svasdssvasds

“Ladies First” วัฒนธรรมที่ควรมีต่อไป หรือล้าสมัยไปแล้ว?

“Ladies First” วัฒนธรรมที่ควรมีต่อไป หรือล้าสมัยไปแล้ว?

"เชิญคุณผู้หญิงก่อนครับ" วัฒนธรรม "Ladies First" ควรมีต่อไป หรือล้าสมัยไปแล้ว? ในยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยความเท่าเทียม

SHORT CUT

  • "Ladies First" เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยน "ผู้ชายธรรมดาๆ" คนหนึ่ง ให้มีความเป็น "สุภาพบุรุษ" มากขึ้น
  • คาดว่า วัฒนธรรมนี้ มาจากยุคกลาง (ปี 476-1453) เมื่อบรรดาอัศวินมีหน้าที่ต้องปกป้องท่านหญิงผู้สูงศักดิ์ พวกเขาจึงมีกฎระเบียบที่เข้มงวด และชนชั้นสูงก็ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
  • แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีการเพิ่มสิทธิสตรี และผลักดันกฎหมายความเท่าเทียมทั่วโลก จึงควรแนวคิดเรื่องเพศไหนควรได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษจึงควรหมดไปหรือเปล่า ?

 

"เชิญคุณผู้หญิงก่อนครับ" วัฒนธรรม "Ladies First" ควรมีต่อไป หรือล้าสมัยไปแล้ว? ในยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยความเท่าเทียม

มารยาทถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะมารยาทการวางตัวกับเพศตรงข้าม นั่นจึงทำให้เกิด "วัฒนธรรม Ladies First" ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างให้เกียรติ ซึ่งฟังดูแล้วก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่โรแมนติกไม่น้อย และสามารถเปลี่ยน ‘ผู้ชายธรรมดาๆ’ คนหนึ่ง ให้มีความเป็น “สุภาพบุรุษ” มากขึ้น

แต่คำถามก็คือ ในยุคที่มีการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันทั่วโลก และมีการแสดงพลังสตรีกันแทบทุกสื่อ ‘วัฒนธรรม Ladies First’ ที่ต้องให้เกียรติผู้หญิงก่อนเสมอ ถือว่าล้าสมัยไปหรือยัง?

‘Ladies First’ มาจากไหน?

ไม่มีการบันทึกไว้แน่ชัดว่า วัฒนธรรมให้เกียรติผู้หญิงก่อน เริ่มจากไหนเป็นที่แรก แต่มีข้อสันนิษฐานดังนี้

ในอดีตกาล และยุคอัศวิน PHOTO Flickr. Original image by e-codices.

ในอดีตกาล และยุคอัศวิน

เรื่องผู้หญิงมาก่อน อาจมีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน (2 ล้านปีก่อนคริสตกาล) เพราะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เมื่อมนุษย์ถ้ำได้ถูกสัตว์ร้ายโจมตี พวกเขาจะส่งผู้หญิงไปตัวหลอกเพื่อดึงดูดความสนใจก่อน จากนั้นนักล่าที่เป็นผู้ชาย จะลอบเข้าไปโจมตีสัตว์ร้ายจากด้านหลัง ซึ่งถือเป็นแผนที่ฉลาดที่สุดเท่าที่มนุษย์ยุคนั้นจะคิดได้

ส่วนในยุคกลาง (ปี 476-1453) บรรดาอัศวินมีหน้าที่ต้องปกป้อง ท่านหญิงผู้สูงศักดิ์ พวกเขาจึงมีกฎระเบียบที่เข้มงวด จนถึงขั้นเอาเสื้อคลุมของตนเองวางทับบนแอ่งโคลน เพื่อให้เจ้าหญิงสามารถเดินข้ามได้อย่างสะอาด และปลอดภัย ซึ่งวัฒนธรรมให้เกียรติผู้หญิงก่อนเสมอนี้ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

