังมันก็สะเทือนใจเหมือนกัน คือเราไม่ได้ว่าใครผิดหรือถูกนะ แต่เราอาจจะมองคนละทาง บางทีเขาอาจจะไปติดยึดกับโครงสร้างเดิมๆ หรือเปล่านะว่า มันต้องมีเกรด มันต้องมีใบประกาศ มีวุฒิ มีอะไรแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครรับรองเขา แม้กระทั่งผมเองก็ไม่รับรองเขานะ ผมไม่รู้ว่าเขาได้อะไรไปบ้าง รู้แหละว่าเราสอนอะไร แต่ว่าสิ่งที่เขาได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาจะเอาไปนําพาชีวิตเขายังไง คือสิ่งที่เราทํามันช่วยเขาอยู่แล้ว  มันช่วยทุกคน แม้กระทั่งตัวคนสอนเอง แต่ละคนก็จะ ได้ไปไม่เท่ากัน ส่วนเขาจะเอาไปใช้ได้จริงหรือไม่ได้จริง อันนั้นก็อยู่ที่ตัวเขาแล้ว เพราะว่าหน้าที่เราสมบูรณ์แล้ว และการประเมินนั้น เด็กๆ ต้องเป็นคนรับรองตัวเขาเองครับว่า เขาจะได้คะแนนเท่าไร ซึ่งมันไม่ใช่ครู เพราะว่าตัวเขาต้องเผชิญกับเรื่องราว เรื่องราวที่เขา ต้องไปทํางาน ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แล้วเด็กๆ เอาวิชาชีวิตที่ได้เอาไปใช้ แล้วประเมินตัวเองว่าผ่านไหม จะได้ A ได้ หรือได้ F มันอยู่ที่ตัวเขา ผมว่าเราไปให้คะแนนเขาไม่ได้ ซึ่งอันนี้มันก็แตกต่างจากในระบบแล้ว” 

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’  การศึกษาทางเลือกของชุมชน

ต้องรู้จักค้นหาความแตกต่างของเด็กแต่ละคน

ครูลี่ ย้ำบอกว่า การเรียนรู้ เราต้องเข้าใจ ความแตกต่างของเด็กว่าแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

“ยกตัวอย่าง ปลื้ม เด็กชั้น ป.2 ผมมองเขาเป็นเด็กที่อัจฉริยะมาก แต่ปลื้มอ่านหนังสือไม่ออก ตอนที่เราตั้งโรงเรียนใหม่ๆ จำได้ว่า ตอนนั้น เราไม่มีเงิน แต่ผมต้องทําอาหารเลี้ยงเด็ก ทั้งมื้อเช้า เที่ยง เย็น ผมก็ได้ปลื้ม ซึ่งมีวิชาหาปลา เก่งมาก นี่คือเด็กแปดขวบ ชวนเพื่อนไปทอดแห หาปลา ไปเก็บเห็ด เก็บผัก มาทํากับข้าว แต่พอไปโรงเรียนในระบบ ปลื้มอ่านหนังสือไม่ค่อยคล่อง ครูก็หาว่าเขาเรียนไม่เก่ง โง่ แต่พอมาอยู่กับเรา โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เราไม่ได้มองเด็กแบบนั้นไง เราไม่ได้มองการศึกษาแบบนั้น ผมคิดว่า เราควรไปเติมในสิ่งที่เขาขาด หรือสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว มีจุดเด่นอะไร เราก็ไปต่อยอดเขา ผมว่าไอ้ตรงนั้นต่างหาก มันจะงดงาม มันจะทําให้ชีวิตเขาไปได้ ไม่ใช่มัวแต่มาเอาคะแนนเป็นตัวชี้วัด และอยู่ที่ปลายปากกาของครู ครูก็ไม่ได้คลุกคลีอะไรกับเด็ก ครูก็ยังต้องทําแต้มให้กับตัวเองอยู่เลย ซึ่งผมว่ายากครับ”

