ทำความรู้จัก 'ใบ สด.43' เอกสารสำคัญผ่านการเกณฑ์ทหาร มีความหมายอะไรกับชายไทย หลังมีดราม่า 'จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์' สส. ก้าวไกล ปลอมแปลงเอกสารหนีทหาร
จากกรณี นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียน เรื่องขอให้ตรวจสอบ กรณีไม่ได้รับการตรวจเลือก คัดเลือกทหาร หรือหนีทหารหรือไม่นั้น ถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 และเมื่อเป็น สส.กระบวนการจริยธรรมคือถอดถอน และถ้ามีความผิดจริง ในการปลอมแปลงเอกสาร หลอกลวงประชาชน ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
ซึ่งจากการตรวจสอบของกองทัพบก พบว่า ไม่มีต้นขั้วใบ สด.43 ที่ตรงกับของนายจิรัฏฐ์ และในช่วงที่นายจิรัฏฐ์ ถูกเรียกให้มารายงานตัวเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองประจำการ ใช้ชื่อเดิมว่านายนวรินทร์ ทองสุวรรณ์ แต่ในใบ สด.43 ที่นำมาโชว์เป็นชื่อนายจิรัฎฐ์ ซึ่งบทสรุปในเรื่องนี้จะจบอย่างไรยังคงอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ และหาความจริงว่าใบ สด.43 ของนายจิรัฏฐ์ เป็นของจริงหรือไม่
หน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องรับราชการทหาร เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี (17 ปีบริบูรณ์) ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน ณ อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน และเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ทหารกองเกินทุกคนต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น
ซึ่งการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือ การเกณฑ์ทหารนั้นจะกระทำกันในช่วงเดือน เม.ย. ของทุกปี ปีละครั้งและต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี แต่มีข้อยกเว้นและผ่อนผันสำหรับ ผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหารและกฎกระทรวง
หากทหารกองเกินผู้ใดไม่ไป ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
ใบ สด.43 คือเอกสารสำคัญผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเป็นหลักฐานแสดงว่าได้ผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว (ห้ามหาย ,ห้ามชำรุด และจะต้องใช้ไปตลอดชีวิต) หาก ใบ สด.43 ไม่ตรงกับหลักฐานจริง เช่น บัตรประชาชน ,ชื่อ , นามสกุล หรืออื่นๆ (นำไปแก้ไขได้ที่สำนักงานสัสดีจังหวัด) ยกเว้นกรณีเปลี่ยนชื่อ หรือสกุลภายหลัง โดยที่ไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อก่อนการตรวจเลือกฯ จะไม่สามารถแก้ไข
ทั้งนี้ หากผ่อนผันแต่ละท่อนก็จะถูกเก็บแยก ต่างกันเพื่อตรวจสอบ หากไม่มาเข้ารับการตรวจเลือกในปีนั้น ใบ สด. 43 ทั้ง 3 ท่อน ก็จะไม่ได้รับการแจกจ่ายไปที่ใด จะเก็บอยู่ในต้นขั้วทั้งหมด และเมื่อสิ้นสุดการตรวจเลือก จะตอกทำลายเพื่อเป็นหลักฐานไว้ว่า ไม่ได้มาเข้ารับการตรวจเลือกหรือขาดรับการตรวจเลือก ก็จะใช้เป็นหลักฐานราชการอีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มารับการตรวจเลือก ไม่ว่าจะได้ใบดำหรือใบแดง ในใบ สด.43 ก็จะระบุไว้ ว่าจับได้แบบใด
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จับสลากแดง หรือได้ใบแดงนั้นโดยปกติจะต้องเป็นทหาร มีกำหนด 2 ปี แต่ถ้าเป็นผู้มีคุณวุฒิพิเศษแล้ว กฎหมายยังเปิดโอกาสให้สิทธิในการลดวันรับราชการได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ.2508) ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497