svasdssvasds

4 กสทช. ร่อนเอกสารชี้แจงเหตุประชุมล่มซ้ำซาก

4 กสทช. ร่อนเอกสารชี้แจงเหตุประชุมล่มซ้ำซาก

4 กสทช. ร่อนเอกสารชี้แจงเหตุประชุมล่มซ้ำซาก ล้วนมีเหตุมาจากการนัดหมายประชุมที่ใช้อำนาจและดุลพินิจของประธาน ยันมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง นัดประชุมล่าสุด 10 ม.ค. นี้ มีเสนอวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ในขณะที่ยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ

จากที่มีการให้ข่าวว่า กรณีการประชุมบอร์ดล่มที่ กสทช. เป็นเรื่องสืบเนื่องจากความขัดแย้งหรือการไม่ให้ความร่วมมือของกรรมการ กสทช. 4 คน ขอชี้แจงว่าเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือน ผิดไปจากความจริง และมีเจตนาที่จะให้ร้าย ทั้งนี้ กสทช. 4 คน ได้แก่

  1. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
  2. ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต
  3. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
  4. รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

ขอชี้แจงตามความจริงที่เกิดขึ้น ดังนี้ สาเหตุที่ทำให้การประชุมหลายครั้งล่มล้วนมีที่มาจากการเลือกกำหนดวันประชุม วิธีการนัดหมาย และการกำหนดเงื่อนไขของประธาน กสทช. โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับกรรมการ จึงนำไปสู่คำถามว่า ในที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ แท้จริงแล้ว สะท้อนถึงการประชุมล่ม หรือการพยายามล่มประชุมตั้งแต่แรก?

ไทม์ไลน์ กสทช. ประชุมล่ม

เหตุการณ์ประชุม กสทช. ล่มครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 5 ก.ค. 2566 โดยประธานได้แจ้งลาป่วยและขอยกเลิกประชุมอย่างกะทันหัน เพียง 1 วันก่อนประชุม หลังจากการนั้น การประชุม กสทช. ก็มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก 6 ครั้ง ล้วนมีเหตุมาจากการนัดหมายประชุมที่ใช้อำนาจและดุลพินิจของประธานนำมาทั้งสิ้น

ครั้งที่ 1 – ประธาน กสทช. สั่งยกเลิกประชุมโดยแจ้งล่วงหน้า 1 วัน แม้องค์ประชุมจะครบ และสามารถเลือกกรรมการที่มาประชุม ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนได้

ครั้งที่ 2 – สั่งเลื่อนประชุมอย่างกระชั้น ทำให้ทับซ้อนกับภารกิจของ กสทช. 4 คน ที่ลงนัดหมายไว้ล่วงหน้า

ครั้งที่ 3 – สั่งเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเป็นแบบเปิดเผย โดยไม่คำนึงถึงความสุ่มเสี่ยงของเนื้อหาวาระที่มีข้อมูลลับ และเปลี่ยนอย่างกระชั้น เพียง 2 วันก่อนประชุม (กสทช. 4 คน จึงคัดค้านไม่เข้าประชุม)

ครั้งที่ 4 – กำหนดวันประชุมโดยไม่ถามวันเวลาที่สะดวกของ กสทช. คนอื่น ทำให้ทับซ้อนกับภารกิจของ กสทช. 4 คน ที่ลงนัดหมายไว้ล่วงหน้า

ครั้งที่ 5 – มีหนังสือ สอบถามวันเวลาที่สะดวกประชุมของ กสทช. ทุกคน แต่เลือกประชุมในวันที่ กสทช. 4 คนไม่ว่าง

ครั้งที่ 6 และ 7 – กำหนดประชุมในวันที่ตนทราบอยู่แล้วว่า กสทช. 4 คนติดภารกิจงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่ง กสทช. เป็นเจ้าภาพ

การนัดหมายประชุม กสทช. ในปีแรก (พ.ศ. 2565) ดำเนินไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย โดยกรรมการทุกคนต่างให้ความสำคัญกับการยึดถือแนวปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน ที่จะเข้าประชุมทุกวันพุธ เดือนละ 3 ครั้ง ตามปฏิทินรายไตรมาสที่สำนักงานเสนอ จากนั้น ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2565 (ครั้งที่ 35/2565) สำนักงาน

เสนอให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 เปลี่ยนจากการประชุมเดือนละ 3 ครั้ง เป็นประชุมเดือนละ 2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ทว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แนวปฏิบัติและข้อตกลงที่เคยมีเหล่านี้กลับถูกละเลย ไม่มีการแจ้งปฏิทินการประชุมล่วงหน้ารายไตรมาส และหลายครั้งเป็นการแจ้งล่วงหน้าแบบกระชั้นชิด รวมถึงกำหนดวันประชุมเป็นวันที่ กสทช. 4 คนติดภารกิจที่มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้านานแล้ว เมื่อทวงถามถึงเหตุผล ประธาน กสทช. ยืนยันแต่เพียงว่า เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจของประธาน

จริงอยู่ ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม เช่น

  • การกำหนดสถานที่ประชุม
  • การกำหนดรูปแบบการประชุม (จำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง หรือแบบเปิดเผย)
  • การนัดหมายประชุม (กรณีจำกัดจำนวนผู้ฟัง ให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วัน ส่วนกรณีเปิดเผย ให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หรืออาจเร็วกว่านั้นถ้าเห็นสมควร)

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้ กสทช. ทำหน้าที่พิจารณาและดำเนินการต่างๆ ร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นองค์กรกลุ่ม โดยมีประธานเป็นผู้แทนในการดูแลและจัดให้มีการประชุม ดังนั้น การนัดหมายประชุมแต่ละครั้ง จึงต้องคำนึงถึงความครบถ้วนขององค์ประชุมและการทำหน้าที่ร่วมกันของ กสทช. ทุกคน เป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ ในการพิจารณาวาระที่มีความสำคัญ ก็จำเป็นที่กรรรมการจะสามารถเข้าประชุมได้ครบทั้ง 7 คน เพราะในกรณีที่จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยการลงคะแนนเสียง 1 คน ต่อ 1 คะแนนเสียง เมื่อใดที่คะแนนเสียงเท่ากัน ประธานสามารถออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งได้ ซึ่งอาจทำให้ผลการลงมติไม่เป็นไปตามคะแนนเสียงที่แท้จริง เกิดเป็นข้อกังขาถึงความชอบธรรมของมติได้

ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ติดภารกิจ 4 กสทช. จะมีหนังสือชี้แจงและทักท้วงเรื่องวันประชุมเสมอ เพื่อไม่ให้การประชุมล่ม รวมถึงมีการทวงถามขอปฏิทินนัดประชุมล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 21/2566 วันพุธที่ 25 ต.ค. 2566  (ไม่ล่มเพราะเป็นวันพุธ) ซึ่งมี กสทช. ทักท้วงและขอปฏิทินการประชุมล่วงหน้ารายไตรมาส ประธานได้ตอบรับในที่ประชุมว่าจะไปดำเนินการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับแจ้งแต่อย่างใด

หลังการประชุม กสทช. ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 23/2566) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องรวม 3 วัน ได้แก่ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 เพื่อพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. และเป็นการประชุม กสทช. ครั้งสุดท้ายของปี 2566 กรรมการ กสทช. ก็ยังไม่ได้รับแจ้งว่าในปี 2567 จะมีปฏิทินการประชุมเป็นรายไตรมาสหรือไม่ อย่างไร

การกำหนดวันและวิธีการนัดหมายที่ทำให้การประชุมล่มเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการขับเคลื่อนงานของ กสทช. โดยในการนัดประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 1/2567) วันที่ 10 ม.ค. 2567 มีการเสนอวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ในขณะที่ยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ อีกทั้งยังมีวาระอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก 3 วาระ  ซึ่งรวมถึง 3 วาระสำคัญซึ่งรอพิจารณามา 4 – 6 เดือนแล้ว ได้แก่ วาระการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ วาระเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. และวาระการปรับปรุงระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. ด้วย

โดย 3 วาระนี้ ล้วนแต่เป็นวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงระบบบริหารงานที่กินความถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ ภายในสำนักงาน กสทช. ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นวาระที่มีความสำคัญยิ่ง แต่แม้กระทั่งในการประชุม กสทช. ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีกรรมการเข้าประชุมกันอย่างพร้อมหน้า ประธาน กสทช. ก็ยังไม่ได้หยิบยก 3 วาระสำคัญดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา

มีข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การพิจารณาวาระสำคัญที่ค้างอยู่ 3 วาระข้างต้น จำเป็นต้องใช้ “มือพิเศษ” ที่ยกขึ้นเพื่อลงคะแนนวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่องค์ประชุมไม่ครบ 7 คน ดังปรากฏมาแล้วในการพิจารณาประเด็นรวมธุรกิจทรู-ดีแทค ก่อนหน้านี้ เมื่อมีกรรมการเข้าประชุมครบทั้ง 7 คน จึงยังไม่มีการหยิบยกวาระเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณา

กสทช. 4 คน ยืนยันว่ามีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง และได้จัดตารางการนัดหมายและปฏิบัติภารกิจโดยเว้นวันพุธเอาไว้สำหรับการประชุม กสทช. อีกทั้งพยายามเลื่อนการนัดหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ออกไปในกรณีที่ประธาน กสทช. นัดประชุมในวันอื่นอย่างกระชั้นชิด เพื่อให้สามารถเข้าประชุมได้  อย่างไรก็ตาม ในเมื่อประธาน กสทช. ยังไม่ได้ทำตามข้อเสนอ คือยึดแนวปฏิบัติเดิม โดยนัดประชุมในวันพุธ แจ้งปฏิทินการประชุม กสทช. ล่วงหน้าเป็นรายไตรมาส หรือสอบถามและนัดหมายการประชุมโดยคำนึงถึงความพร้อมของ กสทช. ทุกคน จึงยังมีคำถามค้างคาอยู่ว่า ในที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์นี้ แท้จริงแล้วสะท้อนถึงการประชุมล่ม หรือความพยายามล่มการประชุม?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 
related