SHORT CUT
ผลวิจัยเผย เด็กที่มีบุพการีเป็น LGBTQ มักมีความสุขมากกว่าเด็กในครอบครัวทั่วไป เพราะพ่อแม่ไม่มีการเหมารวมเรื่องเพศ และมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างเท่าเทียม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวิจัยด้านพัฒนาเด็ก หลายแห่ง แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อที่เป็นเพศเดียวกัน มีพัฒนาการดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อธรรมดา เนื่องจากเด็กจะมีความสุขที่สุด ต่อเมื่อมีผู้ปกครองที่เลี้ยงดูแบบ ไม่คำนึงถึงเพศ รสนิยมทางเพศ สถานภาพสมรส และไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่อกัน
ในปี 2023 นักวิจัยจากเบลเยียม อิตาลี และแคลิฟอร์เนีย ทำการศึกษา ครอบครัวเกย์ชาวยุโรป 67 ครอบครัว ซึ่งมีลูกด้วยการให้ผู้หญิงอุ้มบุญให้ จึงทำให้มีผู้ชายฝั่งใดฝั่งหนึ่งยังคงเป็นพ่อจริงๆ และเปรียบเทียบกับครอบครัวปกติในยุโรปอีก 67 คู่ เพื่อถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรและปัญหาภายในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการสังเกตพฤติกรรมลูกของพวกเขา ว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลหรือไม่อีกด้วย
โดยทีมวิจัยตีพิมพ์ผลการสำรวจลงในวารสาร “Family Process” ซึ่งเผยว่า พ่อที่เป็นเกย์มีลูกที่มีความประพฤติดีกว่าและมีความสุขมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่รักชายหญิงทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่าคู่ที่เป็นเกย์ มีการบาลานซ์หน้าที่กันอย่างเหมาะสม และมีความสุขในความสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ในปี 2014 “BMC Public Health” วารสารการวิจัยของ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นในออสเตรเลีย ยังเผยผลสำรวจในทำนองเดียวกันว่า เด็กที่มาจากครอบครัวเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงกับหญิง หรือชายกับชาย จะมีคะแนนสุขภาพและความสามัคคีในครอบครัวสูงกว่าครอบครัวทั่วไป แม้จะปัจจัยเรื่องการศึกษาของผู้ปกครอง และรายได้ในครัวเรือนเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม
โดยทีมวิจัยเผยว่า ความสามัคคีที่มากขึ้นจากครอบครัวเพศเดียวกันนั้น เป็นผลมาจากการกระจายงานอย่างเท่าเทียมกัน เพราะคู่รักเพศเดียวกันมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันความรับผิดชอบกันอย่างสมดุลกว่าคู่รักต่างเพศ
พูดง่ายๆ คือ คู่รัก LGBTQ ส่วนใหญ่ มักไม่มีการเหมารวมเรื่องเพศ เช่น หน้าที่เลี้ยงลูกไม่ได้เป็นของแม่เพียงฝ่ายเดียว หรือหน้าที่ทำงานหาเงินไม่ได้มีแต่พ่อคนเดียวที่ต้องทำ เพราะคู่ที่เป็นเพศเดียวกันสามารถทำทุกอย่างไปด้วยกัน โดยไม่กระทบกระทั่งกันได้
นอกจากนี้ ข้อมูลยังเผยอีกว่า เด็กคนหนึ่งจะมีความสุขยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองของพวกเขาเลี้ยงดูแบบ ไม่ยัดเยียดความเป็นเพศของตัวเองลงไป หรือที่เรียกกัน การเลี้ยงลูกแบบ “Gender Open” เพื่อปล่อยให้พวกเขาค้นหาตัวเองอย่างได้เต็มที่ว่าอยากเป็นใครในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่ในครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน แม้จะไม่ได้เผชิญกับปัญหาจากปัจจัยภายในเท่าไหร่นัก แต่ปัญหาส่วนใหญ่กลับมาจากปัจจัยภายนอก เช่นการถูกตีตรา ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกคุกคามจากกลุ่มที่ต่อต้านชาวรักร่วมเพศ ซึ่งยังมีอยู่อีกมากทั่วโลก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานะทางสังคม และจิตใจของเด็กเหล่านั้นย่ำแย่ลง
มาถึงตรงนี้ จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แม้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน จะดูมีความเป็นพ่อแม่น้อยกว่าคู่รักทั่วไป เมื่อมองจากภายนอก แต่ในความจริงพวกเขากลับมีความยืดหยุ่น และมีแนวโน้มทำให้ลูกของพวกเขามีความสุขมากกว่าครอบครัวปกติเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า ครอบครัว LGBTQ จะไร้ที่ติ เพราะการวิจัยที่มีอยู่ยังคงแคบและจำกัด เนื่องจากครอบครัว LGBTQ ที่มีให้ศึกษาก็มีน้อยมาก
และประเด็นนี้ อาจไม่ใช่แค่เรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่อาจมีปัจจัยความพร้อมของครอบครัว เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะการอุ้มบุญนั้นมีราคาแพง และใช้เวลานานกว่าเด็กจะคลอด จึงทำให้ครอบครัว LGBTQ ที่อยากรับเลี้ยงมีเวลาสำหรับการวางแผน และการเตรียมทรัพยากรอย่างเพียงพอที่จะเลี้ยงดูพวกเขา
สุดท้ายจึงสรุปว่า ไม่สำคัญว่า บุพการีจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือว่า LGBTQ เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ คือวิธีเลี้ยงดูที่ครอบครัวนั้นเลือกใช้ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง