เหลือจนต้องกำจัดทิ้ง! แคนาดาทำลายกัญชาที่ขายไม่ออก ไปกว่า 1.7 พันล้านกรัม นับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของรถ HONDA CIVIC ประมาณ 1,252 คัน
แคนาดาผ่านกฎหมายกัญชาเพื่อการสันทนาการในปี 2018 และเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่อนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการได้ ทำนับแต่นั้นต้นมาจึงถือเป็นยุครุ่งเรืองของการค้าขายกัญชาภายในประเทศ
ทว่าปัจจุบันนี้ ความรุ่งโรจน์นั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะสื่อต่างประเทศได้รายงานว่า ในช่วงปี 2022-2023 ผู้ประกอบการชาวแคนาดาหลายเจ้า ได้ทำลายกัญชาที่ขายไม่ออกไปกว่า 24 ล้านห่อ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน
ทั้งนี้ “Health Canada” หน่วยงานกำกับดูแลกัญชาของรัฐบาลกลางแคนาดา ได้เปิดเผยว่า ในปี 2022 มีการทำลายกัญชามากถึง 3.8 พันล้านกรัม และในครึ่งแรกของ ปี 2023 ต้องทำลายอีก 265 ล้านกรัม ซึ่งข้อมูลเสนอว่าอุตสาหกรรมกัญชาที่ถูกควบคุมของแคนาดายังคงเสาะหาความสมดุลของอุปสงค์อุปทาน หลังจากผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตผลิตกัญชาได้มากกว่าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า แคนาดาได้ทำการกำจัดกัญชาที่ขายไม่ออกมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ซึ่งเป็นปีแรก ที่ประชาชนเริ่มใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลาย แต่ระหว่างปี 2022-2023 นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และในรอบ 5 ปีกังกล่าว แคนาดาทำลายกัญชาที่ไม่ได้ขายและไม่ได้ถูกบรรจุภัณฑ์ไปกว่า 1.7 พันล้านกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของรถ HONDA CIVIC ประมาณ 1,252 คัน
“ฟาร์เรล มิลเลอร์ (Farrell Miller)” ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมกัญชา ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่มีกัญชาขายไม่ออกเป็นจำนวนมหาศาลว่า “กัญชาที่ถูกทำลายส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีปริมาณ THC ต่ำ” โดยปัญหานี้ เกิดจากมีผู้เพาะปลูกกัญชาที่ได้รับใบอนุญาตจำนวนมากเกินไป นับตั้งแต่ที่แคนาดาออกกฎหมายให้ขายกัญชาให้กับพลเมืองได้อย่างถูกกฎหมาย
ปี 2017 จนถึงประมาณปี 2020 ถือเป็นยุครุ่งเรืองของกัญชาในแคนาดาอย่างแท้จริง ทำให้นักลงทุน ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตกัญชา โดยพิจารณาแค่ว่าพวกเขาสามารถปลูกได้มากเท่าไหร่ มากกว่าจำนวนที่จะขายได้จริงๆ ซึ่งสิ่งจูงใจดังกล่าว ทำให้ผู้ถือใบอนุญาตกัญชาให้ทุนเพื่อสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่ แต่กลับไม่สามารถผลิตกัญชาที่มีคุณภาพได้อย่างที่ผู้บริโภคต้องการได้ และปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากในแคนาดาก็จะไม่จ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี THC ต่ำกว่า 20%-25%
ทำให้ในปี 2022 เป็นต้นมา บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกัญชาหรือกัญชาอย่างน้อย 42 แห่งต้องล้มละลาย เพราะไม่สามารถขายกัญชาเพื่อเลี้ยงบริษัทต่อไปได้ และยังต้องทำลายผลิตภัณฑ์ที่ขายไม่ออกของตัวเองอีกด้วย เนื่องจากเป็นกฎของทางการ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้บางบริษัทที่ยังสามารถขายกัญชาที่ยังตกค้างอยู่ในโรงงานได้
อย่างไรก็ตาม การปิดโรงเรือนจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้กำลังการผลิตกัญชาลดลง ทว่าขณะเดียวกัน ก็ทำให้เหลือแต่โรงเรือนที่ผลิตกัญชา คุณภาพ จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมกัญชาของแคนาดาเข้าใกล้ความสมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทานมากขึ้น
ทั้งนี้ มิลเลอร์เชื่อว่า หากจะไม่ให้เกิดปัญหากัญชาล้นประเทศอีก รัฐบาลกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการออกใบอนุญาตผลิตกัญชา เพราะการไม่มีข้อจำกัดใดๆในการออกใบอนุญาตแบบที่ผ่านมานั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอุปทานล้นตลาด
แคนาดา มีกฎหมาย Cannabis Act ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่กลางเดือน ตุลาคม 2018 ส่งผลให้พลเมืองทั่วไปสามารถใช้กัญชาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายทั้งรายใหญ่ รายเล็กหันมาให้ความสนใจในตลาดนี้ และมีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
แต่ถึงจะเปิดเสรี ก็มีความเข้มงวดบางประการ ซึ่งแคนาดาอนุญาตให้มีกัญชาในครัวเรือนได้ไม่เกิน 4 ต้น และ อนุญาตให้บุคคลที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ครอบครองกัญชาแห้งเกิน 30 กรัม ซึ่งหากเกินกว่านั้น อาจต้องรับโทษจำคุกนานถึง 14 ปี นอกจากนี้ยังห้ามจำหน่ายกัญชาแก่ผู้เยาว์ รวมถึงหากขับยานพาหนะขณะมีอาการมึนเมาจากการเสพกัญชา ก็ต้องโทษจำคุกด้วยเช่นกัน
นายกฯ เศรษฐา เตรียมยกเลิกกัญชาเสรี ให้ใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น
Twitter เปิดรับวงการสายเขียว ให้โฆษณาได้ เริ่มแล้วในสหรัฐและแคนาดา
หมอสมิทธิ์ เปิดข้อมูล หลังปลดล็อคกัญชา ผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่ม 3.5 เท่า