เช่นเดียวกับ แพรวา นักดนตรีประจำวง โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เธอบอกเล่าให้ฟังว่า เข้ามาเรียนในโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ตั้งแต่อายุ 9 ขวบแล้ว จนถึงตอนนี้อายุ 13 ปีแล้ว ก็ยังมาชอบมาเรียนที่นี่ เพราะมีความแตกต่างกับโรงเรียนทั่วไป ที่สำคัญคือ สนุก มีความสุขมาก

ล่าสุด เด็กๆ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ได้ออกเดินทางท่องโลก ลงใต้ นั่งรถไฟข้ามประเทศไปถึงปีนัง ปาดังเบซาร์ประเทศมาเลเซีย ไปเล่นดนตรีแลกเปลี่ยนกับเยาวชนที่โน่นมาแล้ว 

แพรวา บอกอีกว่า อยากให้มีหน่วยงานต่างๆ มาส่งเสริมโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างกันเยอะๆ

“คืออยากให้มาสนับสนุนให้พัฒนาขึ้น ดีขึ้นกับรุ่นต่อไป ตอนนี้ก็มีทั้งน้องๆ ประถม มีเพื่อนมัธยม แต่พอจบ ม.6 ก็ออกไปเรียนมหาวิทยาลัย พี่ๆ บางคนก็กลับมา แต่ก็จะมีน้องๆ เด็กๆ รุ่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เหมือนกัน” 

ในขณะที่ ครูลี่ มองระบบการศึกษาของไทยตอนนี้ว่า ไม่ทันกับยุคสมัยไปแล้ว บอกย้ำ ต้องปฏิรูประบบการศึกษากันใหม่ได้แล้ว

 “ผมว่า มันต้องถึงขั้นยุบกระทรวงเลยนะครับ ต้องล้มกระดาน ต้องปฏิรูประบบการศึกษากันใหม่หมดเลย เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ ที่เห็นอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่ว่าแค่ว่ามันไม่ทันโลก  แล้วไม่ใช่บัวไม่พ้นน้ำ แต่เป็นบัวที่จมใต้น้ำ จมอยู่ในบวกโคลนเลยทีเดียว โดยเราดูจากเด็กได้เลยว่า เด็กในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เด็กว่ายน้ำไม่เป็น เด็กเอาตัวรอดไม่ได้ ขนาดเด็กมัธยม ยังเอาตัวรอดง่ายๆ ยังไม่ได้ แค่หุงข้าวกินเองยังไม่ได้เลย ซึ่งผมเคยเจอ ตอนพาเด็กมาอยู่ที่นี่ช่วงปิดเทอม พอมาอยู่ที่นี่ เราเห็นสิ่งที่เขาทำกิจวัตรประจําวัน การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ทำให้ผมมองว่า มันต้องล้มกระดานใหม่ทั้งหมดเลย  จากนั้น เราต้องกลับมาเน้น มาค้นหาเรื่องรากเหง้าของตัวเองก่อน ว่ารากของตัวเอง นั้นมีข้อดีอะไรบ้างในท้องถิ่นของเรา มาค้นหาความงามที่เรามี ซึ่งคนไทยเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ผมว่าสิ่งเหล่านี้เราควรจะรื้อขึ้นมาใหม่ ให้มันอยู่ในตํารา ให้มันจับต้องได้ อย่างวิชาศีลธรรม วัฒนธรรม พุทธศาสนา ไม่รู้ยังมีเรียนกันอยู่หรือเปล่า”

ครูลี่ ยังฝากความหวังไปถึงรัฐบาลใหม่ อยากเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาทางเลือก ให้มีอยู่ทุกท้องถิ่น  ว่าสิ่งแรกเลยที่ต้องทําคือหลักสูตรท้องถิ่น ก็คือให้ชุมชนออกแบบหลักสูตรของเขาเอง ชุมชนต้องมีบทบาทในการร่างหลักสูตรด้วย

“อย่างบ้านผม เป็นหมู่บ้านที่เคยมีภูเขาไฟอาจจะใหญ่ที่สุดของประเทศก็ได้ แต่ไม่มีการวิจัย วิจัยเรื่องหินดินภูเขาไฟ โพแทสเซียมที่มันอยู่ในดิน ธาตุต่างๆ ที่มันอยู่ในดิน ไม่มีเลย ซึ่งผมพาเด็กเอาหินมาทดลองตําๆ บดๆ แล้วก็เอาไปหว่านใส่ผักที่เราปลูกให้ ทำให้ผักงาม มันเป็นปุ๋ยชั้นดี แต่ว่าหลักสูตรที่นี่ เด็กๆ ไม่รู้เรื่องเลย”

