กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลตรวจสอบข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่พบสารอะฟลาท็อกซิน ยัน ข้าว 10 ปี กินได้ ไม่อันตราย
วันที่ 20 พ.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ นำโดย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ร่วมกันแถลงผลการตรวจข้าวสารใน 2 โกดังที่เก็บไว้ 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าว ที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราและคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ ซึ่งเป็นการตรวจด้วยระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง
โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับข้าวสารมา 2 ตัวอย่าง ถุงละ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม และเริ่มทำการตรวจเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ใช้ระยะเวลาตรวจประมาณ 10 วัน ซึ่งได้ผลออกมากลางดึกคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
การตรวจครั้งนี้ ได้ทำการตรวจ 3 ประเด็น คือ
ผลพบว่า ตัวอย่างของข้าว 10 ปี พบสิ่งแปลกปลอม ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เศษซากของมอด ขาปลวกและปีกแมลง
2. ตรวจด้านความปลอดภัย ซึ่งตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา สารรม สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และโลหะหนักปนเปื้อน
ผลตรวจไม่พบสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน ซึ่งมีการตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง ก็ไม่พบสารพิษจากเชื้อราเช่นกัน
3. ตรวจด้านสารรม รวมถึงสารกำจัดศัตรูพืช
ผลตรวจไม่พบสารรม ส่วนโลหะหนักปนเปื้อน ผลการตรวจพบสารตะกั่ว แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตรายไม่เกินมาตรฐาน
ขณะที่ การตรวจคุณค่าทางโภชนาการผลตรวจ พบว่ายังมีคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามิน แคลเซียม แร่ธาตุ เกลือแร่ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย พร้อมยืนยันว่าข้าว 10 ปี จากตัวอย่างข้าวที่นำมาตรวจนั้น ยังทานได้ไม่เป็นอันตราย
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การตรวจครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัย ส่วนขั้นตอนการประมูลหรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง
ด้านนายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่า จะดำเนินการขายได้เมื่อไหร่ คณะกรรมการต้องหารือร่วมกัน แต่คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถประกาศจำหน่ายข้าวในสต๊อกเป็นการทั่วไปได้ ทั้งนี้ขั้นตอนทุกอย่างจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบมากที่สุด
ส่วนกรณีประเด็นที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการตรวจแล้วผลออกมาต่างกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่าเรื่องนี้ตนคงตอบยาก แต่ยืนยันว่ากระบวนการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีทำอย่างละเอียดรอบคอบ และใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในการตรวจสามารถระบุอายุของข้าวที่ตรวจสอบได้หรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ตนสอบถามจากเจ้าหน้าที่เช่นกันว่ามีเทคโนโลยีอะไรในการตรวจหรือไม่ ตรวจดีเอ็นเอได้หรือไม่ ตรวจค่าไอโซโทปของคาร์บอนที่อยู่ในเม็ดข้าวได้หรือไม่ ซึ่งจนถึงวันนี้ยังหาไม่เจอว่าจะตรวจได้อย่างไร ยังหาวิธีตรวจไม่ได้ เพราะว่าข้าวส่วนใหญ่เก็บไว้อายุสั้นๆไม่กี่ปีแล้วบริโภค
หากย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2567 รายการข่าว 3 มิติ โดยนายกิตติ สิงหาปัด เผยผลการทดสอบตัวอย่างข้าวสาร 2 โกดังในโครงการรับจำนำข้าว จังหวัดสุรินทร์ดังกล่าวแล้วว่า ไม่พบสารพิษจากเชื้อราที่ทำให้เป็นมะเร็ง หรือสารอะฟลาท็อกซิน และไม่พบสารตกค้างจากการใช้ยารมควัน
โดยผลการตรวจสอบโกดัง 1 ซึ่งเป็นตัวอย่างข้าวสารจากโกดัง กิตติชัย หลัง 2 จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก 1,094 กรัม
ผลการทดสอบ ไม่พบสารสารพิษจากเชื้อราที่มีพิษทำให้เป็นมะเร็ง หรือสารอะฟลาท็อกซิน (Afatoxins) ซึ่งมีการตรวจสารทั้ง 4 ชนิด ทั้งสารอะฟาท็อกซิน B1, B2, G1, G2 มีผลตรงกันว่า Not Detected คือไม่พบสารพิษ และจากการตรวจโดยวิธี HPLC ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูง มีค่าต่ำสุดเพียง 0.25 ไมโครกรัมเปอร์กิโล หรือคิดเป็น 1 ส่วนในพันล้านส่วน ในขณะที่มาตรฐานจะอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมเปอร์กิโล ถือเป็นการตรวจวัดที่ละเอียด
ส่วนผลการตรวจสารที่ใช้ในการรมควัน 4 ชนิด ผลการทดสอบไม่พบสารพิษตกค้าง ทั้งสาร Bromide ion, Hydrogen Phosphide, Methyl Bromide และ Sulfluride ซึ่งเป็นผล Not Detected เช่นกัน โดยค่าที่ตรวจพบสำหรับสาร Bromide ion มีเพียง 0.30 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม จากค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วน Hydrogen Phosphide ก็พบเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ 0.1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วน Methyl Bromide ก็พบเพียง 0.005 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม จึงถือว่าไม่พบสารตกค้าง
สำหรับผลการตรวจโกดัง 2 ซึ่งเป็นข้าวสารตัวอย่างจากโกดัง พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 ส่งตัวอย่างตรวจ 975 กรัม ก็ได้ผลเช่นกัน ทั้งสารอะฟลาท็อกซิน ทั้ง 4 ชนิด ผลตรวจไม่พบสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง Not Detected และไม่พบสารพิษตกค้างจากสารรมควันทั้ง 4 ชนิด ผลการทดสอบ ก็ Not Detected เช่นกัน
โดยการตรวจสารทั้งสองประเภท ทางห้องปฏิบัติการระบุว่าเป็นผลเฉพาะการเก็บตัวอย่างที่ได้รับเท่านั้น ซึ่งข่าว 3 มิติ ได้ใช้บริการเสียค่าใช้จ่ายส่งข้าวตัวอย่างตามจำนวนที่มีอยู่ไปตรวจเพื่อทราบผลทางวิทยาศาสตร์ หลังจากได้มีการทดสอบทานข้าวตัวอย่างนี้ด้วย
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อ.อ๊อด" อาจารย์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ทางแล็บของตน ได้ยุติบทบาทการตรวจสอบข้าวเป็นที่เรียบร้อย
สืบเนื่องจากกรณีข้าว 1 ทศวรรษที่เป็นประเด็นทางสังคม และตอนนี้เริ่มลุกลามเป็นประเด็นการเมือง
ห้องปฏิบัติการของทีมงานอาจารย์อ๊อด ได้รับคำแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายฝ่าย รวมถึงทีมงานเองก็ไม่อยากให้เกิดประเด็นทางการเมืองที่ลุกลามไปมากกว่านี้ จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า เราได้ยุติการตรวจสอบข้าว 1 ถุง ตามภาพนี้ ในทุกกรณีแล้ว
ในส่วนของผลการตรวจสอบจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางแห่งประเทศไทย ที่มีนักข่าวอีกช่องนำไปมอบให้นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวอย่างและผลการทดสอบของทีมงานอาจารย์อ๊อด รวมถึง ผลแล็บที่กำลังจะแถลงข่าวโดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันพรุ่งนี้ด้วย
ทีมงานอาจารย์อ๊อดขอกราบเรียนว่า ทุกอย่างที่ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และไม่อยากให้เป็นประเด็นการเมืองต่อเนื่อง
ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้ง 2 หน่วยข้างต้น ได้ออกมา Take Action แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี หากข้าว 1 ทศวรรษนี้ สามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ทีมงานอาจารย์อ๊อดก็ขอแสดงความยินดีมาล่วงหน้า ด้วยจิตคารวะ
ที่มา : ข่าว3มิติ , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , Weerachai Phutdhawong
ข่าวที่เกี่ยวข้อง