"หมอธีระ" คาดการณ์ยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่อย่างน้อย 4-6 พันราย เตือนตรวจ ATK ได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ แนะให้ตรวจถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ ด้าน "หมอยง" เผยไวรัส hMPV ไม่ใช่ไวรัสใหม่ ค้นพบมาแล้วกว่า 50 ปี
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็นสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่า วิเคราะห์การระบาดของไทย ตัวเลขรายงานรายสัปดาห์ 7-13 มกราคม 2024 จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาล 625 ราย เสียชีวิต 7 ราย เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของสัปดาห์ก่อน
ปอดอักเสบ 177 ราย มากกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 23% นับว่าสูงสุดในรอบ 6 เดือน และเกินร้อยติดต่อกันมา 5 สัปดาห์แล้ว
ใส่ท่อช่วยหายใจ 125 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 40.4% เป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือนเช่นกัน และมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
คาดประมาณการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างน้อย 4,465-6,201 ราย
แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่มีคนติดเชื้อรอบตัวจำนวนมาก ป่วยและรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการมีคนป่วยแต่ไม่ไปตรวจ และเรื่องความไวของการตรวจที่ผันแปรกับระยะเวลาที่ไวรัสจะขึ้นสูงจนถึงพีค คาดการณ์ว่าจำนวนติดเชื้อจริงต่อวันจะมากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้นอีกเท่าตัว
หลังวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ประเมินว่าจะมีการแพร่มากขึ้นในครัวเรือน และสถานศึกษา โดยจะเห็นอาการป่วยกันมากขึ้นได้ตั้งแต่วันอังคารนี้ไปจนถึงสุดสัปดาห์
หากมีอาการไม่สบาย ควรตรวจโควิด-19 แม้วันแรกๆ ได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ให้ตรวจถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ เพราะไวรัสจะพีคช่วงนั้น
ที่สำคัญคือ การตรวจ ATK ควรทำการป้ายทั้งในโพรงจมูกและบริเวณผนังคอด้านหลัง (คอหอย) จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบมากขึ้น
ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ...ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากาก และเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดคนที่มีอาการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไอหรือจาม จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความประเด็น ไวรัส hMPV human metapneumovirus ที่มีการแชร์ข่าวว่า อันตรายจากไวรัสใหม่ โดยระบุว่า
มีการแชร์ข่าว ถึงให้ระวังไวรัสตัวใหม่ Human Mepneumovirus การที่บอกว่าเป็นไวรัสตัวใหม่ ไม่เป็นความจริง
ไวรัสนี้ถูกวินิจฉัยครั้งแรกราวประมาณกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ Erasmus University ครั้งแรกคิดว่าเป็นไวรัสใหม่ โดยพบจากเด็กที่ป่วยมีอาการหนัก และตรวจไม่พบไวรัสที่พบบ่อย จึงได้ทำการตรวจหาทางชีวโมเลกุล และพบสารพันธุกรรมคิดว่าเป็นไวรัสใหม่ เมื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมไวรัสนี้อยู่ในกลุ่มของ พารามิกโซไวรัส และใกล้เคียงกับไวรัสที่พบในนก จึงคิดว่าเป็นไวรัสที่ติดมาจากนก
เมื่อเอาตัวอย่างที่มีไวรัสหยอดจมูกให้ไก่งวง ไก่งวงไม่เป็นโรค แต่เมื่อหยอดให้ลิง ลิงป่วยเป็นหวัด จึงรู้ว่าไม่ใช่ไวรัสที่มาจากนก จึงตั้งชื่อว่า human metapneumovirus หรือ hMPV และเมื่อเอาเลือดของคนที่เก็บไว้เมื่อ 50 ปีมาแล้วมาตรวจปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ก็พบว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโตส่วนใหญ่เคยเป็นมาแล้ว ก็แสดงว่าไวรัสนี้มีมาแต่เดิมกว่า 50 ปีมาแล้ว และพึ่งมาวินิจฉัยได้ด้วยหลักการตรวจใหม่
ทางศูนย์ของเราได้ตรวจในตัวอย่างเด็กไทย เมื่อประมาณกว่า 20 ปีมาแล้วและตรวจทุกอย่างสม่ำเสมอมาตลอด พบว่าในเด็กไทยที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจจะพบไวรัสนี้ได้ประมาณ 4-8% จึงไม่ได้เป็นไวรัสใหม่แต่อย่างใด โรคนี้พบได้ทุกวัย แต่จะพบมากในวัยเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เช่นเดียว กับโรคไวรัสทางเดินหายใจอื่น
ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจได้ง่ายขึ้น จึงมีการพูดถึงกันมากขึ้น แต่ไวรัสนี้ไม่ได้เป็นไวรัสใหม่ เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้มีอะไรให้ตื่นตระหนก
ผลงานการศึกษาไวรัสนี้ในประเทศไทย เราเผยแพร่ในระดับสากลมาโดยตลอด โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2001 และเผยแพร่ใน ปี 2003 (Scand J Infect Dis. 2003;35(10):754-6. doi: 10.1080/00365540310000094)
ที่มา : Thira Woratanarat , Yong Poovorawan
ข่าวที่เกี่ยวข้อง