ปี 2563 กรมปศุสัตว์ไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาด ASF ได้ในระยะเวลาสั้น และสถานการณ์การขาดแคลนเนื้อหมูในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนครั้งใหญ่
ที่ผ่านมาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ทำเป็นกลุ่มเล็กๆที่ลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน เพื่อการค้าในกลุ่มเล็กๆเท่านั้น โดยเฉพาะแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เริ่มเติบโตเป็นล่ำ เป็นสันขึ้นในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 จากตัวเลขประมาณการณ์การลักลอบนำเข้า ช่วงปี 2563 – 2566 น่าจะมีปริมาณสูงกว่า 80,000 ตัน หรือประมาณ 80 ล้านกิโลกรัม
ถ้าคิดเป็นมูลค่าเฉพาะส่วนต่างระหว่างราคาต่างประเทศ รวมค่าขนส่ง เทียบกับราคาจำหน่ายในประเทศ ที่มีส่วนต่างประมาณกิโลกรัมละ 25 บาท จะมีเม็ดเงินอยู่ในขบวนการผลประโยชน์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมากกว่า 2 พันล้านบาท หรือคำนวนประมาณ 500,000 บาทต่อหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ (1 ตู้ มีน้ำหนัก 20,000 กิโลกรัม หรือ 20 ตัน)
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2563 มาจากปัญหาเนื้อหมูขาดตลาด โดยเฉพาะหมูหน้าเขียง ที่ขาดแคลนและขยับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนั้น และรุนแรงมากขึ้น เมื่อปี 2564 กรมปศุสัตว์พบว่า มีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยพบหมูติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever) หรือที่เรียกว่า โรค ASF ,โรคท้องร่วงติดต่อในหมู (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) และ โรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในหมู (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS)
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ AFS มีการระบาดอย่างรุนแรง และกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ จนถึงขั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดวอร์รูม เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
สถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้การผลิตหมูในประเทศลดลงประมาณร้อยละ 10-15 ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศกลับเติบโตขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างของปริมาณความต้องการหมูในตลาดอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า ในปี 2564 ตัวเลขหมูมีชีวิตในประเทศไทย มีจำนวน 19.28 ล้านตัว ขณะที่ปี 2565 ลดลงเหลือ 15.51 ล้านตัว ส่วนความต้องการบริโภคในประเทศโตเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ปีละ 18 ล้านตัว นั่นหมาย ถึงปี 2565 ประเทศไทยขาดแคลนหมูสำหรับบริโภคประมาณ 2.5 ล้านตัว
ช่องว่าทางการตลาดของหมู 2.5 ล้านตัว หรือประมาณ 300,000,000 กิโลกรัม หมูแต่ละตัวจะมีน้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม เมื่อคำนวนกลับมาเป็นเนื้อแดง หักเป็นชิ้นส่วนอื่นๆ และการสูญเสียระหว่างการชำแหละ จะหลือน้ำหนักเนื้อแดงและเทียบเท่าประมาณร้อยละ 50 ซึ่งก็เท่ากับเนื้อหมูในตลาดจะขาดแคลนประมาณ 150,000,000 กิโลกรัม หรือ 150,000 ตัน
ตัวเลขความต้องการหมูประมาณ 150,000 ตันในเวลานั้น ขณะที่มีราคาส่วนต่างของหมูจากประเทศบราซิล เม็กซิโก และประเทศในแถบยุโรป ที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าหมูไทยมาก เพราะอยู่ในแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ซึ่งมีราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35-45 บาทต่อกิโลกรัม รวมค่าขนส่งมาถึงเมืองไทย จะมีราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70-80 บาท ขณะที่ราคาหมูในเมืองไทยมีราคาเฉลี่ยกิโกรัมละ 100-120 บาท
ส่วนต่างมูลค่ามหาศาลกว่า 3,000 ล้านบาท ในเวลานั้น ทำให้มีเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมตินำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหมูในประเทศขาดแคลนจากสถานการณ์โรคระบาด โดยมีนักการเมืองใหญ่ ที่มีตำแหน่งสูงในขณะนั้น เป็นหัวขบวนการในการขับเคลื่อน
ช่วงเวลานั้นมีการคาดการณ์ว่า กรมปศุสัตว์จะไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาด AFS ได้ในระยะเวลาสั้น และสถานการณ์การขาดแคลนเนื้อหมูในประเทศก็จะทวีความรุนแรงขึ้น
ขบวนการค้าหมูเถื่อนที่นำโดยนักการเมืองชื่อดัง มีการเตรียมนำเข้าหมูจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งจากประเทศในอเมริกาใต้ และประเทศในยุโรป โดยขนเนื้อหมูลงเรือบรรทุกสินค้า มุ่งตรงมายังท่าเรือปลายทางที่แหลมฉบัง เพื่อรอนำเข้าทันทีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ
ครั้งนั้นหวังเพียงทำกำไรจากการนำเข้าเนื้อหมูแบบถูกกฏหมาย แบบเดียวกับน้ำมันปาล์มที่ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าเรื่องเรือแทงค์ที่ลอยลำรออยู่นอกน่านน้ำ ทันทีที่มีมติครม.ให้นำเข้า น้ำมันปาล์มล็อตนั้นก็ทำกำไรมหาศาลให้นักการเมืองคนหนึ่งทันที
อย่างไรก็ตามในปี 2564 สถานการณ์ที่พลิกผัน เมื่อความพยายามในการผลักดันให้ครม.มีมตินำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศล้มเหลว เมื่อกรมปศุสัตว์ในเวลานั้นพลิกสถานการณ์ขึ้นมาควบคุมโรคระบาด AFS ได้สำเร็จ เนื้อหมูที่สั่งมาจากต่างประเทศกว่า 78,000 ตัน ซึ่งลอยลำอยู่กลางทะเล ก็ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนทันที
ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนครั้งใหญ่จึงเริ่มเกิดขึ้นในเวลานั้น
ส่วนขั้นตอน รูปแบบการนำเข้า กลเม็ดการลักลอบนำเข้า ใครเป็นใครในขบวนการนี้ ติดตามใน EP 2
เครดิตภาพ : FREEPIK
ข่าวที่เกี่ยวข้อง