การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งรัดติดตามผู้รับเหมากิจการร่วมค้า หรือ CNNC ขณะที่ ผู้ถูกเร่งรัด นำจัดทัพแถลงแผนงานปรับปรุงใหม่ ของการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มั่นใจ จะส่งงานตามสัญญาก่อสร้างงานส่วนที่ 1 ทันตามเวลาแน่นอน
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำทีมกลุ่ม กิจการร่วมค้า CNNC และผู้ควบคุมงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 แถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ยืนยันสามารถดำเนินการโครงการฯ ได้เสร็จตามแผนงานปรับปรุงใหม่ ด้าน กทท. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ กำชับคุมเข้มให้เป็นไปตามแผนงานและการบริหารสัญญา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจนักลงทุน
• มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้ สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานในการแถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566
โดยมี เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. ว่าที่ ร.ต.รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายวีระยุทธ์ สว่างแจ้ง รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายสุวัฒน์ พิพัฒนปัญญกูล ผู้จัดการโครงการควบคุมงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และ Mr. Luo Wen ผู้อำนวยการใหญ่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล ร่วมแถลงฯ และมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ บริษัท โชติจินดา คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) กิจการร่วมค้า CNNC ผู้แทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กทท. คณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล รวมทั้งผู้บริหาร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน กทท. และสื่อมวลชน ฯลฯ ร่วมรับฟังการแถลงฯ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.
• โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี
• เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ ตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียู ต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของ ทลฉ. จาก 7 % เป็น 30% เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ
• การลงทุนของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล 2. งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค 3.งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือและระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง
โดย กทท. ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างทางทะเล ร่วมกับกิจการร่วมค้า CNNC (ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน)) โดย กทท. ได้แจ้งให้กิจการร่วมค้าฯ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 รวม 1,460 วัน ซึ่งอยู่ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการฯ ประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรผู้ชำนาญการ รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้การก่อสร้างไม่สามารถ เป็นไปตามแผนการทำงานเดิมและเกิดความล่าช้า
• หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว หน่วยงานภาครัฐออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ตามมาตรการกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดแนวทางในทางปฏิบัติต่างๆ
อาทิ การแก้ไขสัญญาและแนวทางการปรับแผนการทำงานใหม่ ฯลฯ ซึ่ง กทท. ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาตามมาตรการภาครัฐข้างต้น และได้มีการปรับแก้แผนการทำงานใหม่ โดยแผนการทำงานใหม่มีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 กิจการร่วมค้าฯ ดำเนินงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 1 และพื้นที่ ถมทะเลส่วนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ ถมทะเลส่วนที่ 3 มีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 และกำหนดแล้วเสร็จในส่วนที่ 1 ส่วนงานก่อสร้างงานทางทะเล ในวันที่ 29 มิถุนายน 2569 มูลค่าโครงการรวม 21,320 ล้านบาท โดยจะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา (บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด : GPC) ได้ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568 ตามสัญญาเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการท่าเทียบเรือท่าแรก (ท่าเทียบเรือ F1) ในโครงการฯ ภายในปี 2570
• โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ตามแผนการทำงาน ต้องทำงานให้ได้ 15.13% แต่กิจการร่วมค้าฯ สามารถทำงานส่งมอบให้โครงการฯ ได้แล้วที่ 13.26% มีความล่าช้าจากแผนการทำงาน 1.87% อย่างไรก็ตามกิจการร่วมค้าฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ดังนี้
1. เพิ่มจำนวนเครื่องจักรอุปกรณ์
• เดิมโครงการฯ มีเครื่องจักรทางน้ำในโครงการฯ รวมทั้งหมด 39 ลำ ประกอบด้วยเรือขุดหัวสว่าง เรือขุด Grab และเรือบริวาร เรือใช้เรียงหิน เรือที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้มีแผนการนำเครื่องจักรอุปกรณ์เข้ามาขั้นต่ำอีก 25 ลำ ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 17 ลำ และกิจการร่วมค้าฯ จากประเมินสถานการณ์หากยังไม่เพียงพอ จะนำเข้าเพิ่มเติมอีก
• การนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติมนั้น จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณในการขุดลอกโดยจากเดิมเดือนละ 1.4 ล้านลูกบาศเมตร เป็น 2.0 ล้านลูกบาศเมตร รวมทั้งขีดความสามารถในการเรียงหิน จะเพิ่มจากเดิมวันละ 5,000 ลูกบาศเมตร เป็น 14,000 ลูกบาศเมตรต่อวัน นอกจากนี้จะมีการเพิ่มอุปกรณ์ทางบกสำหรับการขนส่งหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล การปรับระดับและบดอัดพื้นที่ถมทะเล และงาน Preloading เช่น รถบรรทุกดัมพ์ รถขุด และเครื่องแทรก PVD รวม 50 ชุด
2. เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงาน
• กิจการร่วมค้าฯ เดิมมีแรงงาน 200 คน ในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนแรงงานอีกเท่าตัว รวมเป็น 400 คน ปัจจุบัน และจะเพิ่มทีมบุคลากรและแรงงานเข้ามาปฎิบัติงานพร้อมกับเครื่องจักรทางทะเล อีก 6 ชุด ประกอบด้วยทีมงาน ทีมทำเขื่อนคันล้อมพื้นที่ 3 จำนวน 2 ทีม (60 คน) ทีมทำงานบดอัดและปรับระดับ จำนวน 2 ทีม (30 คน) ทีมงานปรับปรุงคุณภาพดิน PVD 1 ทีม (10 คน) ทีมขนส่งหิน 1 ทีม (20 คน) รวมแล้วมีบุคลากรและแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและชาวจีนทั้งหมด 120 คน ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเร่งรัดการทำงานให้สอดคล้องกับแผนงานและเครื่องจักรที่นำเข้ามาปฏิบัติงาน
3. ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน
• นอกจากการเพิ่มจำนวนเครื่องจักรและจำนวนผู้ปฏิบัติงานแล้ว กิจการร่วมค้าฯ จะปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน และปรับเวลาทำการของแต่ละช่วงการทำงานให้มากกว่าปัจจุบันซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของการทำงานเดิม
4. การจัดลำดับขั้นตอน (Sequence) ใหม่
• ทีมปฏิบัติการแต่ละทีมต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรและเรือที่เพียงพอ ตามข้อกำหนดของแต่ละกระบวนการในพื้นที่ก่อสร้าง โดยฝ่ายโครงการฯ ผู้รับเหมาจะติดตามผลและประสานงานระหว่างทีมปฏิบัติการต่างๆ เพื่อการทำงานอย่างต่อเนื่องของแต่ละพื้นที่การทำงาน และมีการตรวจสอบเป็นระยะ
5. ปรับปรุงแนวทางบริหารโครงการ
• กิจการร่วมค้าฯ เพิ่มการบริหารจัดการเครื่องจักรและบุคลากรเข้ามาดำเนินการ และมีการปรับปรุงวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแผนงานที่ได้รับอนุมัติ จะทำให้การทำงานในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมั่นใจว่าสามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จเป็นไปตามกรอบระยะเวลาได้
• ทั้งนี้ งานจ้างก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 (งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค) ตามงบประมาณ 7,425 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา
โดยจะมีการยื่นเสนอราคาในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมกราคม 2567 และเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้ว ผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะต้องกำกับการทำงานให้เป็นไปตามแผนบูรณาการงานก่อสร้างของโครงการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ กทท. ต้องส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท GPC ตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้งานจ้างก่อสร้างส่วนที่ 3 (งานก่อสร้างระบบรถไฟ) ตามงบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วนที่ 4 (งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือและระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง) ตามงบประมาณ 2,257.8 ล้านบาท กทท. อยู่ระหว่างดำเนินการ ปรับเอกสารประกวดราคาให้เป็นปัจจุบัน และจะเริ่มประกวดราคาในเดือนเมษายน 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง