SHORT CUT
สงกรานต์ 2567 คึกคัก โดยเฉพาะสีลมและ G-Circuit ที่เป็นเป้าหมายของเกย์ทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เบื้องหลังคือการขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศควบคู่ไปกับการตลาดสีรุ้งที่สร้าง Gay Destination อย่างแท้จริง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสรุปยอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ของเทศกาลสงกรานต์ 735,802 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19.09% เฉลี่ย 105,115 คน/วัน ซึ่งมากกว่าปี 2566 เท่าตัว ขณะที่ 'สีลม' ที่เป็นสถานที่เล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมและเป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีผู้มาเล่นน้ำสงกรานต์ในวันที่ 13-14 เมษายน 2567 รวมแล้ว 150,000 คน
เช่นเดียวกับงาน 'จีเซอร์คิท' เกย์แดนซ์เฟสติวัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สามารถดึงดูดผู้มาร่วมงานที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ได้ถึง 10,000 คนในช่วงวันที่ 12-15 เมษายน 2567 และคาดว่ามีการใช้จ่ายต่อหัวราว 51,500 บาท หรือมีเงินสะพัดประมาณ 400 ล้านบาท
นับตั้งแต่ตลาดของกลุ่ม LGBTQ+ เริ่มขยายตัวในช่วงศตวรรษที่ 21 รัฐบาลไทยเริ่มเล็งเห็นศักยภาพและกำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนที่ฉายภาพของ LGBTQ+ มากขึ้น
ในปี 2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ธุรกิจเกย์เริ่มบูม ไม่ว่าจะเป็น บาร์โฮสต์ ไนท์คลับ หรือร้านนวด ซึ่งมีทั้งกึ่งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลก็ใช้ประโยชน์จากการที่เริ่มมีการเปิดกว้างทางเพศส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยในสายตาของต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ต่อมาในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ขึ้นครั้งแรกในประเทศ จัดงาน LGBT Expo 2018 รวมทั้งแคมเปญการท่องเที่ยว "Go Thai Be Free" ที่ประชาสัมพันธ์ความเป็น Gay Tourism's Destination หรือประเทศท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมกับความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 2 แต่ยังไม่สำเร็จและมีการวิจารณ์ถึงความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของ LGBTQ+ ในบทบัญญัติของกฎหมาย
จนกระทั่งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กระบวนการนิติบัญญัติและภาคประชาชนได้พัฒนากฎหมายมาจนเป็นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและผลักดันจนผ่านไปถึงชั้นของการพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายให้ทันในรัฐบาลนี้ โดยจะถือว่าเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียและรัฐบาลยังตั้งเป้าที่จะให้ไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 อีกด้วย
เมื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ ถูกผลักดันไปพร้อมกับการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน และภาคประชาชนเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
ยกตัวอย่างกระทรวงพาณิชย์ที่ดึงเอาคู่ชิ้นซีรีส์วาย-ยูริ มาสร้างซีรีส์เพื่อโปรโมทสินค้าชุมชนหรือท้องถิ่นไทยและตั้งเป้าประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตซีรีส์วายระดับโลก
ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมที่จัดเวทีเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ที่ถนนสีลม ภายใต้แนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ ตั้งแต่โลโก้ที่เป็นสีรุ้ง การประกวดเทพีสงกรานต์ LGBTQ+ และพาเหรดสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
สุเมธ ศรีเมือง กรรมการผู้จัดการ จีเซอร์คิท กล่าวว่า สงกรานต์ไทยมีความหลากหลายของกิจกรรมทำให้นักท่องเที่ยวที่มาได้เลือกท่องเที่ยว บางคนมาผับ บางคนมาเทศกาลดนตรี หรือบางคนก็มาเกย์ปาร์ตี้ เป็นต้น ขณะที่จีเซอร์คิทเองเป็นงานที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 และจัดมาอย่างต่อเนื่อง 18 ปีจนทำให้เป็นที่รู้จักและมีฐานแฟนคลับประจำซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อเมริกัน และชาวออสเตรเลีย ตามลำดับ หรืออีกหลายประเทศที่สังคมยังไม่เปิดรับ ยิ่งเดินทางมางานนี้เยอะ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมางานนี้ก็จะถือโอกาสพักผ่อนและท่องเที่ยวต่อที่ประเทศไทย เช่น หัวหิน สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ ลำปาง เป็นต้น เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายอยู่ในประเทศไทย 5-7 วัน โดยเฉพาะคนที่เดินทางมาจากประเทศไกลๆ
อย่างไรก็ตาม สุเมธ มองว่า หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้จริง จะยิ่งเป็นโอกาสของเศรษฐกิจไทย เพราะจะสามารถทำกิจกรรมได้อีกมากมาย เช่น คู่รักหลายคู่อาจจะตัดสินใจเดินทางมาแต่งงานและจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทย และยิ่งไปกว่านั้นหากประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 จริงๆ ก็จะยิ่งเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวไทยในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก
ด้าน วุฒิธร มิลินทจินดา ผู้จัดงานเทศกาลดนตรี S2O มองว่าการผลักดันกฎหมายไปพร้อมกับการโปรโมทการท่องเที่ยวในแบบ Gay Friendly Destination นั้นสามารถช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยได้อย่างแน่นอน และนักท่องเที่ยวเหล่านี้มักจะใช้เวลาในการเที่ยวยาวนานขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
ในอดีตการโปรโมทการท่องเที่ยวสำหรับ LGBTQ+ มักจะทำเพียงแค่เน้นย้ำให้เห็นถึงความเป็นมิตร แต่ไม่มีการผลักดันเรื่องกฎหมายและความเท่าเทียมจริงจัง การเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายจะช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยมากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยว LGBTQ+ รวมถึงชุมชนในประเทศเอง
ถ้าไทยจะประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือเป็นเจ้าภาพ World Pride จริงๆ นั้น วูดดี้เชื่อว่านี่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะที่เป็นสถานที่ที่เปิดกว้างและต้อนรับทุกคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคเอกชนอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและการตลาดที่เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ+ ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
Jackson, P. (2011). Capitalism, LGBT activism, and queer autonomy in Thailand. In P. Jackson, Queer Bangkok: 21st Century Markets, Media, and Rights (pp. 195–204). Hong Kong: Hong Kong University Press.
Ongsupankul, W. (2019). Finding Sexual Minorities in United Nations Sustainable Development Goals: Toward the Deconstruction of Gender Binary in International
Development Policies. LSE Law Review, 5, 1-30.
Yulius, H. (2018, December 26). Rethinking the Mobility (and Immobility) of Queer Rights in Southeast Asia: A Provocation. Retrieved from Heinrich-Böll-Stiftung: https://th.boell.org/en/2018/12/26/rethinking-mobility-and-immobility-queerrights-southeast-asia-provocation