svasdssvasds

ระวัง! "โอมิครอน KP.3" แซงหน้า JN.1 และ FLiRT กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

ระวัง! "โอมิครอน KP.3" แซงหน้า JN.1 และ FLiRT กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

หวั่นโอมิครอน KP.3 แซง JN.1-FLiRT ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักในไทย เหตุเติบโตเร็ว-แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น 80% ไทยพบแล้ว 8 ราย ทั่วโลกพบกว่า 800 ราย

SHORT CUT

  • ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เตือนเฝ้าระวัง! โอมิครอน KP.3 อาจแซงหน้า JN.1 และ FLiRT กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย
  • พบผู้ติดโอมิครอน KP.3 ทั่วโลกแล้วถึง 833 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่ามันอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกและในประเทศไทย
  • การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโอมิครอน KP.3 ผู้เชี่ยวชาญจึงกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

หวั่นโอมิครอน KP.3 แซง JN.1-FLiRT ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักในไทย เหตุเติบโตเร็ว-แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น 80% ไทยพบแล้ว 8 ราย ทั่วโลกพบกว่า 800 ราย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า เฝ้าระวัง! โอมิครอน KP.3 อาจแซงหน้า JN.1 และ FLiRT กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

องค์การอนามัยโลกแถลงข่าว โอมิครอน KP.2

ล่าสุดจากข้อมูลรหัสพันธุกรรมและแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) พบในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตระกูลโอมิครอนหลากหลายสายพันธุ์ย่อย ได้แก่ KP.1.1 จำนวน 1 ราย, KP.2 จำนวน 9 ราย, KP.2.2 จำนวน 1 ราย และ KP.4.1 จำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม "เฟลิร์ท" (FLiRT) ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากศักยภาพในการแพร่กระจายและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน KP.3 ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเฟลิร์ท จำนวน 8 ราย โดยที่โอมิครอน KP.3 มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่เชื้อมากกว่าโอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกประมาณ 80% หรือ 1.8 เท่าและพบผู้ติดโอมิครอน KP.3 ทั่วโลกแล้วถึง 833 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่ามันอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกและในประเทศไทย เข้าแทนที่โอมิครอน JN.1 และโอมิครอนกลุ่ม FLiRT ได้ในที่สุด

ระวัง! "โอมิครอน KP.3" แซงหน้า JN.1 และ FLiRT

โอมิครอน KP.3 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

ด้วยการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโอมิครอน KP.3 ผู้เชี่ยวชาญจึงกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมันอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ทางหน่วยงานสาธารณสุขจึงกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุก เช่น การเพิ่มการเฝ้าระวัง การสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 สวอปจากผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาสุขอนามัยที่ดี และประชาชนกลุ่มเปราะบางควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งแนะนำให้กลุ่มเปราะบางไปพบแพทย์หากมีอาการของโรคโควิด-19 เพื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ต่อไป

ระวัง! "โอมิครอน KP.3" แซงหน้า JN.1 และ FLiRT กลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

เมื่อไวรัสโคโรนายังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องเฝ้าระวังและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือในระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแชร์ข้อมูลการวิจัย การสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทุกประเทศแบบเรียลไทม์ และการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำความรู้จัก "เฟลิร์ท" (FLiRT) โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

สำหรับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "เฟลิร์ท" (FLiRT) เป็นกลุ่มโอมิครอนกลายพันธุ์ที่หลายประเทศเริ่มกังวลติดต่อง่ายขึ้นแต่ยังไม่พบอาการรุนแรง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐฯ ระบุว่าสายพันธุ์เฟลิร์ท มีคุณลักษณะบางประการที่น่ากังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามที่ช่วยให้ไวรัสฝังตัวอยู่กับเซลล์ของร่างกาย อันนำไปสู่อาการป่วย และยังกังวลว่าประชากรจำนวนน้อยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดรุนแรงขึ้นได้

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ก็คอยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายตามชุมชนและประสิทธิภาพของวัคซีน

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เฟลิร์ท 

จากรายงานระบุว่ามีความคล้ายคลึงกับอาการของสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสียเล็กน้อย และอาเจียน รวมถึงอาการที่เรียกว่า "สมองมึนงง" คือ ความรู้สึกไม่ตื่นตัวและตระหนักรู้น้อยลง

ที่มา : Center for Medical Genomics

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related