อดอาหารประท้วง (Hunger strike) การต่อสู้ที่ต้องใช้ความอดทน และพลังของสาธารณชนในการขับเคลื่อน วิถี ‘สุดโต่ง’ หรือ ‘มีเกียรติ’ ?
บนโลกนี้มีวิธีการประท้วงมากมาย แต่การ “อดอาหารประท้วง (Hunger strike)” เป็นหนึ่งในวิธีที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเทศเลือกใช้มากที่สุด เพราะเป็นการแสดงออกอย่าง “สันติ” หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า ต้องการบรรลุสิ่งที่ปรารถนาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกจนถึงยุคปัจจุบัน วิธีนี้มักถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม เพื่อกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน การอดอาหารประท้วงก็เป็นวิธีที่เสี่ยง และใช้ต้นทุนของร่างกายมาก เพราะการประท้วงลักษณะนี้ ไม่ได้สร้างผลกระทบให้ฝ่ายตรงข้าม แต่มีผลกระทบตรงๆ กับผู้ที่อดอาหารเอง และบางครั้งก็ถูกคนในสังคมมองว่า เป็นวิธีที่ “สุดโต่ง” หรือ “ไร้สาระ” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นมีแนวคิดอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น
ในสังคมเรา ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าการอดอาหารประท้วง เพราะนักเคลื่อนไหวหลายคนมีระดับของการอดอาหารที่แตกต่างกัน เช่นบางคนปฏิเสธอาหาร แต่ดื่มน้ำได้ บางคนปฏิเสธอาหารที่ต้องเคี้ยว หรือบางคนก็ปฏิเสธไม่เอาอะไรลงท้องสักอย่าง ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แบ่ง การอดอาหารแบ่งไว้คร่าวๆ 3 แบบดังนี้
1. การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย (Dry Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การอดอาหารที่ผู้ประท้วงจะไม่นำอะไรเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเลย แม้แต่สารอาหารเหลว หรือน้ำเปล่า (Liquids) ซึ่งเป็นรูปแบบของการอดอาหารประท้วงที่พบได้น้อยที่สุด เนื่องจากผู้ประท้วงจะสามารถอยู่รอดได้เพียงไม่กี่วัน และมีแนวโน้มจะเสียชีวิตตั้งแต่สัปดาห์แรกของการประท้วง
2. การอดอาหารประท้วงทั้งหมด (Total Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การไม่ทานอาหาร (Solid Foods) หรือสารอาหารใด ๆ ที่ให้พลังงาน แต่จะรับประทานเพียงเครื่องดื่มที่อาจมีหรือไม่มีเกลือแร่
3. การอดอาหารประท้วงแบบไม่ทั้งหมด (Non-Total Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การอดอาหารประเภทอื่นนอกเหนือจาก 2 ประเภทข้างต้น โดยอาจมีการดื่มน้ำหรือทานอาหารเหลวที่ให้พลังงานบ้าง รวมถึงอาหารแข็งบางประเภท เช่น เนย น้ำตาล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาว่า คนที่สุขภาพดีจะสามารถอดอาหารได้นานสุดประมาณ 6-8 สัปดาห์ หากยังคงดื่มน้ำหรือสารอาหารที่เป็นของเหลวอยู่ แต่หากอดอาหารและไม่กินน้ำด้วย อาจมีชีวิตรอดได้แค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น
ประวัติศาสตร์การอดอาหารที่โด่งดังของโลก
เพราะความหิวเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน จึงทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจในความทุกข์ทุกข์ทรมานนั้นได้ไม่ยาก ซึ่งเป้าหมายของการอดอาหาร ไม่ใช่การทำลายอีกฝ่ายอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการค่อยๆ กดดันให้ ผู้มีอำนาจหรือใครก็ตามที่กุมชีวิตผู้ประท้วงที่อดอาหารอยู่เกิดจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี และตัดสินใจทำอะไรสักอย่างก่อนที่ผู้อดอาหารจะคนนั้นจะถึงแก่ความตาย
โดยการอดอาหารประท้วงมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการว่าครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อใด ทว่าครั้งที่โด่งดังและประสบความสำเร็จ ย่อมเป็นการอดอาหารประท้วงของ “มหาตมะ คานธี” ในปี 1943 และได้พลังของพลเมืองชาวอินเดียล้านคอยสนับสนุน จนนำประเทศหลุดพ้นจากการแกครองของอังกฤษ ได้ในเวลาต่อมา
นอกจากนั้น คานธียังอดอาหารอีกครั้งในปี 1948 ในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ชาวฮินดู และชาวมุสลิมที่ขัดแย้งกันมานาน หันมาสร้างสันติภาพร่วมกันแม้ภายหลังเขาจะถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงลอบสังหารจนเสียชีวิตก็ตาม
ที่โด่งดังเช่นกันคือ การอดอาหารของ “เทเรนซ์ มักสวีนีย์ (Terence MacSwiney)” นักการเมืองชาวไอริช ที่ถูกอังกฤษจับกุมในข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง ซึ่ง มักสวีนีย์ก็ได้ตอบโต้ความอยุติธรรมนั้นด้วยการอดอาหารนาน 74 วัน ก่อนจะเสียชีวิตคาเรือนจำในปี 1920 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการอดอาหารที่นานที่สุดตามการบันทึกของ “กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด (Guinness World Records) ”
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ “บ็อบบี แซนด์ส (Robert Gerard Sands) ” สมาชิกกองทัพไอร์แลนด์ ที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ โดยเขาอดอาหารประท้วงอยู่ 66 วัน และเสียชีวิตในลงในปี 1981
ที่กล่าวมาเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียว ของการอดอาหารประท้วงทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่มักเหมือนๆ กันคือ การที่คนตัวเล็กตัวน้อย ต้องต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมของผู้มีอำนาจ และถึงแม้นักเคลื่อนไหวหลายคนที่ใช้วิธีนี้จะมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก แต่พวกเขาก็ได้สร้างแรงบันดาลใจในการใช้หลัก “อหิงสา” ต่อสู้กับความรุนแรง จนเป็นแนวทางที่สลักอยู่ในใจของนักต่อสู้รุ่นหลัง
การใช้ความหิวโหยเพื่อต่อสู้ทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย จีน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยด้วย
แต่เพราะในสังคมมีความเชื่อที่หลากหลาย และมีการแบ่งฟักแบ่งฝ่ายกันจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้ มีสิ่งที่ควรตระหนักในการอดอาหารประท้วงอยู่บ้าง ซึ่ง “มหาตมะ คานธี” เคยกล่าวเอาไว้ 7 ข้อดังนี้
ดังนั้น จึงสรุปได้หากถ้านักเคลื่อนไหวคนนั้น ไม่ได้รับการสนใจจากสื่อ หรือสาธารณชน การประท้วงดังกล่าว ก็อาจถูกสังคมมองว่าทำเรื่อง “ไร้สาระ” ได้ง่ายๆ และผู้อดอาหารก็จะไม่ได้รับอะไร นอกจากโรคเจ็บป่วยจากการกระทำนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าสังคมเวลานั้นกำลังมีอารมณ์ไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ประท้วง ก็มีแนวโน้มสูงที่จะสร้างแรงกดดันให้ผู้มีอำนาจยอมอ่อนข้อได้ และอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของประเทศครั้งใหญ่ได้อีกด้วย
ที่มา : polsci /ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง