นพดลเป็นห่วงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ย้ำข้อเสนอ 4 ข้อ แนะรัฐบาลตั้งกลไกติดตามสถานการณ์และมีแผนรองรับผู้หนีภัยสงครามที่จะมากชึ้น ผลักดันการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมาที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล โพสต์ทวิตเตอร์ ระบุว่า“ไม่ว่าใครจะรบกับใคร ใครจะขัดแย้งแบ่งฝ่ายกับใคร แต่ทุกฝ่ายย่อมเห็นตรงกันว่า “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน ไม่มีการเลือกข้าง”
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ที่กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ยึดเมืองเมียวดี ตรงข้ามแม่สอดและในขณะนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาแล้วบางส่วนนั้น
ในขณะนี้เหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกับทางรัฐบาลทหารเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำถามว่าเรามีแผนรองรับที่ทันการและครอบคลุมหรือไม่ เนื่องจากการสู้รบน่าจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้งและจะมีคนหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นอาจจะมีคนหนีการเกณฑ์ทหารในเมียนมาข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งถามว่าระบบการตรวจสอบ และการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองทันการ และสามารถรองรับได้เพียงใด มิฉะนั้นในอนาคตเราก็จะมีบุคคลที่เข้าเมืองแต่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนมากซึ่งอาจจะกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในอนาคตได้
จากสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา ตนจึงขอตอกย้ำข้อเสนอ 4 ข้อที่คณะ กมธ.ต่างประเทศ เคยเสนอไปแล้วเพื่อให้ภาครัฐไปดำเนินการ โดยเฉพาะ ข้อ 1 เร่งรัดการมีกลไกระดับชาติจะเป็นในรูปแบบกรรมการหรือมีเจ้าภาพในรูปแบบอื่นเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในเมียนมาอย่างใกล้ชิดเพื่อมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ
ข้อ 2 และภาครัฐน่าจะสื่อสารแผนรองรับการอพยพหนีภัยสงครามและหนีการเกณฑ์ทหารว่าน่าจะมีจำนวนเท่าใด เพราะในขณะนี้มีข้อมูลว่ามีชาวเมียนมา ที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางคนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆบ้างแล้วซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ซึ่งจะมีผลกระทบในระยะยาว
ในขณะที่มีผู้หนีภัยสงคราม เราก็ต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าการหลบภัย อาหารอย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือการสู้รบ คิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากในการที่จะผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาโดยการตั้งทรอยก้าพลัสเพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมา เพราะถ้ามีการสู้รบกันต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือประเทศไทยซึ่งเรามีความปรารถนาดี อยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ และเอกภาพในเมียนมา
ดังนั้นไทยควรเป็นหัวหอกหลักในการร่วมมือคุยกับทางประธานอาเซียน จีน อินเดีย และควรดำเนินการทันทีเพราะข้อเสนอในเรื่องนี้นั้นนักวิชาการและผู้สันทัดกรณีเรื่องเมียนมาก็ได้เสนอแนะรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ก็จะปูทางไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุดที่สุด รวมทั้งจะเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วย”
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่มีเครื่องบินเมียนมา ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยยืนยันว่า ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเรื่องการขอนำเครื่องบินพลเรือน มาลงเพื่อขนสิ่งของพลเรือน ไม่ได้มีการขนกำลังทหาร หรืออาวุธ หรือการขอลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และเป็นเรื่องคำขอทางการทูต เพื่อนำเครื่องบินพลเรือนมาขนย้ายสิ่งของทางการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
บรรยากาศที่หน้าด่านชายแดนแม่สอด บ้านริมเมย ตลาดท่าสายลวด รวมถึงบริเวณริมแม่น้ำเมย ฝั่งตรงข้ามวัดห้วยมหาวงค์ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ในช่วงเช้าของวันที่ 8 เม.ย. 2567 ยังคงเป็นไปด้วยความสงบ
หลังมีรายงานว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ) สามารถเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมา ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้าม ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้สำเร็จ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา
รวมทั้งบุกพื้นที่กองพันที่ 275 เมียวดี ซึ่งเป็นค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุด อยู่ในตัวเมืองเมียวดีได้แล้ว ทำให้ฝ่ายต่อต้านควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมา เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จ.เมียวดี และหน่วยงานต่างๆ ต้องถอนตัวออกจากตัวเมียวดี และถูกนำไปถูกอพยพไปกอกาเร็ก ในเขตปกครองของ พันเอกหม่องชิตู
ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า รัฐบาลทหารพม่าอาจตอบโต้ด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในพื้นที่ใกล้เขตดินแดนประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง