สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นมีบทบาทนำการแต่งกายแบบไทย สู่สายตาชาวโลก แสดงออกถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างสง่างาม
นอกจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นมหาคุณูปการให้กับผืนแผ่นไทยและคนในชาติมามากมายแล้ว พระองค์ยังทรงมีบทบาทเป็นผู้นำการแต่งกาย แบบไทยอย่างแท้จริงด้วย เพื่อให้สตรีชาวไทยมีเครื่องแต่งกายที่แสดงออกถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างสง่างาม ซึ่งถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผ้าไทยด้วย
การทรงงานเกี่ยวกับ ‘เครื่องแต่งกายอย่างไทย’ ของสมเด็จพระพันปีหลวง ต้องย้อนกลับไปสมัย พ.ศ 2503 พระองค์ ทรงมีหมายกำหนดการโดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและ 15 ประเทศในทวีปยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทย
ในฐานะพระราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย พระองค์ จึงต้องทรงเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมฉลองพระองค์ให้เหมาะสมกับทุกโอกาส จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทั้ง “ฉลองพระองค์ชุดไทย” ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย และ “ฉลองพระองค์แบบสากล” เพื่อให้เหมาะสมกับงานพิธีแบบตะวันตก
แต่เวลานั้นสตรีไทยยังไม่มีชุดประจำชาติที่แน่นอนอย่างสตรีอินเดียที่สวมส่าหรี และสตรีญี่ปุ่นที่สวมกิโมโน ประกอบกับช่างไทยในสมัยนั้นก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการตัดชุดหรือเครื่องแต่งกายแบบตะวันตก
สมเด็จพระพันปีหลวง จึงทรงสอบถามผู้รู้และมีประสบการณ์ รวมทั้งการศึกษาจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ เพื่อทรงในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น
สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาย ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ดูแลการออกแบบตัดเย็บและให้คำแนะนำเรื่องการแต่งกายตามธรรมเนียม และนาย ฟรองซัวส์ เลอซาจ (Francois Lesage) ช่างฝีมือในการปักเสื้อชื่อดังของฝรั่งเศส เป็นผู้ดูแลเรื่องงานปักฉลองพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับการจัดเตรียมฉลองพระองค์ทั้งหมด
โดยฉลองพระองค์ที่นาย ปิแอร์ บัลแมง ออกแบบทูลเกล้าฯ ถวาย ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปครั้งนั้น พระองค์พร้อม ร.9 ทรงขนชุดไปนับสิบกระเป๋า ซึ่งแต่ละชุดมีความงดงามและสมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง จนสื่อมวลชนและชาวต่างประเทศให้ความสนใจ ชื่นชมพระสิริโฉมของ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ เป็นอย่างมาก
จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ต่างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีของประเทศไทยเวลานั้นให้เป็น 1 ใน 10 สตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก พ.ศ.2503 (International Best Dressed List Hall of Fame in 1960) และ สตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลกปี พ.ศ.2507 (The 1964 list of the world's best dressed)
ต่อมาในปีพ.ศ.2508 มีการจารึกพระนามาภิไธยในหอแห่งเกียรติคุณ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ทรงเป็น 1 ใน 12 สุภาพสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก (12 the World's Best-Dressed Women Hall of Fame1965 in New York)
ทั้งนี้นิตยสาร "โว้ก" (Vogue) นิตยสารระดับโลก ยังชื่นชมในพระราชจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฉลองพระองค์ชุดไทย จึงได้ส่งช่างภาพมาขอพระราชทานพระฉายาลักษณ์ นำไปเผยแพร่ในนิตยสารโว้ก ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ 2525 ส่งผลให้ผ้าไทยมีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงนำไปตะวันตกทั้งหมด ก็เอากลับมาตัดแก้ และทรงสวมใส่ใหม่ที่ไทย ครั้งต้องเสด็จฯไปในการพระราชพิธี ตาม ร.9 ในโอกาสต่างๆ ซึ่งมีทั้งแบบตัดให้สั้นลงบ้าง บางลงบ้างเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองไทย
ต่อมา พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์สมุดภาพ "หญิงไทย" เผยแพร่การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบสร้างสรรค์ จำนวน 5 แบบ และหลังจากชุดไทยพระราชนิยม 5 แบบดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีก 3 แบบ รวม 8 แบบ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เผยแพร่ชุดไทยทั้ง 8 แบบนี้ ให้สตรีไทยทั่วไปนำไปแต่งกายได้และใช้เป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งมีการประยุกต์เป็นชุดไทยอีกหลายแบบ ปรากฏเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และถือเป็นชุดประจำชาติไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, Queen Sirikit Museum
ข่าวที่เกี่ยวข้อง