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’  การศึกษาทางเลือกของชุมชน

ที่สำคัญ คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จำเป็นต้องมีต้องมีและให้ความสำคัญ

“ประวัติศาสตร์ชุมชน ทําให้เด็กทุกคนรักพื้นถิ่นของเขา แต่เด็กไม่รู้ประวัติศาสตร์เราเลย หลักสูตรไม่มี เราก็ไม่รู้ที่มาที่ไป ว่าเราเป็นยังไง มาจากไหน อย่างตระกูลผม มีเชื้อสายกุลา มาจากลาวโน่น ก่อนจะเดินทางมานี่ เป็นยุคของคนกุลา แล้วก็ต่อมามาเป็นนายฮ้อย มาค้าวัวค้าควายที่นี่ แล้วก็มาตั้งหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผมไปศึกษาเองนะครับ แต่ในตําราไม่มีเลย ทีนี้พอเล่าให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ โอ้โห... ตาโตเลย ตื่นเต้น สนใจ พอเขารู้ว่าเขามายังไง แล้วก็ ถ้ามันมีเรื่องเหล่านี้ ก็จะทําให้เด็กๆ เขารักบ้านเกิด เขาจะได้ไม่ทิ้งบ้านเกิด นอกจากนั้น หมู่บ้านผมก็จะมีประเพณี ยี่สิบสองคลองสิบสี่อยู่แล้ว อันนี้เราสามารถ เอาเข้าไปเป็นหลักสูตรได้เลย เราสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตําราได้เลย แต่หลักสูตรการศึกษาทุกวันนี้ เหมือนจะสอนให้ป้อนคนเข้าสู่โรงงาน สุดท้าย โรงงานมันมีจํากัด มีแค่ในเมืองใหญ่ๆ ทุกคนก็ไปกระจุกกันอยู่ตรงนั้น แล้วเกิดอะไรขึ้น รู้ไหม หมู่บ้านผมจึงเหลือแค่เด็กกับคนแก่ เกิน 60 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ดังนั้น วัฒนธรรมสิ่งดีงามของท้องถิ่น เราก็ต้องช่วยกันรักษาและเรียนรู้ ส่วนความรู้ที่เป็นโลกสมัยใหม่ เราก็ต้องเรียน อย่างเช่น ไอที  วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอะไรพวกนี้ มันก็ต้องเรียนควบคู่กันไปด้วย”  

 ครูลี่ บอกทิ้งท้ายไว้ว่า การจัดการศึกษาทางเลือกรูปแบบนี้ ควรจะมีทุกหมู่บ้านเลยด้วยซ้ำ 

 “เพราะผมมองเห็นว่า ระบบการศึกษาไทย ณ เวลานี้ มันไม่ใช่แค่ล้มเหลว แต่กำลังล้มละลายไปแล้ว และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องออกมาขยับกันได้แล้ว”


เรื่องโดย : องอาจ เดชา

ข้อมูลและอ้างอิง

1. โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง...การเรียนรู้ ดนตรี ศิลปะ ชีวิต คือความงดงามจากข้างใน,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่122,พ.ค.-ส.ค.2566

2. สัมภาษณ์ ครูลี่-คีตา วารินบุรี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง,15 มิ.ย.2023

3. สัมภาษณ์ แพรวา นักเรียนโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง, 16 มิ.ย.2023

4. ภาพและข้อมูล จากเพจ TungKwang School โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

 

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

ที่ตั้ง 333 ม.1 ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.บุรีรัมย์

เบอร์โทรศัพท์ 063 238 3524

E-mail : [email protected]

เพจ : TungKwang School โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

Youtube : TungKwang School

ที่มา : รายงานพิเศษจากโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่นในประเด็นเศรษฐกิจฐานรากและนวัตกรรม สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกับ The Opener

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related