สตรีและเด็กบนเรือไททานิก

สตรีและเด็กบนเรือไททานิก

หลายคนเชื่อว่า Ladies First เกิดขึ้นในช่วงที่เรือไททานิกกำลังจะจม (1912) เพราะลูกเรือพยายามช่วนให้ผู้หญิงและเด็กหนีขึ้นเรือชูชีพก่อน ดูได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เผยว่า ผู้หญิงบนเรือ 74% และเด็กบนเรืออีก 52% ได้รับการช่วยชีวิต แต่มีเพียง ผู้ชาย 20%เท่านั้นที่รอดชีวิต

หลายคนเชื่อว่าคำนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยชีวิตผู้หญิงและเด็กในสถานการณ์อันตรายและคุกคามชีวิต ดังนั้น หลังจากที่เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งและจมลง ผู้หญิงบนเรือ 74% ได้รับการช่วยชีวิต เด็ก 52% ได้รับการช่วยชีวิต แต่มีเพียง 20% ของผู้ชายเท่านั้นที่รอดชีวิต

เรื่องเล่าจากคู่รักในอิตาลี

เรื่องเล่าจากคู่รักในอิตาลี

ข้อสันนิษฐานนี้อาจจะดูแปลกไปบ้าง เพราะมีเรื่องเล่าเชิงขำขันที่บอกว่า ชายหญิงคู่หนึ่งในอิตาลีที่รักกันมากจนแทบขาดกันไม่ได้ แต่ด้วยสถานการณ์ทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย พ่อแม่ของพวกเขาจึงไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของทั้งสอง จึงทำให้ คู่รักคู่นี้ตัดสินใจไปกระโดดน้ำตายพร้อมกัน

เมื่อถึงเวลาโดดจริง ฝ่ายชายขอโดดลงไปก่อนเพราะไม่อยากเห็นคนรักตายไปต่อหน้าต่อตา แต่หลังจากนั้นฝ่ายหญิงกลับไม่โดดลงไป และตัดสินใจรักษาชีวิตกลับบ้านไปหาพ่อแม่ของเธอ หลังจากนั้น เมื่อผู้ชายหลายคนทราบเรื่องนี้ จึงมีคำพูดใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ “เชิญคุณผู้หญิงก่อนครับ”

ทั้งหมดนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า Ladies First จะมาจากไหน แต่ทั่วโลกก็เข้าใจตรงกันว่า คือการแสดงความสุภาพต่อสุภาพสตรี ในหลายๆ สถานการณ์ เช่น การให้ผู้หญิงขึ้นลิฟต์ก่อนให้ผู้หญิงเลือกของขวัญก่อน หรือให้ผู้หญิงนั่งก่อน เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายต้องทำตามหลังผู้หญิงทั้งหมด เพราะการที่ ผู้ชายลงจากรถเป็นคนแรก เพื่อดูความปลอดภัย แล้วจึงให้ผู้หญิงตามลงมา ก็ถือเป็น วัฒนธรรมแบบ Ladies First ด้วยเช่นกัน

คนไทยไม่ตระหนักเรื่อง ‘Ladies First’

เมื่อไม่นานมานี้ เรื่อง ‘Ladies First’ กลายเป็นประเด็นที่คนไทยถกเถียงกันอีกครั้ง เมื่ออินฟลูชายชื่อดังท่านหนึ่ง โพสต์ประสบการณ์ที่ตนไปต่างประเทศทำนองว่า ที่นั่นเขาให้เกียรติผู้หญิงก่อน ทั้งเรื่องตรวจยื่นพาสปอร์ต หรือรินไวน์ให้ในร้านอาหาร ซึ่งมารยาทแบบนี้ ทำให้อินฟลูชายท่านนี้ประทับใจมาก และเขายังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “เรื่อง Ladies First ในสังคมไทยมาตรฐานน้อยมาก”

จากโพสต์ดังกล่าว ทำให้มีคนในโลกออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก โดยฝ่ายที่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็นประมาณว่า “โพสต์นี้ทำให้คุณคือผู้ชาย ที่หล่อที่สุดในปี 2024 เลยค่ะ” , “กดเลิฟเลย” , “ถูกต้องครับ ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เป็นที่พักพิง” ฯลฯ

ส่วนฝั่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นตรงข้าม ก็บอกประมาณว่า “ไม่ต้อง Ladies First หรอก .. แค่ ‘Respect’ กันและกันก็พอครับ” , “การที่ผู้ชายคนไหนไม่Ladies First ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายคนนั้นไม่ดีนะ” “มาอีกแล้วคอนเทนต์ด้อยค่าชายไทย อวยต่างชาติ55555” ฯลฯ

และล่าสุดหลังจากโพสต์เกิด “การมีส่วนร่วม (Engagement) ” แบบถล่มทลาย แอดมินหญิงของอินฟลูชายดังกล่าว ได้ออกมาตอบทำนองว่า “Ladies first มันคือสิ่งที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ คนทำและคนได้รับต้องรู้สึกเต็มใจทั้งคู่ทำแล้ว “เรา” มองว่าดูดีขึ้นจริง คนอื่นมองไงอันนี้ไม่รู้ และ คนที่ไม่ทำ เราก็มองแค่ว่าเป็นคนปกติ ไม่ได้ผิดอะไร (ไม่ + หรือ -) ”

เวลานี้โพสต์ดังกล่าวปาเข้าไปมากกว่า 2,000 คอมเมนต์ เกิน 4000 แชร์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่ไม่เห็นด้วยผสมปนเปกันไป จนกลายเป็นหัวข้อถกเถียงหลักในโลกโซเชียลชในช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้

'Ladies First' ให้เกียรติ หรือกดผู้หญิงมากกว่าเดิม

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ค่านิยมนี้อาจดูดีจนไม่มีใครแย้ง แต่ในปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีการเพิ่มสิทธิสตรี ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศในหลายประเทศ จนอาจเรียกได้ว่า จะเพศชาย เพศหญิง หรือ LGBTQ+ ก็มีความเท่าเทียมกัน ไม่ได้มีใครถูกกดลง หรือสูงเกินใคร ดังนั้นเราควรหยุดแนวคิดเรื่อง เพศไหนควรได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษให้หมดไปหรือเปล่า ?

ในทางตรงกันข้าม การให้เกียรติผู้หญิงในทุกสถานการณ์ อาจเป็นการขยายช่องความไม่เท่าเทียมทางเพศให้กว้างกว่าเดิม เพราะมันง่ายมาก ที่ผู้หญิงหลายคนที่ได้รับเกียรตินั้น อาจรู้สึกว่าตนเองบอบบาง อ่อนแอกว่าผู้ชายทุกด้าน เลยต้องให้ผู้ชายทำให้ก่อนในหลายๆ อย่าง หรือกล่าวอีกแบบคือ วัฒนธรรมนี้ ทำให้ผู้หญิงยังดูเป็นเพศที่อ่อนแอเหมือนภาพจำเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ?

จริงอยู่ที่ผู้หญิงเป็นเพศที่เสี่ยงต่อการโดนคุกคามมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น การมีพื้นที่จอดรถให้ผู้หญิงหรือโบกี้รถไฟสำหรับผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย อาจจำเป็นต้องมีต่อไป แต่พวกมารยาทแบบ Ladies First ในทุกสถานการณ์นั้น อาจต้องดูความเหมาะสมแต่ละกรณีไป มากกว่าทำแบบพร่ำเพรื่อโดยที่ผู้หญิงก็ไม่ได้ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่า Ladies First ล้าสมัยหรือยัง เพราะตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันดูจะเป็น “มารยาทสากล” ที่ฝังรากลึกไปแล้ว แต่ที่สามารถกล่าวได้แน่นอนคือยุคนี้ ผู้คนหันมาให้ความสำคัญเรื่องเท่าเทียมทางเพศกันหมดแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าใครก็มีศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน

ที่มา : The Three Or Four Suspected Origins Of The Term “Ladies First.”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

 

related