กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดไทม์ไลน์ ”ปราบหมูเถื่อน“ เริ่มตั้งแต่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เข้าแจ้งกรณี ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ยึดหมู 161 ตู้ จนถึงการเป็นคดีพิเศษ
จากกรณีที่ได้มีมติ ครม. ให้โยกย้ายพ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ท่ามกลางกระแสข่าวว่า การปราบปรามหมูเถื่อนของ พ.ต.ต.สุริยา มีความล่าช้า
ขณะที่ ดีเอสไอ (DSI) ได้มีการเปิดเผยไทม์ไลน์ เกี่ยวกับการดำเนินคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ คดีหมูเถื่อนโดยละเอียด ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ ตั้งแต่วันที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จนถึงวันที่ขยายผลตรวจค้น 2 บริษัทผู้ค้าเนื้อสัตว์แช่แข็งรายใหญ่ย่านดอนเมือง
27 เมษายน 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กรณีสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจยึดและดำเนินคดีสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างภายใน ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161ตู้ น้ำหนัก 4.5 ล้านกิโลกรัม เป็นคดีอาญาที่ 697/2566
16 พฤษภาคม 2566 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องเรียนต่อดีเอสไอ ขอให้ดำเนินคดีอาญากับ เจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน บริษัทชิปปิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการลักลอบศุลกากร นำเข้าสิน ค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมายลักลอบหลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสัตว์ สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร และอาจร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และความผิดกฎหมายอื่น ๆ (คดีพิเศษ 59/2566)
ถัดมา กรมศุลกากร ร้องทุกข์ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการเปิดสำรวจ และพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งจำนวน 161 ตู้
5 กรกฎาคม 2566 DSI ประชุมและปรึกษาหารือร่วมกับกรมศุลกากร ,กรมปศุสัตว์ ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ,สภาเกษตรกรแห่งชาติ ,กรมการค้าภายใน ,กลุ่มเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง เรื่องการดำเนินคดีพิเศษ ณ สนง.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
จากนั้น คณะทำงานได้ดำเนินการตรวจของกลาง วันละประมาณ 30 ตู้ โดยใช้เวลา
ทำการตรวจทั้งหมด 6 วันทำการ แบ่งเป็นทีมตรวจของกลาง 3 ทีม เพื่อตรวจพิสูจน์ของกลาง ตามมาตรฐานการตรวจของกรมปศุสัตว์
หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ไปประสานงานกับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง เพื่อขอรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 697/2566 ณ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง มารวมเรื่อง กับคดีพิเศษ ที่ 59/ 2566 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
12 กรกฎาคม 2566 คณะตรวจของกลางได้ทำการตรวจได้ทั้งหมด จำนวน 26 ตู้ และพบว่ามีจำนวน 1 ตู้ ที่เครื่องทำความเย็นเสีย ทำให้ตับสุกรภายในตู้เน่าเสีย (ตรวจครบจำนวน 161 ตู้)
13 กรกฎาคม 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ได้เชิญผู้แทนสายเรือร่วมประชุมหารือประเด็นการดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้า ซากสัตว์ประเภทสุกรตกค้าง จำนวน 161 ตู้
14 กรกฎาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 59/2566 ได้รับมอบสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 697/2566 ของ สภ.แหลมฉบัง เพื่อนำมาดำเนินการรวมเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดีพิเศษข้างต้น
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 890/2566 ลงวันที่ 14 ก.ค.2566 แต่งตั้ง พล.ต.ท. วัลลภ ประทุมเมือง เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ
5 กรกฎาคม 2566 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับของกลาง คือตู้สินค้าจำนวน 161 ตู้ ที่ศุลกากรได้ตรวจยึดไว้ มาประชุมหารือ เรื่องการตรวจของกลาง โดยจะดำเนินการตรวจของกลางตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์
6 กรกฎาคม 2566 คณะตรวจของกลางได้ทำการตรวจได้ทั้งหมด จำนวน 33 ตู้
7 กรกฎาคม 2566 คณะตรวจของกลางได้ ทำการตรวจได้ทั้งหมด จำนวน 28 ตู้ และพบว่า มีจำนวน 3 ตู้ ที่เครื่องทำความเย็นเสีย ทำให้เนื้อสุกรภายในตู้เน่าเสีย
10 กรกฎาคม 2566 คณะตรวจของกลางได้ทำการตรวจได้ทั้งหมด จำนวน 39 ตู้ และพบว่ามีจำนวน 1 ตู้ ที่เครื่องทำความเย็นเสีย ทำให้เนื้อสุกรภายในตู้เน่าเสีย
11 กรกฎาคม 2566 คณะตรวจของกลางได้ทำการตรวจได้ทั้งหมด จำนวน 35 ตู้
17 กรกฎาคม 2566 ประชุมรายงานความคืบหน้าการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 59/2566
20 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากร เดินทางเข้าให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในฐานะผู้กล่าวหาตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากร ณ ห้องสอบสวน ชั้น 7 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ
17 สิงหาคม 2566 ดำเนินการตรวจค้นบริษัทผู้นำเข้า จำนวน 11 จุด
18 สิงหาคม 2566 ประชุมการมอบของกลางให้กับกรมปศุสัตว์
22 สิงหาคม 2566 DSI ลงพื้นที่ตรวจค้นบริษัท วีมีท จำกัด จังหวัดราชบุรี
25 กันยายน 2566 DSI ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ฝังกลบซากหมูเถื่อน 161 ตู้ ณ สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว
26 กันยายน 2566 DSI ร่วมกับ จนท.ที่เกี่ยวข้อง ได้นำหมายค้นศาลอาญา เลขที่ 1165/2566 เข้าตรวจค้น บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ด จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคดีซากหมูนำเข้าจากต่างประเทศ
29 กันยายน 2566 DSI ร่วมกับ จนท.ที่เกี่ยวข้อง เผาทำลายซากสุกรของกลาง ณ สำนักงานชลประทาน ที่ 9 จังหวัดชลบุรี จำนวน 1 ตู้
1 ตุลาคม 2566 DSI ร่วมกับ จนท.ที่เกี่ยวข้อง นำตู้ซากสุกรเถื่อนไปฝังกลบ ณ สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 10 ตู้
2 ตุลาคม 2566 DSI ร่วมกับ จนท.ที่เกี่ยวข้อง นำตู้ซากสุกรเถื่อนไปฝังกลบ ณ สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 20 ตู้ ดำเนินการไปแล้ว 13 ตู้
3 ตุลาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับข้องกังวลเกี่ยวกับโรค และมลภาวะทางกลิ่นจากการฝังซากสุกร
4 ตุลาคม 2566 จนท.ที่เกี่ยวข้อง น าขบวนรถบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 19 ตู้ ที่คงค้างในศูนย์วิจัย และพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เดินทางสู่ท่าเรือแหลมบบัง
5 ตุลาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวน ประชุมร่วมกับกรมประมง กรณีกานำเข้าตู้ สินค้าสำแดงเป็นสัตว์น้ำ ณ กรมประมง
9 ตุลาคม 2566 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เข้าร่วมประชุมหารือกำกับ และตรวจสอบตู้สินค้าของตกค้างและของกลางคดีพิเศษ 59/2566 ณ ณ กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์
10 ตุลาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวน เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ท่าเรือแหลบบังและดำเนินการบันทึกถ้อยคำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
18 ตุลาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวน ได้ประชุมหารือในการขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา
19 ตุลาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการขอหมายจับต่อศาลอาญา จำนวน 6 ราย ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. ศาลอาญาฯ ได้อนุมัติออกหมายจับ
20 ตุลาคม 2566 ดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ และนำมาสอบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 ราย
21 ตุลาคม 2566 ดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ และนำมาสอบสวน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 2 ราย
24 ตุลาคม 2566 ผู้ต้องหาตามหมายจับ ติดต่อขอมอบตัวกับพนักงานสอบสวน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 1 ราย
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เชิญประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินการ โดยให้ ออกหมายจับ และตรวจค้นเป้าหมายในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 1
25 ตุลาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในการรายงานผลการจับกุมและเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาชุดแรก จำนวน 6 ราย
คณะพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการขอหมายค้น และหมายจับต่อศาลอาญา จำนวน 6 ราย ต่อ ศาลอาญาฯ ได้อนุมัติออกหมายค้น 2 ราย และหมายจับ 2 ราย
26 ตุลาคม 2566 DSI ขยายผลตรวจค้น 2 บริษัทผู้ค้าเนื้อสัตว์แช่แข็งรายใหญ่ย่าน
ดอนเมือง หลังจากสืบสวนสอบสวนพบว่าเป็นผู้ว่าจ้างรายใหญ่ให้นำเข้าหมูเถื่อน
27 ตุลาคม 2566 สอบผู้ต้องหารายนายศักดา ฯ เพิ่มเติม
3 พฤศจิกายน 2566 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามในคำสั่ง กสพ. ที่ 1747/2566 ลว. 3 พ.ย.2566 แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม
7 พฤศจิกายน 2566 พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีพิเศษที่ 59/2566 และที่ปรึกษาคดีพิเศษประชุมร่วมกันเพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินคดี
8 พฤศจิกายน 2566 ศาลอาญาอนุมัติหมายค้น บริษัท แอล อาร์ ห้องเย็น จำกัด
9 พฤศจิกายน 2566 DSI ขยายผลตรวจค้น 2 บริษัทผู้ค้าเนื้อสัตว์แช่แข็งรายใหญ่ย่านดอนเมือง หลังจากสืบสวนสอบสวนพบว่าเป็นผู้ว่าจ้างรายใหญ่ให้นำเข้าหมูเถื่อน
ซึ่งความคืบหน้าทางคดีหลังจากนั้น วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นายวิรัช ภูริฉัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ธี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ธี่ ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัดและนาย ธนกฤต ภูริฉัตร 2 พ่อลูก ได้ เดินทางกลับจากต่างประเทศ เพื่อมอบตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนคุมตัวมาสอบปากคำ ถือเป็นกลุ่มนายทุนผู้สั่งการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
24 พฤศจิกายน 2566 นาย สมนึก กยาวัฒนกิจ กรรมการ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในมาตรา 243 และมาตรา 244 รวมกันกันลักลอบนำเข้าซากสัตว์ (สุกร) เข้าในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และพบมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 ราย
28 พฤศจิกายน 2566 DSI นำหมายค้น เข้าตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ หลังมีข้อมูลจากการสืบสวนสอบสวน พบว่ามีการรับซื้อชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งจากบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด ที่ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปก่อนหน้า มูลค่ากว่า 390 ล้านบาท ผลการตรวจค้นพบว่าเป็นการสั่งซื้อโดยเปิดเผย ทั้งนี้ได้ให้บริษัท สยามแม็คโคร ชี้แจงเอกสารประกอบการสั่งซื้อเพื่อการตรวจสอบคู้ค้าย้อนกลับ
ทั้งนี้ หลังจากที่ ครม.ได้มีมติโยกย้าย ในวันเดียวกัน เพจ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการโพสต์ภาพ พ.ต.ต.สุริยา พร้อมข้อความว่า “ทำใจอยู่ตลอดเวลา นับแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้วครับ ว่าต้องถึงวันนี้ แต่ผมเลือกทางเดินและวิถีผมเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจครับ เพราะทำเต็มที่แล้ว เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทุกท่านครับ 28 พ.ย.2566 ลงชื่อ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ”
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ชี้แจงกรณีการโยกย้ายอธิบดีดีเอสไอว่า สืบเนื่องจาก พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ ได้ถูกย้ายไปดำรงเลขาธิการ ศอ.บต. ทำให้ตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่างลง จึงจำเป็นต้องเสนอย้าย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว
และเนื่องจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มีความสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนงานนโยบายของกระทรวงในภาพรวม กำกับงานของกรมในกลุ่มภารกิจ รวมทั้งประสานงานหน่วยงานต่างกระทรวง ซึ่ง พ.ต.ต.สุริยา มีประสบการณ์ผ่านงานระดับอธิบดี ที่ปรึกษาหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงที่ว่างจากการเสนอแต่งตั้งในครั้งนี้
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ยืนยันว่าการโยกย้ายไม่มีเรื่องของการเมืองแทรกแซง ด้านการย้ายอดีตอธิบดี ดีเอสไอ นายกฯระบุว่ารัฐมนตรียุติธรรมย้ายไปทำเรื่องนโยบายเป็นรองปลัดและหาคนที่เหมาะสมมาทำต่อ แต่การมาทำต่อในเรื่องการปราบปรามหมูเถื่อนก็เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งตนจะเรียกมาพูดคุยว่าไปถึงไหนแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง