SHORT CUT
หมอยง เปิดข้อมูล "แบคทีเรียกินเนื้อคน" กลุ่มไหนต้องระวัง หากติดเชื้อ ลุกลามไวแน่ ระบุมีเชื้อตัวอื่นอีกที่ลุกลามไว และกินเนื้อ พบในทะเล
หลังจากที่กรมควบคุมโรค ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่อง การเพิ่มขึ้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ในประเทศญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นกำลังสืบค้นหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19 ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย
เชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” นี้ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อยหรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) ได้แก่
มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนังชั้นลึก หรือเกิดภาวะช็อกที่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหนึ่งในอาการแสดงของโรคและอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ “โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน ติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย
โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด (โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ”) จากการติดตามใน พ.ศ. 2562 - 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 106,021 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว 1,048 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 1.0 แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่และลดลงในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร (จากเดิมร้อยละ 32.5 ต่อแสนประชากร) พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี จากการติดตามข้อมูล ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย
ล่าสุด "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นดังนี้
"แบคทีเรียกินเนื้อ" เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ได้หลายชนิด ไม่ใช่โรคใหม่ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ
ที่มีข่าวกันมากขณะนี้เกิดจากเชื้อ แบคทีเรีย Streptococcus group A เป็น แบคทีเรีย ที่เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่แข็งแรงดีก็จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต สามารถรักษาได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานต่ำ และการติดเชื้อที่ผิวหนังก็จะทำให้ลุกลามอย่างรวดเร็วได้ อย่างที่เป็นข่าวในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยก็พบได้ แต่ไม่ได้มากมายและสามารถรักษาได้ มียาปฏิชีวนะที่รักษาเชื้อดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมี แบคทีเรีย อย่างอื่นอีกหลายชนิดที่อาจจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น Clostridium perfringens ทำให้เกิด Gas gangrene ผมเคยเห็นคนไข้แล้ว น่ากลัวมาก ใครสนใจค้นดูรูปจาก Google คงไม่ยาก
แต่ที่อยากให้เห็นวันนี้ ทีมของผมรายงานผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบของแบคทีเรียจะเรียกว่ากินเนื้อก็ได้ ที่เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำทะเล โดยทั่วไปจะเป็น Shewanella algae แต่รายงานนี้เป็นรายงานแรกที่ผมได้รายงานเป็นภาษาอังกฤษ ที่เกิดจากเชื้อ Shewanella haliotis ในผู้ป่วยที่กินยากดภูมิต้านทาน
แบคทีเรีย ตัวนี้ที่พบครั้งแรกพบใน หอยเป๋าฮื้อ ทีมของเราได้ เผยแพร่ในในวารสาร EID โดยรอยโรคการติดเชื้อเกิดที่ขาเป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย จึงต้องขอเบลอภาพดังกล่าว
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อและหลอดเลือดถูกทำลาย ถึงขั้นตัดอวัยวะทิ้ง หากอวัยวะในร่างกายไม่ตอบสนองก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจมีโอกาสพิการแขนขาได้เช่นกัน
ที่มา : Yong Poovorawan
ข่าวที่เกี่ยวข้อง