โอบามาได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่นักวิเคราะห์แย้ง เป็นนักสร้างสันติภาพตรงไหน นอกจากเพิ่มความขัดแย้งมากกว่า ?
“รางวัลโนเบล (Nobel Prize)” ถือเป็นรางวัลประจำปี ที่มอบให้บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาต่างๆ ทั้ง ด้านการแพทย์ ฟิสิกส์ วรรณกรรม สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ และบ่งบอกถึงความสามารถของบุคคลที่ได้รับอย่างยิ่ง
แต่เพราะความยิ่งใหญ่ของรางวัลนี้เอง ทำให้การมอบรางวัลแต่ละครั้ง มักเกิดข้อขัดแย้งว่าบุคคลนั้นมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่
กรณีนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ‘บารัค โอบามา’ ขณะดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2552 ซึ่งในปีนั้นเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทั้งๆ ที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งปี
เหตุผลที่ โอบามา คว้ารางวัลนี้ เพราะคณะกรรมการโนเบลอ้างว่า ตัวของโอบามามีความพยายามอย่างมากเป็นพิเศษในการเสริมสร้างการทูตระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งให้เกิดความร่วมมือของภาคประชาชน และมอบความหวังให้คนทั่วโลก ซึ่งมีเพียงน้อยคนนักที่จะทำได้ระดับเดียวกับโอบามา
ทว่านักวิเคราะห์หลายคนกลับมีความเห็นแย้งในเรื่องนั้น เพราะถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากโอบามาเพิ่งอยู่ในตำแหน่งได้แค่ 9 เดือน และการที่โอบามาส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพิ่มอีก 30,000 นาย รวมถึงเวลานั้นสหรัฐกำลังมีปฏิบัติการทางทหารอยู่ในซีเรียกับอีกรักอย่างเข้มข้น ก็ยิ่งดูทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 นี้ ห่างไกลจากการเป็น “นักสร้างสันติภาพ” เหลือเกิน
ความไม่สมเหตุสมผลดังกล่าว แม้แต่ตัวของโอบามาเอง ก็แปลกใจเช่นกัน โดยเขา เขียนไว้ในบันทึกปี 2563 ทำนองว่า “รางวัลนี้เพื่ออะไร”
นอกจากนี้ นายลอว์เรนซ์ ซิดนีย์ เอียเกิลเบอร์เกอร์ (Lawrence Eagleburger) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ยังมองว่าประธานาธิบดีโอบามาไม่ควรได้รับรางวัลนี้ โดยให้เหตุผลไว้ว่า “เขาไม่ได้ทำอะไรที่สมควรได้รับรางวัลนี้เลย และถือเป็นการดูหมิ่นความสำคัญของรางวัลนั้นให้ดูด้อยค่าลงอย่างยิ่ง”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น และคณะกรรมการโนเบลจะออกมาแสดงความเสียใจต่อการมอบรางวัลในครั้งนั้น แต่โอบามาก็เป็นหนึ่งคนสำคัญหลายๆ คนบนโลกที่ เป็นเจ้าของรางวัลนี้ไปแล้ว ซึ่งเขาก็ได้บริจาคเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากรางวัลโนเบลให้กับองค์กรการกุศลกว่า 10 แห่ง เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาสภายในประเทศโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ โอบามาไม่ใช่คนเดียวที่โดนข้อครหา เพราะยังมีคนดังระดับโลกอีกมากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อก้าวเข้ามารับรางวัลในสาขานี้ และไม่ว่าจะยุคสมัยใด คำว่าสันติภาพมักถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อให้กับบางกลุ่มเสมอ ซึ่งแม้แต่รางวัลโนเบลก็อาจหนีไม้พ้นเกมการเมืองด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง