svasdssvasds

ดันแก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกทำงานสแกมเมอร์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นวาระแห่งชาติ

ดันแก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกทำงานสแกมเมอร์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นวาระแห่งชาติ

“รังสิมันต์-ธีรรัตน์” ขอบคุณกองทัพบกไทยเจรจาช่วยเหลือชาวโมร็อกโก 12 คนออกจากแก๊งสแกมเมอร์ที่เมียวดีได้สำเร็จ ย้ำยังมีคนไทยและต่างชาติถูกหลอกไปทำงานอีกจำนวนมาก ถึงเวลารัฐบาลไทยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และมองเป็นวาระระดับชาติ

SHORT CUT

  • กองทัพบกช่วยเหลือชาวโมร็อกโก 12 คนถูกหลอกเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์-สแกมเมอร์
  • "รังสิมันต์" ปูดยังมีคนไทยและต่างชาติเป็นเหยื่ออีกมาก ดันเป็นวาระแห่งชาติ
  • "ธีรรัตน์" หนุนประสานความร่วมมือหน่วยงานรัฐ-แก้กฎหมายให้ปราบปรามได้ทันท่วงที

“รังสิมันต์-ธีรรัตน์” ขอบคุณกองทัพบกไทยเจรจาช่วยเหลือชาวโมร็อกโก 12 คนออกจากแก๊งสแกมเมอร์ที่เมียวดีได้สำเร็จ ย้ำยังมีคนไทยและต่างชาติถูกหลอกไปทำงานอีกจำนวนมาก ถึงเวลารัฐบาลไทยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และมองเป็นวาระระดับชาติ

นอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้วิธีการต่างๆ มาหลอกลวงทางออนไลน์จนหลายคนต้องสูญเสียเงินไปจำนวนมากแล้ว ขบวนการหลอกลวงคนไทยและชาวต่างชาติบังคับให้ไปทำงานเป็นอคลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไทยก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน โดยในช่วงเช้าของวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 กองทัพบกไทยได้ช่วยเหลือชาวโมร็อกโกจำนวน 12 คนมาจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา

รังสิมันต์ โรม

"รังสิมันต์" แนะรัฐบาลผลักดันการช่วยเหลือคนไทยถูกหลอกไปเป็นคอลเซ็นเตอร์เป็นวาระระดับชาติ

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการช่วยเหลือชาวโมร็อกโก 12 คนที่ถูกแก๊งสแกมเมอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา หลอกลวงและควบคุมตัวไว้ใช้แรงงาน โดยได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างปลอดภัยแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

รังสิมันต์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้รับการประสานจากสถานทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย ขอให้ช่วยเหลือชาวโมร็อกโกที่ถูกหลอกลวงไปทำงานสแกมเมอร์ในเมืองเมียวดี ทราบจำนวนคร่าวๆ ว่ามีประมาณ 21 คน โดยหลังจากได้ทราบชื่อและเลขพาสปอร์ตของทุกคนแล้ว ตนจึงประสานไปยังกองทัพบกไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ

หลังจากนั้น กองทัพบกได้พูดคุยกับเหยื่อ และพยายามเจรจากับกองกำลังติดอาวุธที่ควบคุมพื้นที่ที่แหล่งสแกมเมอร์แห่งนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอให้กองกำลังดังกล่าวเจรจากับกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของสแกมเมอร์ให้ปล่อยตัวเหยื่อชาวโมร็อกโกที่ถูกหลอกไป จนสุดท้ายสามารถช่วยเหลือออกมาได้ในช่วงเช้าวันนี้จำนวน 12 คน โดยมีบางคนจ่ายเงินให้กับหัวหน้าแก๊งสแกมเมอร์เพื่อแลกกับการปล่อยตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนที่เหลือตัดสินใจอยู่ทำงานต่อ

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ไม่เพียงแต่ชาวโมร็อกโกเท่านั้น แต่ยังมีคนไทยและคนต่างชาติอีกจำนวนมากที่ถูกหลอกลวงให้เข้าไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ในเมืองต่างๆ ของเมียนมาที่อยู่ติดกับชายแดนไทย จึงยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนของปัญหานี้ และจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องมองปัญหานี้เป็นวาระระดับชาติได้แล้ว โดยต้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดเพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกไปทำงาน ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกขโมยทรัพย์สินจากการที่แก๊งสแกมเมอร์โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงคนในประเทศ

“ไม่ใช่แค่ชาวไทย ไม่ใช่แค่ชาวโมร็อกโก แต่มีคนทั่วโลกที่ถูกหลอกไปอยู่ตรงนั้น และมันไม่ใช่แค่การค้ามนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของคนไทย มีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอีกมากมายอยู่ในบริเวณนั้น ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นวาระหลักระดับชาติ” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายนี้ตนต้องขอขอบคุณกองทัพบกไทยเป็นอย่างยิ่ง หากเรื่องนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพบก เราคงไม่สามารถช่วยเหลือชาวโมร็อกโกได้ การที่กองทัพบกได้เพียรพยายามและใช้เวลาในการเจรจาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก จึงขอขอบคุณบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือครั้งนี้จากใจจริง

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์

"ธีรรัตน์" แนะต้องทำงานสอดประสานให้กลไกกฎหมาย-รัฐ ปราบปรามได้ทันท่วงที

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ สส. กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ขอบคุณกองทัพบกที่ช่วยเหลือผู้ที่ถูกล่อลวงไปทำงานผิดกฏหมาย อย่างไรก็ตาม เธอยังกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกล่อลวงไปได้อีกโดยไร้เงื่อนไขก็จะยิ่งเป็นการดี

เมื่อถามว่า ควรผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่? น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ตอนนี้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐก็ทำอย่างเต็มกำลัง แต่ต้องเสริมให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะในการทำงานยังติดเงื่อนไขที่ต้องได้รับเรื่องร้องเรียนมาก่อน หรือเป็นข่าวก่อน มีการประสานมาก่อน แล้วค่อยทำ ยกตัวอย่างเช่นการออกหมายจับผู้กระทำผิด แม้จะรู้ตัวมิจฉาชีพแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำได้แค่ออกหมายเรียก จะไปจับเลยไม่ได้ ต้องรอการออกหมายจับจากศาลซึ่งใช้เวลา ดังนั้นวันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงๆ ถ้าเป็นวาระแห่งชาติก็จะทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับความดูแลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือหากกฎหมายใดที่ยังไม่เอื้อต่อการปราบปรามให้ทันท่วงทีก็ต้องเร่งแก้กฎหมาย

นอกจากนี้ น.ส.ธีรรัตน์ ยังกล่าวว่า ในส่วน กมธ. เองก็กำลังสร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนมีองค์ความรู้เป็นอาวุธไปป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เพราะวิธีหลอกลวงคือใช้สิ่งเร้าให้คนหลงเชื่อว่าไปทำงานต่างประเทศแล้วจะได้รายได้เยอะ เป็นต้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนรู้และต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกัน

ชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพบก เปิดปฎิบัติการช่วยเหลือชาวโมร็อกโก เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

รายงานข่าวจากกองทัพบก เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 67 นายรังสิมันต์ ได้ประสานมาทาง กองทัพบก โดยแจ้งว่า ทาง เอกอัครราชทูตชาวโมร็อกโก ได้ทำหนังขอความช่วยเหลือให้กับชาวชาวโมร็อกโก ที่ติดอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวนมากว่า 150 คน แต่ที่มีการยืนยัน คือ จำนวน 21 คน ที่บริเวณบ่อนคาสิโน บริเวณช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก  
 
กองทัพบก ได้รับเรื่องดังกล่าว จึงได้สอบถามไปทางมูลนิธิต่างๆ และ NGOs จนกระทั่งได้ช่องทางติดต่อกับผู้เสียหายที่อยู่ภายในบ่อนคาสิโนดังกล่าว โดยทางกองทัพบก ได้ประสานและสอบถามกับทางผู้เสียหายถึงรายละเอียดสถานที่ และที่พักอาศัยว่าอยู่บริเวณใดของอาคาร เมื่อทราบรายละเอียดทั้งหมด จึงนั้นได้นำข้อมูลไป พูดคุยกับทางกองกำลัง DKBA โดยมี พ.อ.ซาอ่อง ผู้บังคับการ กองบังคับการ ยุทธวิธี (ผบ.บก.ยว.) และ พล.จ.ส่วยวะ ผบ.พล.น.3 กกล.DKBA ให้ช่วยเข้าไปเจรจากับทาง เจ้าของคาสิโนดังกล่าว

โดยจากการเจรจา ทราบว่ามีชาวโมร็อกโก ที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประเทศเดียวกันหลอกให้มาทำงานมีจำนวน 21 คน ซึ่งระหว่างการเจรจานั้นได้มี ครอบครัวของชาวโมร็อกโกนำเงินมาไถ่ตัว ออกไปแล้วจำนวน 7 คน จึงได้รับการปล่อยตัวออกไปก่อน และมีอีก 2 ต้องการที่จะไม่กลับออกมา เลยมีคนที่จะได้รับการปล่อยตัวออกมา จำนวน 12 คน ทั้งหมดเดินทางมาถึงฝั่งไทยในเวลา 10.00 น. วันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร จากหน่วยเฉพาะกิจราชมนูน กองกำลังนเรศวร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางมารับ

related