svasdssvasds

มนุษย์ใช้ห้องน้ำไม่แบ่งเพศมาตั้งแต่โบราณ แล้วเริ่มแบ่งหญิง-ชายตอนไหน

มนุษย์ใช้ห้องน้ำไม่แบ่งเพศมาตั้งแต่โบราณ แล้วเริ่มแบ่งหญิง-ชายตอนไหน

นับว่าเป็นประเด็นร้อน สำหรับเรื่อง ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ’ หรือ ‘All-Gender Restroom’ ว่า จะเป็นไปได้ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะหลายคนยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ความเหมาะสม ฯลฯ

SHORT CUT

  • สมัยโรมันโบราณ  ห้องน้ำสาธารณะไม่เพียงแต่ใช้สำหรับขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน และพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกตามเพศอีกด้วย
  • จุดเปลี่ยนสำคัญคือศตวรรษที่ 19 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองเกิดขึ้น ทำให้ผู้หญิงออกมาหางานเหมือนผู้ชายมากขึ้น จึงส่งผลให้ต้องจัดหาสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัยของพวกเธอ 
  • การแบ่งห้องน้ำตามเพศอาจไม่ใช่บรรทัดฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับยุคสมัยในเวลานั้นมากกว่า

นับว่าเป็นประเด็นร้อน สำหรับเรื่อง ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ’ หรือ ‘All-Gender Restroom’ ว่า จะเป็นไปได้ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะหลายคนยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ความเหมาะสม ฯลฯ

ไอเดีย ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ’ เกิดจากความต้องการ ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างอิสระ เพราะที่ผ่านมา การมีป้ายแบ่งชายหญิงตามห้องน้ำสาธารณะนั้นถูกบางฝ่ายมองว่า เป็นการขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศ และทำให้ ชาว LGBTQ+ ต้องเจ็บปวดทุกครั้ง เมื่อต้องเข้าห้องน้ำ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมเราสร้างห้องน้ำสาธารณะที่ไม่แบ่งแยกเพศ เพราะในอดีต มนุษย์เข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะรวมกันหมดมาตั้งแต่โบราณ ส่วนไอเดียแบ่งห้องน้ำตามเพศแบบหลักสากลที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19

มนุษย์ใช้ห้องน้ำไม่แบ่งเพศมาตั้งแต่โบราณ แล้วเริ่มแบ่งหญิง-ชายตอนไหน

ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ สมัยโบราณ

ในสมัยโบราณแนวทางในการใช้ห้องน้ำสาธารณะและประเด็นเรื่องการแบ่งแยกระหว่างชายและหญิงมีความแตกต่างอย่างมากจากบรรทัดฐานในปัจจุบัน ในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ‘กรุงโรมโบราณ’ หรือ ‘กรีก’นั้น ชายหญิงมักใช้ห้องน้ำสาธารณะร่วมกันแบบไม่เขินอายอะไร และยังเป็นพื้นสำหรับการเข้าสังคมของคนยุคนั้นด้วย เช่นเป็นที่นั่งคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องซุบซิบเป็นต้น

สมัยโรมันโบราณ (ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช) ห้องน้ำสาธารณะหรือที่เรียกว่า ‘ส้วม’ มักเป็นห้องรวมขนาดใหญ่ที่ไม่มีฉากกั้นระหว่างห้องแต่ละห้อง ห้องน้ำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ใช้สำหรับความต้องการทางสรีรวิทยาเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นสถานที่พบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูล และพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกตามเพศอีกด้วย

ส่วนสมัยกรีกโบราณ (ศตวรรษที่ 12-9 ก่อนคริสต์ศักราช) ห้องน้ำสาธารณะมักเปิดให้ทั้งชายและหญิงเข้าใช้ได้ ซึ่งเรียกว่า “Aphedrones” ที่มักเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ เช่น อยู่โรงยิม โดยทั้งชายและหญิงสามารถใช้พื้นที่เดียวกันได้

ยุคเริ่มต้นการแยกห้องน้ำแบ่งเพศ

การพัฒนาห้องน้ำให้มีความเหมาะสมกับเพศชาย และหญิงในยุโรป มีรากฐานมาจากปลายสมัยยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรม

ในช่วงต้นยุคกลาง ห้องน้ำในยุโรปมักจะเรียบง่ายและไม่ได้ออกแบบให้เหมาะกับความต้องการของเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จนเข้าสู่ยุค ‘ฟื้นฟูศิลปวิทยา’ หรือ ‘สมัยเรเนซองส์’ (คริสต์ศตวรรษที่ 15 – 16) ทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและสุขอนามัยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญคือศตวรรษที่ 19 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงออกมาหางานเหมือนผู้ชายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโรงงานหรือสำนักงาน จึงส่งผลให้ต้องจัดหาสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่ การมีห้องน้ำแยกสำหรับผู้หญิงจึงเริ่มถูกมองว่าเป็นวิธีการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความเหมาะสมของพวกเธอ รวมถึงเป็นวิธีการรับรองความปลอดภัยในที่ทำงานด้วย

ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายฉบับแรกที่กำหนดให้มีห้องน้ำแยกสำหรับผู้ชายและผู้หญิงได้รับการประกาศใช้ในแมสซาชูเซตส์ในปี 1887 ผลที่ตามมาคือ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 - 20 การแบ่งแยกเพศในห้องน้ำสาธารณะ จึงกลายเป็นเรื่องปกติในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติกันทั่วโลกในที่สุด จึงกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นทั่วทั้งยุโรปและอเมริกาเหนือ กฎหมายและข้อบังคับด้านการก่อสร้างเริ่มกำหนดมาตรฐานและเป็นทางการสำหรับห้องน้ำแยกชายหญิง ซึ่งสะท้อนถึงบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเป็นมาของห้องน้ำในประเทศไทย ภาพโดย ปัญญา เลิศสุขประเสริฐ เว็บไซต์ ไทยศึกษา

ความเป็นมาของห้องน้ำในประเทศไทย

ห้องน้ำในสังคมไทยที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากสังคมตะวันตก เพราะตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ชาวบ้านตาสีตาสาทั่วไป ส่วนมากจะไปปลดทุกข์กันในป่าในทุ่งโดยใช้คำว่า ‘ไปเว็จ’ หากเป็นคนมีฐานะขึ้นมาหน่อย ก็จะทำส้วมไว้ใกล้เรือน โดยเป็นลักษณะส้วมหลุมนั่งยอง และมีไม้ไว้ปาดเพื่อทำความสะอาด

ส่วนการใช้ห้องน้ำในลักษณะปัจจุบัน เริ่มมีวิวัฒนาการเมื่อกลุ่มชนชั้นสูงได้นำคตินิยมของชาวตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในสังคมไทย หากการลองสำรวจพระที่นั่งวิมานเมฆที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบห้องลงพระบังคนจัดไว้เฉพาะแต่ยังไม่มีโถส้วม แต่ก็พบห้องสำหรับสรง เป็นห้องที่มีอ่างอาบน้ำทำจากทองแดงแต่ยังไม่มีระบบประปา

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที 6 ในพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เรื่อง เกิดในวังปารุสก์ ทรงเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่มีพระราชนิยมใช้ห้องน้ำแบบตะวันตก โดยโปรดให้สร้างห้องสรงหรือห้องน้ำแบบตะวันตกในพระราชมณเฑียรต่างๆ ที่เสด็จไปประทับ อย่างเช่น พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังบ้านปืน พระราชนิเวศมฤคทายวัน พระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์ และมีการใช้ส้วมคอห่านในช่วงปี 1917 (พ.ศ.2460) 

หลังจากนั้น ห้องน้ำสาธารณะก็มีให้ใช้กันทั่วไปจนถึงวันนี้ แต่กฎหมายควบคุมอาคารในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องการจัดให้มีห้องน้ำห้องส้วม (กฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (เรื่อง การจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในชนิดหรือประเภทของอาคารต่างๆ) มีบทบัญญัติรับรองเพียงสิทธิของชาย-หญิงเท่านั้น ดังเช่นการกำหนดจำนวนห้องน้ำที่ต้องมีสำหรับห้องน้ำชาย-หญิงในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงเรียน ร้านอาหาร เป็นต้น แต่ยังไม่ได้พูดถึงกรณีเพศทางเลือก

ห้องน้ำไม่แบ่งแยกเพศ ภาพโดย : Kaldari

ทั้งนี้ แม้ต่างประเทศ รวมถึงไทย จะมีการเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น และมีการสร้างห้องน้ำไม่แบ่งเพศเปิดให้บริการบ้างแล้ว แต่ประเด็นนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่เรื่อยๆ ในทุกประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ว่าการแบ่งห้องน้ำตามเพศอาจไม่ใช่บรรทัดฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับยุคสมัยในเวลานั้นมากกว่า และก็มีความเป็นไปได้สูง หากว่าการออกแบบห้องน้ำไม่แบ่งเพศมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีกฎหมายรับรอง วันนั้นการที่มนุษย์กลับเข้ามาใช้ห้องน้ำรวมกันอีกครั้งเหมือนในอดีต ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

ที่มา : ole / กรุงเทพธุรกิจ  / ไทยศึกษา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

related