SHORT CUT
TIKTOK เปลี่ยนอดีตนายพล “ปราโบโว ซูเบียนโต” ให้กลายเป็นคุณปู่ขี้เล่น จนชนะสนามเลือกตั้งอินโดนีเซีย ได้อย่างไร?
นอกจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาจะเป็น “วันแห่งความรัก” แล้ว ยังนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของชาวอินโดนีเซียด้วย เพราะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเลือกตัวแทนผู้บริหารและสภานิติบัญญัติในทุกระดับบริหารทั่วประเทศอีกด้วย
ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการนั้น ก็ไม่ผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เพราะ “ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto)” วัย 72 ปี ผู้สมัครจากพรรค “เกอรินทรา (Gerindra)” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหมของอินโดนีเซีย สามารถคว้าคะแนนเสียงได้มากกว่า 50 % เหนือแคนดิเดตอีกสองคนอย่าง “อานีส บาสเวอดัน (Anies Baswedan)” และ “กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo)” แบบขาดลอย
ทั้งนี้ หน่วยงานจัดการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม 2567 แต่คะแนนที่ท่วมท้นของ ซูเบียนโต ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย คงหนีไม่พ้นมือของซูเบียนโตแน่นอน
ปราโบโว ซูเบียนโต เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ เป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต รวมถึงการกล่าวอ้างว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและบังคับสูญหายของนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษาในปี 2540 และ 2541
ซึ่งจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ทำให้ ซูเบียนโต ถูกปลดออกจากกองทัพ แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินคดีอย่างจริงจังเกิดขึ้น และตัวเขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นมาตลอด
นอกจากนี้เขายังถูกกล่าวหาว่ามี ส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิในปาปัวและติมอร์ตะวันออก ซึ่งรวมถึงการสังหารพลเรือนติมอร์ตะวันออกแบบกำหนดเป้าหมาย นอกจากนี้เขายังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิในปาปัวและติมอร์ตะวันออก ซึ่งรวมถึงการสังหารพลเรือนติมอร์ตะวันออกแบบกำหนดเป้าหมาย และรวมถึงการสังหารหมู่ในปี1983 (The Kraras Massacre of 1983) ที่มีผู้คนหลายร้อยคน ถูกสังหารในหมู่บ้านคราราส (Kraras) ซึ่งนับตั้งแต่นั้นรู้จักกันในชื่อ “หมู่บ้านหญิงม่าย (The village of widows)” เนื่องจากผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ชายของหมู่บ้าน
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ซูเบียนโต โต้ว่า “เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ มีแต่การเสียดสี และเป็นรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือไม่ได้”
ถึงด้านมืดของซูเบียนโต จะยังคงไม่แน่ชัด แต่ภาพลักษณ์ความเป็นทหารของเขาอาจทำให้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไม่ถูกใจนัก ดังนั้นเขาจึงต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
เพราะคาดว่าในการเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024 รอบนี้ จะมีผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 200 ล้านคน และจากการสำรวจพบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 52 % จากทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 31 ปีก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จึงทำให้แคนดิเดต ประธานาธิบดีทุกคนต้องชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์ เพื่อคว้าชัยชนะให้ได้
ซึ่งแน่นอนว่า สมรภูมินี้มีการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้หาเสียงต่อสู้กันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะ Instagram และ TikTok เนื่องจากการสำรวจในปี 2022 เผยว่าอินโดนีเซียมีจำนวนผู้ใช้ TikTok เป็นอันดับ 2 ของโลก (125 ล้านบัญชี) และคนในประเทศก็ติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อโทรทัศน์
นั่นทำให้ คนรุ่นใหม่ ไม่ได้ตามข่าวการเมืองโดยอ่านแค่นโยบายที่เป็นตัวอักษรอย่างเดียว แต่พวกเขายังดูวิธีการพูด วิธีการแสดงออก ไปจนวิธีการแต่งตัวของนักการเมืองแต่ละคนด้วย ซึ่งการอดีตนายพลอย่าง ซูเบียนโต ออกมาเต้น TikTok บ่อยๆ ก็ได้เขาดูเป็นคนเข้าถึงง่าย น่ารัก ใจดี ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของคนรุ่นใหม่อย่างมาก
นักศึกษาวัย 19 ปีชาวอินโดนีเซียที่มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า การติดตามซูเบียนโต บนโซเชียลมีเดีย และได้เห็นอดีตนายพลผู้นี้ทำงานอย่างแข่งขันผ่านวิดีโอที่เผยแพร่บนนั้น ทำให้เขาเชื่อว่าคนคนนี้จะมีความรับผิดชอบต่อประชาชนจริงๆ และเขากับเพื่อนๆ ยังเคยเต้นตามวิดีโอของซูเบียนโตอีกด้วย เพราะอดีตนายพลผู้นี้มีความน่ารัก และอ่อนน้อมถ่อมตัวมาก
แต่ทั้งนี้ “ปราโบโว ซูเบียนโต” ไม่ใช่ผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียว ที่ใช้สื่อสมัยใหม่มาซื้อใจคนรุ่นใหม่ เพราะคู่แข่งของเขาอย่าง “อานีส บาสเวอดัน” กับ “กันจาร์ ปราโนโว และผู้สมัครระดับท้องถิ่นคนอื่นๆ ก็ใช้ Instagram และ TikTok ในการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นกันเองไปสู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งมีตั้งแต่การแจกบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตเคป๊อป ไปจนถึงการใช้ภาพแมว และการเต้นไวรัลเพื่อเรียกร้องความสนใจกันอย่างดุเดือด
แต่ผลคะแนนที่ออกมาก็ยืนยันแล้วว่า ไม่มีใครประสบความสำเร็จไปกว่า ซูเบียนโต ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก นายพลที่เข้าไปพัวพันกับเรื่องอื้อฉาว ไปเป็น คุณปู่ที่ดูเป็นกันเองบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีคนตั้งฉายาให้เขาเป็น “นายพลติ๊กต๊อก” อีกด้วย
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเขามีคะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็มาจากการมี “กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka)” บุตรชายของประธานาธิบดีคนที่ 7 “โจโก วีโด (Joko Widodo)” มาลงชิงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่จับตาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างแสดงความกังวลว่า ฟังก์ชั่นของ Tiktok อาจทำให้คนรุ่นใหม่มองภาพไม่กว้างพอ เพราะตัวของซูเบียนโตนั้นมีเรื่องอื้อฉาวมากเกินไป และการขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีของเขา ก็อาจทำให้ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียมีปัญหาได้เช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง