SHORT CUT
ปิดตำนานมีรางไม่มีรถ! รถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าต่อ หลังอลหม่านการฟ้องมากว่า 4 ปี คาดได้ใช้ฝั่งตะวันออกในปี 71 ปิดจ๊อบทั้งเส้นในปี 73
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ทอดแนวฝั่งตะวันออกสุดไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่แยกร่มเกล้า มีนบุรี ฝั่งตะวันออกสุดของกรุงเทพ ยาวไปถึง บางขุนนนท์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยเริ่มก่อสร้างส่วนแรกในฝั่งตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรมไปถึงมีนบุรี ตั้งแต่ปี 2560 ส่วนนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2566 มีสถานี มีราง แต่เปิดใช้ไม่ได้
ในช่วงจังหวะที่จะเริ่มประมูลเพื่อก่อสร้างฝั่งตะวันตก คือจาก ศูนย์วัฒนธรรมไปบางขุนนนท์ เกิดมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน มีการปรับเปลี่ยน TOR ไปมา ซึ่งสัญญาระบุให้ผู้ชนะประมูลเป็นเจ้าเดียวกับผู้ที่จะเดินรถทั้งเส้นของสายสีส้ม แต่เมื่อมีการเปลี่ยน TOR ทำให้เอกชนเดินหน้าฟ้องศาล จึงไม่มีใครสามารถจัดการเดินรถในสถานีที่สร้างเสร็จแล้วฝั่งตะวันออกได้
เมื่อปี 2563 เกิดการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก รอบแรก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ชนะการประมูล ซึ่งเมื่อประเมินเงินที่รัฐต้องจ่ายเพื่อร่วมลงทุน เป็นจำนวน 9,675.42 ล้านบาท แต่คณะกรรมการฯ กลับเปลี่ยนเงื่อนไขใน TOR ภายหลัง
ทำให้บริษัทที่ชนะประมูลรอบที่ 2 เปลี่ยนเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เพราะเมื่อประเมินเงินที่รัฐต้องจ่ายรอบนี้ มากกว่าตอน BTSC เคยประมูลชนะ ถึง 68,612.53 ล้านบาท
เอกชนจึงยื่นฟ้องเป็นคดีความต่อศาลปกครอง ศาลคดีทุจริต และ DSI ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีก จนสถานีฝั่งตะวันออกสร้างเสร็จก็ไม่มีใครเดินรถ
นอกจากนั้น เรื่องนี้มีนัยยะทางการเมือง เป็นเรื่องที่เกือบทำลายความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อฝ่ายค้านนำเรื่องนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย แล้วพรรครัฐบาลด้วยกันเองดันไม่โหวตไว้วางใจให้ด้วย เช่น กลุ่มดาวฤกษ์ของพรรคพลังประชารัฐ
หรือในการประชุม ครม.นัดสุดท้าย ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภา ตอนนั้นนายศักดิ์สยาม ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในคดีอื่น รัฐมนตรีว่าการโควต้าภูมิใจไทยไม่อยู่ ก็มีรัฐมนตรีช่วยโควต้าพลังประชารัฐ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ พยายามดันเรื่องนี้เท่าที่ประชุม ครม. แต่ด้วยกลเม็ดการเมือง สุดท้าย ครม.ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ในตอนนั้น ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่ามีเงินทอนก้อนโตรออยู่ แต่เรื่องนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้
กระทั่งตอนนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินยกฟ้องในคดีว่าการเปลี่ยน TOR ในตอนนั้นไม่ผิด ทำให้การประมูลที่ BEM ชนะ ไม่เป็นโมฆะ แล้ว ครม.เศรษฐา ก็มีมติไฟเขียว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม คาดว่า จะเริ่มเดินรถสายสีส้มฝั่งตะวันออกได้ราวเดือนมกราคม ปี 2571 และเปิดใช้งานได้ทั้งเส้นในปี 2573
อุปสรรคดังกล่าว ทำให้เราได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 3 ปี รฟม.ประเมินค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายที่เสียจากความล่าช้า สูงถึง 43,000 ล้านบาทต่อปี รวมเวลา 3 ปี ราว 1.3 แสนล้านบาท ไม่นับรวมที่รัฐต้องจ่ายแพงขึ้นอีก 6 หมื่นกว่าล้านเพื่อร่วมลงทุน จากการเปลี่ยนบริษัทชนะประมูล
ของทำเสร็จแล้วก็ใช้ไม่ได้ แถมทำไปทำมาจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิม แม้เรื่องนี้ศาลจะชี้ว่าไม่ผิด แต่คนที่เสียโอกาสที่สุดคือพวกเราคนไทยทุกคน