svasdssvasds

"จำคุกนอกเรือนจำ" กรมราชทัณฑ์ออกกฏระเบียบใหม่ มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

"จำคุกนอกเรือนจำ" กรมราชทัณฑ์ออกกฏระเบียบใหม่ มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

กรมราชทัณฑ์ ออกระเบียบ "จำคุก" นอกเรือนจำ กำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยทักษิณ จะนอนโรงพยาบาลครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

จากกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 66 กรณี นายทักษิณ ชินวัตร นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จะครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ว่า ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ระบุว่า เป็นอำนาจของอธิบดี รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้ รัฐมนตรียุติธรรมรับทราบ แต่ไม่ให้ รมว.ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงงานกรมราชทัณฑ์

ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นดุลยพินิจของคณะแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์จากราชทัณฑ์ ที่รายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และเสนอมายัง รมว.แต่ไม่ใช่อำนาจ รมว.ยุติธรรม พิจารณาจะนอนรักษาตัวต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการรักษาเป็นหลัก 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อ ระเบียบคุมขังสถานที่อื่นนอกเรือนจำ ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องภายในและอำนาจหน้าที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์

มีรายงานข่าวจากกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีหนังสือ บันทึกข้อความ ถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการสถานกักขัง ผู้อำนวยการสถานกักกัน ทั่วประเทศ เรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ระบุว่า

ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและ การอื่นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560

ระเบียบกรมราชทัณท์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. ๒๕๖๖

 

 

 

สำหรับรายละเอียดระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 คือ การให้มีคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ที่มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาอนุมัติ

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆไว้ 6 หมวด ดังนี้

  • หมวด 1 สถานที่คุมขัง
  • หมวด 2 คุณสมบัติผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง
  • หมวด 3 การพิจารณา
  • หมวด 4 การคุมขังในสถานที่คุมขัง
  • หมวด 5 การเพิกถอนการคุมขังในสาถนที่คุมขัง
  • หมวด 6 เบ็ดเตล็ด

 

 

รายละเอียดระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 

เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัว ของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

  • ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566
  • ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
  • ข้อ 3 ระเบียบนี้ 

“สถานที่คุมขัง” หมายความว่า สถานที่คุมขังตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์
“ผู้กำกับสถานที่คุมขัง” หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำที่ทำหน้าที่กำกับสถานที่คุมขัง
“ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง” หมายความว่า

  1. ข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลและรับผิดชอบผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขังหรือ
  2. เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง ซึ่งได้ให้ความยินยอมและยอมรับที่จะปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่รวมถึงคำแนะนำของเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

 “คณะทำงาน” หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์

  • ข้อ 4 ให้มีคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ประกอบด้วย รองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการ กองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ และผู้อำนวยการ กองกฎหมาย และบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข 1 คน และด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 1 คน เป็นคณะทำงาน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการ ควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยา ที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ให้คณะทำงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใตคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  2. เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นเกี่ยวกับการคุมขังในสถานที่คุมขังต่ออธิบดี การประชุมของคณะทำงานตามวรรคหนึ่งต้องมีคณะทำงานมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะทำงานทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก คณะทำงานคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

  • ข้อ 5 ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา เกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมตลอดถึงการออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้

หมวด 1 สถานที่คุมขัง

  • ข้อ 6 การคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังให้สามารถทำได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ และในสถานที่คุมขัง ดังต่อไปนี้
  1. การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง โดยคุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ
  2. การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย โดยคุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย การศึกษาแห่งชาติ วัตตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนา อิสลาม สถานที่ทำการหรือสถานประกอบการของเอกชน สถานที่ทำการของมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน
  3. การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง โดยคุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 
  4. การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยคุมขังในสถานที่คุมขังตาม (1) (2) หรือ (3)
  • ข้อ 7 สถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
  1. กรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
  2. กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สามารถระบุตำแหน่งของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวว่าอยู่ตำแหน่งใดของอสังหาริมทรัพย์ และอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้นต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
  3. สามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

การกำหนดและการยุบเลิกสถานที่คุมขังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด

ประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. เป็นสถานที่คุมขังที่มีวัตถุประสงค์ใด และเป็นประเภทใดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
  2. ที่อยู่และเลขประจำบ้านที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน เลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าสถานที่คุมขังดังกล่าวตั้งอยู่ ณ ท้องที่ใด
  3. แผนที่แสดงอาณาเขตของสถานที่คุมขังดังกล่าว
  4. ชื่อและนามสกุลของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง

กรณีสถานที่คุมขังตามวรรคหนึ่งได้มีการกำหนดอาณาเขตไว้ชัดเจนแล้วตามกฎหมายอื่นจะถือเอาการกำหนดอาณาเขตดังกล่าวมากำหนดเป็นอาณาเขตตามระเบียบนี้ก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการงานเรือนจำและสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ อธิบดีจะกำหนดให้ สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขังไว้เป็นการล่วงหน้าก็ได้

หมวด 2 คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณา ให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง

  • ข้อ 8 ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ต้องมีคุณสมบัติ
  1. เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์
  2. ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่าควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ 
  3. มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์
  • ข้อ 9 ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามข้อ 8 หากมีลักษณะดังต่อไปนี้จะไม่ได้รับการพิจารณา คัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง
  1. มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้อง ถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะในคดีนี้หรือคดีอื่น
  2. อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย

หมวด 3 การพิจารณา

  • ข้อ 10 การให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ ให้คณะทำงานเพื่อจำแนก ลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำดำเนินการคัดกรองแล้วเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำ 
  • ข้อ 11 ให้คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะผู้ต้องขังประจำเรือนจำตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามข้อ 8 และไม่ต้องห้ามตามข้อ 4 และตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ข้อมูลการถูกดำเนินคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลในคดีอื่น ประวัติและพฤติกรรมก่อนต้องโทษ ประวัติการใช้ความรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประวัติการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับเพศ การเปลี่ยนหรือย้ายที่อยู่อาศัย พฤติกรรมขณะต้องโทษ และรายละเอียดอื่นเท่าที่จะรวบรวมได้ และพิจารณาว่าผู้ต้องขังดังกล่าวสมควรที่จะใช้วิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังหรือไม่ ในกรณีที่เห็นสมควรให้คุมขังในสถานที่คุมขัง สมควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีรายละเอียดอย่างไร มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามใด และมีข้อที่ผู้ดูแลสถานที่คุมขังจะต้องปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งความยินยอมของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง จากนั้นให้เสนอผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณา
  • ข้อ 12 เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำได้รับความเห็นของคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะผู้ต้องขังประจำเรือนจำแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
  1. กรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาแล้วเห็นขอบ ให้เสนอแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขัง ให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา
  2. กรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบให้คืนเรื่อง กรณีนี้ไม่ให้เสนอ ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาใหม่จนกว่าจะครบกำหนด 5 เดือนนับแต่วันคืนเรื่อง และได้มีการทบทวน แผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลแล้ว
  • ข้อ 13 ในการพิจารณาของคณะทำงานตามข้อ 4 ให้คำนึงถึงเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบกัน
  1. ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่
  2. พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ
  3. ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ
  4. ความเสี่ยงในการหลบหนี
  5. ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน
  6. ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับ ผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง
  7. ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง
  8. ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง

ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องยึดตามเอกสารที่เรือนจำเสนอ ในการนี้จะเชิญผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้ซึ่งเสนอชื่อเป็นผู้ดูแลสถานที่ คุมขัง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใดมาให้รายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยจะดำเนินการทางโทรภาพ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการใดๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วก็ได้

เมื่อคณะทำงานเห็นสมควรให้ผู้ต้องขังรายใดไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้เสนออธิบดี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ต้องขังดังกล่าวไปคุมขังในสถานที่คุมขัง และเมื่ออธิบดีอนุมัติแล้วให้กำหนดแผนที่ และอาณาเขตสถานที่คุมขังดังกล่าวและประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์

หมวด 4 การคุมขังในสถานที่คุมขัง

  • ข้อ 14 เมื่ออธิบดีอนุมัติให้ผู้ต้องขังรายใดไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่เสนอเรื่องเป็นผู้กำกับสถานที่คุมขัง มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
  1. กำกับดูแลผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่คุมขัง
  2. มอบหมายเจ้าพนักงานเรือนจำไปตรวจสอบสถานที่คุมขัง

กรณีสถานที่คุมขังอยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของเรือนจำจนไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ย้ายผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังเรือนจำที่ใกล้กับสถานที่คุมขังที่สุด ก่อนที่จะให้ไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง และในกรณีนี้ให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่รับย้ายผู้ต้องขังเป็นผู้กำกับสถานที่คุมขังแทน

  • ข้อ 15 เมื่อผู้ต้องขังได้ถูกคุมขังที่สถานที่คุมขังแล้ว ให้ผู้ดูแลสถานที่คุมขังมีหน้าที่ดังนี้
  1. กรณีผู้ดูแลสถานที่คุมขังเป็นข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อธิบดีมอบหมาย ให้มีหน้าที่กำกับดูแล และให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนดไว้ รวมถึงรายงานให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังทราบอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
  2. กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขังเป็นผู้ดูแลสถานที่คุมขัง ต้องดูแลผู้ต้องขัง ให้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนด ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในส่วนของตนที่ได้ให้ความ ยินยอมไว้ ต้องยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำาตรวจดูสถานที่คุมขัง รวมถึงต้องแสดงภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ของผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังเมื่อถูกร้องขอจากเจ้าพนักงาน

หมวด 5 การเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง

  • ข้อ 16 คณะทำงานอาจเสนออธิบดีเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังได้ในกรณีดังต่อไปนี้
  1. ผู้ต้องขังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือฝ่าฝืนข้อห้ามในการคุมขังในสถานที่คุมขัง
  2. มีการฝ่าฝืนข้อ 15 (2) แห่งระเบียบนี้
  3.  มีเหตุที่ทำให้สถานที่คุมขังไม่สามารถใช้คุมขัง หรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังไม่สามารถ ทำหน้าที่ดูแลสถานที่คุมขังได้อีกต่อไป
  4. เหตุที่นำมาพิจารณากำหนดให้คุมขังในสถานที่คุมขังหมดไป หรือได้รับการแก้ไข ด้วยวิธีการอื่นแล้ว

เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังนำตัวผู้ต้องขังกลับมา จำคุกที่เรือนจำทันที แล้วเสนอรายงานต่อกรมราชทัณฑ์

นอกจากเหตุตามวรรคหนึ่ง คณะทำงานอาจเสนอให้อธิบดีเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง เมื่อคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ของทางราชการก็ได้ โดยก่อนที่เรือนจำจะให้ผู้ต้องขังไปคุมขัง ในสถานที่คุมขัง ให้แจ้งข้อสงวนสิทธินี้ให้ผู้ต้องขังทราบด้วยทุกครั้ง

  • ข้อ 17 ในการพิจารณาตามข้อ 16 ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวม พยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม และเสนอความเห็นต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งการ ในการนี้ให้นำข้อ 33 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการเสนอความเห็นต่ออธิบดีเพื่อเพิกถอนการคุมขังตามข้อ 16 (1) และ (2) หากคณะทำงานเห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การฝ่าฝืนข้อห้าม หรือการฝ่าฝืนข้อ 35 (2) ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจ จะเสนอไม่เพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังและให้เรือนจำกำขับผู้ต้องขังหรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังแทนก็ได้

ในการเพิกถอนการคุมขังตามข้อ 16 (3) หากเรือนจำเสนอสถานที่คุมขังแห่งใหม่แทนแห่งเต็ม หรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังคนใหม่แทนคนเดิม คณะทำงานจะเสนองดการเพิกถอนแล้วมีมติให้คุมขังในสถานที่คุมขังแห่งใหม่ หรือภายใต้การดูแลผู้ดูแลสถานที่คุมขังคนใหม่แทนก็ได้

  • ข้อ 18 การเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังให้มีผลนับแต่วันที่ผู้ต้องขังถูกนำตัวมาคุมขังในเรือนจำเป็นต้นไป และให้เรือนจำดำเนินการดังนี้
  1. นับระยะเวลาคุมขังในสถานที่คุมขังเป็นระยะเวลาจำคุก
  2. กรณีถูกเพิกถอนตามข้อ 16 (1) ให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ต้องขังด้วย

หมวด 6 เบ็ดเตล็ด

  • ข้อ 19 ในกรณีมีเหตุร้ายแรงอันอาจจะเกิดภยันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของผู้ต้องขังที่คุมขัง ในสถานที่คุมขัง ผู้บัญชาการเรือนจำอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานเรือนจำนำตัวมาขังไว้ในเรือนจำจนกว่า เหตุดังกล่าวจะสิ้นสุดลงก็ได้ ในกรณีนี้ไม่ให้ถือว่าเป็นการเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง
  • ข้อ 20 ประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง สำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์ ตามข้อ 8 (3) ต้องมีรายการดังต่อไปนี้
  1. คุณสมบัติเฉพาะและลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องขังที่จะถูกคุมขังในสถานที่คุมขัง ตามประกาศนี้ เช่น กำหนดโทษ กำหนดโทษเหลือจำต่อไป อายุ ความเจ็บป่วย ความประพฤติ เป็นต้น
  2. เอกสารที่ทางเรือนจำต้องจัดหา 
  3. เงื่อนไขและข้อห้ามทั้งในส่วนของผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่คุมขัง รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีจะกำหนดให้มีรายการเพิ่มเติมในประกาศนอกจากที่กำหนดไว้ ในวรรคหนึ่งก็ได้

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566

อ่านรายละเอียดหนังสือเวียนสถานที่คุมขังทั้งหมด (คลิ๊กที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related