svasdssvasds

"Golden Boy-สตรีพนมมือ" โบราณวัตถุล้ำค่าที่หายไป กลับคืนแผ่นดินไทยแล้ว

"Golden Boy-สตรีพนมมือ" โบราณวัตถุล้ำค่าที่หายไป กลับคืนแผ่นดินไทยแล้ว

ส่งมอบ "Golden Boy" ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และประติมากรรมสำริดเทวสตรี วัตถุโบราณล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ หลังถูกขายให้ต่างชาติเมื่อ 50 ปีก่อน กรมศิลปากรเตรียมศึกษาต่อ พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชม

จากกรณีที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ 2 รายการ ได้แก่

  1. ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy
  2. ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female)

โดยมาถึงประเทศไทยวานนี้เวลา 07.00 น. หลังผ่านพิธีการศุลกากรจึงเริ่มเคลื่อนลังโบราณวัตถุขึ้นรถบรรทุกปรับอากาศ และเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรียบร้อยแล้ว

โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้เข้าร่วมตรวจสอบโบราณวัตถุ 2 รายการดังกล่าว ก่อนจะมีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการในวันนี้ (21 พ.ค. 67) ณ พระที่นั่งอิสราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นาย John Guy ผู้แทนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธีรับมอบ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

"Golden Boy" ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หลังกลับคืนสู่ไทย

โบราณวัตถุที่ประเทศไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี จัดเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ โดยท่านนายกได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงมอบหมายให้มารับโบราณวัตถุดังกล่าว

"Golden Boy" ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หลังกลับคืนสู่ไทย

 

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ว่ามีความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ คืนให้กับประเทศไทย ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ ที่รู้จักกันในนาม โกลเด้นบอย (Golden Boy) และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female)

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันพบว่า โบราณวัตถุดังกล่าว ถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ และประสานขอส่งคืนให้ประเทศไทย เพื่อแสดงถึงการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง ซึ่งผลการประสานงานเป็นไปด้วยดี กระทั่งพิพิธภัณฑ์ได้ส่งโบราณวัตถุกลับคืนถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female)

โดยกรมศิลปากรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมความงามของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
 

“Golden Boy” คือใคร ทำความรู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6

จากข้อมูลของเว็บไซต์ silpa-mag.com ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือบุคคลในประติมากรรมสำริดปิดทองทั้งองค์ จนได้รับการขนานนามว่า Golden Boy นั้น ถือเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยมีพื้นเพอยู่ที่แถบต้นแม่น้ำมูล

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เถลิงราชย์ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร แต่วงศ์มหิธรปุระไม่ใช่เครือญาติของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 เข้าใจว่า พระองค์เป็นขุนนางท้องถิ่นที่ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณที่เมืองมหินธรปุระ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าคือ เมืองพิมาย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 

ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female)

อย่างไรก็ตาม มีกษัตริย์อีกองค์ปกครองอยู่ที่เมืองพระนคร ช่วงนี้อาณาจักรเขมรโบราณจึงมิได้เป็นหนึ่งเดียวหรือมีเสถียรภาพนัก โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ใช้เมืองมหิธรปุระเป็นฐานอำนาจในการทำสงครามขยายอำนาจ เพื่ออ้างสิทธิ์ในการปกครองดินแดนทั้งหมด

จารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่า ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณที่เมืองศรียโสธรปุระ ทรงมีเครือญาติที่มหิธรปุระ (พิมาย) โดยพระกนิษฐาของพระองค์ทรงมีพระราชธิดา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

จารึกปราสาทพนมรุ้ง 7 กล่าวถึงราชวงศ์มหิธรปุระว่า สืบสกุลมาจากพระเจ้าหิรัณยวรมันและพระนางหิรัณยลักษมี มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่กษิตินทราคราม ทรงมีพระราชโอรสได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณจำนวน 3 พระองค์ คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณีนธรวรมันที่ 1 และพระศรียุพราช 

โดยทรงมีพระราชนัดดาที่เกิดจากพระราชธิดาองค์หนึ่ง เสกสมรสกับพระเจ้ากษิตินทราทิตย์ มีพระราชโอรสที่มีอำนาจมากพระองค์หนึ่ง ได้เป็นกษัตริย์อาณาจักรเขมรโบราณ คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

จึงกล่าวได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นต้นวงศ์มหิธรปุระ ราชวงศ์ของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สามารถรวบรวมอาณาจักรเขมรโบราณเป็นปึกแผ่น และสถาปนาเมืองพระนครเป็นราชธานีอีกครั้ง แล้วสร้าง “ปราสาทนครวัด” อันยิ่งใหญ่ขึ้นที่นั่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related