SHORT CUT
วันที่ 12 มีนาคม 2567 คือวันครอบรอบ 20 ปีที่ นายสมชาย นีละไพจิตร กลายเป็นผู้สูญหาย หลังจากเข้าไปพัวพันกับคดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายสมชาย นีละไพจิตร เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2594 เป็นชาวมุสลิม จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อ พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นก็ประอาชีพทนายความตลอดมา และมีสำนักงานของตนเอง โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือคนยากจนที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม
นายสมชายทำคดีช่วยเหลือผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนวันที่ 4 มกราคม 2547 มีการร้องเรียนเรื่อง ซ้อมและทรมานผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงคือ คดีปล้นปืนและคดีเจไอ นายสมชายซึ่งเป็นทนายความในคดีดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงศาลขอให้ศาลสั่งให้เรือนจำเป็นผู้ควบคุมผู้ต้องหาแทนการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แต่เขาก็หายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นคดีครึกโครมระดับประเทศ และจนถึงตอนนี้ก็ยังแทบไม่มีเบาะแสอะไร จะเหลือก็แต่ หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังองค์กรต่างๆ ในกรณีผู้ต้องหาคดีเจไอถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่นายสมชายทำเอาไว้ ก่อนหายตัวไปตลอดกาล
ทีม SPRINGNEW พาไปคุยกับ คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย และแม่ของลูกๆ 5 คน ที่วันนี้ ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก
คุณอังคณา เล่าว่า ที่ผ่านมาเมืองไทยยังคงมีคดีคนหายเกิดขึ้นตลอด แต่มันไม่ได้เป็นข่าวทั้งหมด หรือเป็นไม่นานก็ซา ซึ่งที่แย่คือคนบางส่วนในสังคมยังมีมุมมองว่า คนที่หายไปเกี่ยวข้องกับ แก๊งยาเสพติดบ้าง ไม่ก็กลุ่มก่อการร้ายบ้าง และคิดว่าไม่แปลกอะไรหาคนเหล่านี้จะถูกอุ้มหายไป ทั้งๆ ที่หลายคดีคนหายคือคนธรรมดาทั่วไปเหมือนกับเรานี่แหละ และเรื่องนี้ก็สามารถเกิดกับทุกคนได้เสมอ
ซึ่งการทำให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง เพราะการหายไปคือยังหายอยู่ ยังหาคำตอบไม่ได้ และไม่ควรสรุปจนกว่า จะรู้ชะตากรรมของคนหาย หรือพบสิ่งที่เหลืออยู่ ซึ่งในทางสากลคดีคนหายไม่มีอายุความ แต่ของไทยไปแก้เป็น 30 ปี นับแต่วันที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ และถ้าหมดอายุความ สังคมก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญอีกแล้ว
คุณอังคณากล่าวว่า เท่าที่รู้สถานะคดีล่าสุดคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ทำคดีให้เรา ส่งหนังสือมาบอกเราในปี 59 ว่า ขอหยุดการสอบสวนเรื่อง เนื่องจากหาไม่เจอว่าใครเป็นผู้กระทำผิด และจากการคุยกันส่วนตัวเขาก็บอกสาเหตุที่ต้องงดว่า เพราะทำคดีมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2559 รวมทั้งสิ้น 11 ปีกว่า ซึ่งการที่ยังปิดคดีไม่ได้ มันกระทบตัวชี้วัดการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลยต้องงดการสอบสวนไปก่อน
แต่เขาบอกว่า การงดไม่ได้หมายความว่ายุติ เพราะถ้าเรามีหลักฐานเพิ่ม สามารถส่งไปให้เขาได้ และถ้ามีความน่าเชื่อถือพอเขาจะเริ่มสอบสวนให้ใหม่ ซึ่งมันฟังแล้วทำให้เราเจ็บปวดเพราะเราเป็นชาวบ้านธรรมดา จะไปหาหลักฐานที่ไหน ลำพังแค่ประคองชีวิตแต่ละวันก็แย่แล้ว เมื่อเรื่องถึงขนาดนี้ ก็เลยถามอธิบดีกรมสอบสวนให้ แต่งตั้งตนเป็นพนักงานสอบสวนเองเลยได้ไหม จะได้มีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ. การสอบสวนคดีพิเศษจริงๆ
อีกเรื่องที่เจ็บใจคือ เขาบอกว่า ปี 54-55 ที่มีความไม่สงบทางการเมือง มีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ออฟฟิศศูนย์ราชการ ทำให้แฟ้มคดีของสมชายหาย ตอนนั้น เราก็แปลกใจ เพราะเราเคยเข้าไปในกรมแล้วเห็นว่ามีประตูเหล็ก มีรหัส มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแน่นหนามาก เราเลยไปถามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าหายไปได้อย่างไร
ผ่านไป 2-3 วันเขาก็ตอบกลับมาว่า เจอแฟ้มของสมชายหล่นอยู่ที่ใต้โต๊ะ แต่เอาจริง ๆ เราก็สงสัยว่าแฟ้มคดีสมชายนั้นมันมีจริงๆ หรือเปล่า หรือเคยสอบสวนอะไรไปบ้างไหม หรือความจริงคือเป็นแฟ้มเปล่าๆ เพราะเรา เคยขอดูหลายครั้งก็ไม่ให้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าทั้งโจทย์และจำเลยมีสิทธิเข้าถึงพยานหลักฐานตามสมควร ให้เราสงสัยถึงความจริงใจของเจ้าหน้าที่ว่าตั้งใจหาตัวคนหายจริงหรือเปล่า
คุณอังคณากล่าวเพิ่มเติมว่าปีนี้ครบ 20 ปีแล้ว และเราไม่อยากพูดเรื่องกฎหมายอีกแล้ว เพราะเราสู้มาเยอะ ทำทุกอย่างที่ทำได้อย่างดีที่สุดแล้ว และการพูดอะไรซ้ำๆ มันก็ทำให้เราเจ็บปวดมาก
แต่ปีนี้เราขอพูดในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งว่า ชีวิตเราเปลี่ยนไปมาก จากเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม เป็นแค่คนธรรมดา ชอบอ่านแต่หนังสือ มือถือยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากเกิดเรื่องเราก็มีมือถือครั้งแรกเพื่อติดต่อให้คนช่วย และรับสายจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงพวกที่มาคุกคามสารพัดด้วย และยังต้องศึกษาข้อกฎหมายมากมาย จนทุกวันนี้เราไม่ใช่คนธรรมดาอีกแล้ว เพราะตอนนี้เราเป็น ใครๆ ก็รู้ว่า เราเป็นภรรยาในคดีคนหายที่โด่งดังระดับประเทศ
ยังเคยคิดเลยว่าถ้าเราไม่แต่งงานกับสมชาย เราก็คงเป็นผู้หญิงธรรมดา ที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายคนหนึ่ง ไม่เคยคิดเลยว่าวันนี้ต้องเป็นผู้สูงอายุที่ต้องเจออะไรมากมายขนาดนี้ ถึงจะเสียความส่วนตัวไปบ้าง แต่ก็ทำให้เวลาพูดเสียงของเราดังขึ้น ทั้งพูดแทนตัวเอง พูดแทนคนอื่น จนวันนี้เรากลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ในการพูดแทนเหยื่อที่ถูกอุ้มหายจากทั่วโลก เหมือนชีวิตมันเขียนมาว่าเราต้องใช้แบบนี้
หลังจากคดีสมชายก็มีคนถูกทำให้หายอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจากการที่เราคุยกับญาติของเหยื่อ พบปัญหาคือ ญาติคนหาย ไม่ประสงค์ที่ตะดำเนินการ เพราะกลัว บางครั้งคนหายแค่คนเดียวแต่กลัวไปทั้งหมู่บ้าน ไม่มีใครออกมาพูดแทนเหยื่อ หรือกล้าออกมาเป็นพยาน เพราะพวกเขามองว่านี่คือการมีเรื่องกับตำรวจ มีเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าหดหู่ใจมาก
แต่ที่คดีทนายสมชายของเราเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ จนไปถึงระดับโลก ไม่ใช่เพราะเรามี อภิสิทธิ์ อะไรหรอก แต่อาศัยพลังของญาติพี่น้องช่วยกัน ส่วนเราในฐานะที่เป็นแม่ ก็ต้องการตามความจริงให้กับลูก และเชื่อเสมอว่าเราพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งใครที่ไม่เคยถูกพรากศักดิ์ศรีไปไม่มีวันรู้หรอกว่าเป็นอย่างไร
คุณอังคณาเล่าว่า จากวันแรกที่ทราบว่าทนายสมชายหายจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 20 ปี ความรู้สึกส่วนตัวคือเราแพ้ เพราะไม่สามารถหาความจริงได้ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีของเรา และเราก็ยังเจ็บปวดอยู่มาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ภูมิใจ เพราะคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีเงินทองอย่างเรา ทำให้เกิดการกระเพื่อมของกระบวนการยุติธรรมได้บ้าง
เพราะคดีของนายสมชาย เป็นคดีคนหายคดีแรกของประเทศไทยที่มีการขึ้นศาล และถูกส่งเรื่องไปยัง สหประชาชาติ จนผลักดันให้มีการออกหมายจับตำรวจ 5 คนที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว
เราเหมือนก้อนหินที่ถูกปาลงน้ำ ทำให้สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นถูกเปิดเผยออกมา และสิ่งที่สร้างความภูมิใจให้แก่เราคือ การมีคนออกมาร่วมกับเรามากขึ้น หลังจากกรณีสมชาย เราเห็นกรณีของสยาม ธีรวุฒิ กรณีของวันเฉลิม หรือใครต่อใครที่เป็นคนธรรมดา ออกมาเรียกร้องให้การหายตัวไปของพวกเขาอย่างไม่ห่วงชีวิตของตัวเอง ซึ่งนี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ดี
สุดท้ายขอฝากสื่อว่าอย่าทิ้งพวกเขาให้โดดเดี่ยว เพราะต่อให้เขาพูดเท่าไหร่ เสียงเขาก็ไม่ดัง หากไม่มีคนช่วยกันพูด ซึ่งการทวงถาม หรือแสดงพลังเรียกร้องอย่างสม่ำเสมอ คือส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้คดีคนหายเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง