ย้อนรอย และทำความเข้าใจ "โศกนาฏกรรมอิแทวอน" Itaewon : เหตุการณ์ที่ ผู้คนเบียดกันตาย จนขาดอากาศหายใจ : บทเรียนที่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก
เทศกาลฮาโลวีน ปี 2022 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สร้างบาดแผลในใจ และ สร้างรอยความเศร้าปนคราบน้ำตาให้กับคนทั้งโลก วันนั้น หากความทรงจำไม่ลางเลือนเกินไป บริเวณสถานบันเทิงในย่านอิแทวอน กรุงโซล เกาหลีใต้ ผู้คนเบียดเสียดกันในตรอกเล็กๆ เกิดเหตุการณ์เหยียบกันเสียชีวิตมากถึง 159 คน และเหตุการณ์นี้กำลังจะเวียนมาครบรอบ 1 ปีแล้ว
โศกนาฏกรรมเหยียบกันตาย "อิแทวอน" Itaewon ถือเป็น บทเรียนที่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม...
ค่ำคืน 29 ต.ค. 2022 ซึ่งถือเป็นช่วงเทศกาลฮาโลวีน ที่ทุกคนกำลังมีความสุข แต่ ณ เวลานั้น มุมหนึ่งในเกาหลีใต้ ที่คราคร่ำนักท่องเที่ยวราว 100,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวต่างหลั่งไหลเข้าไปที่ย่านอิแทวอน Itaewon เพื่อสนุกสนานผ่อนคลาย และปล่อยจอยให้กับชีวิตที่ต้องโดนพิษโควิด-19 เล่นงานมาตลอดในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
ฮาโลวีน 2022 คือ ช่วง เทศกาลฮาโลวีน ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังจากที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ตามข้อมูลจากรถไฟใต้ดินกรุงโซลพบว่า มีผู้โดยสารลงที่สถานีรถไฟใต้ดินอิแทวอนในวันนั้นมากถึง 81,573 คน สูงกว่าสถิติ 23,800 ในสัปดาห์ก่อนหน้า และ 35,950 คนในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 2022 นั่นหมายความ ผู้คนต่างมุ่งหน้ามาที่ อิแทวอน และทุกคนอัดอั้นอยากจะมาฉลองพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อ ผู้คนมากและแน่นเกินไป เกินกว่าจะรับไหว ...โศกนาฏกรรมเหยียบกันตาย จึงเกิดขึ้น ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก
เหตุเหยียบกันเสียชีวิตในตรอกที่ย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืน อิแทวอนในกรุงโซล เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2022 มี ผู้เสียชีวิต ไปถึง 159 คน และบาดเจ็บ 195 คน
ส่วนมากอายุ 20-30 ปี เทศกาลฮาโลวีน กลายเป็น ฮาโลวีนแห่งความเจ็บปวด เสียงร้องไห้ระงม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงความบกพร่องของตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรับมือเหตุ ที่มีการส่งเจ้าหน้าที่เพียง 137 นายเข้าดูแลพื้นที่ซึ่งมีการประมาณการไว้ว่าจะมีนักเที่ยวมารวมตัวกันได้มากถึงหลักแสนคน นั่นหมายความว่า มันไม่พอเพียงเลย
เรื่องการเหยียบกันตาย แบบ อิแทวอน นั้น ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำ ไม่มีใครอยากเจ็บแผลเดิมๆ โดย ทางการเกาหลีใต้ ก็เช่นกัน , โดยในช่วงที่ผ่านมา ก่อน เทศกาลฮาโลวีน 2023 ทางการเกาหลีใต้ ได้ ซ้อมแผนเตรียมการรับมือเหตุไม่คาดฝัน ที่นับว่าเป็นบทเรียนราคาแพงของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อป้องกันสภาวะเบียดเสียดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จนถึงขั้นเหยียบกันตาย
ภาพการจำลองฝูงชนที่อัดแน่นกันในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยมีอาสาสมัคร 150 คน ทดลองเบียดเสียดกันในพื้นที่เพียง 30 ตร.ม. ท่ามกลางการจับตามองของเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมแผนรับมือและป้องกันเหตุโศกนาฏกรรม
ระบบนี้ ประกอบด้วยกล้องวงจรปิด 909 ตัว ในจุดสำคัญๆ ของเมืองถึง 71 แห่ง ที่จะวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของฝูงชน รวมถึงความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ต่างๆ และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หากพบสัญญาณเสี่ยงเกิดอันตราย โดยจะเริ่มใช้งานในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันฮาโลวีน 2023
นี่คือแนวทาง ในการป้องกันจากเกาหลีใต้ , ซึ่งหากมองกลับมาที่ประเทศไทย หากจะคิดวิธีป้องกัน เหตุ เหยียบกันตาย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เช่นกัน เพราะประเทศไทยเอง ก็มีเทศกาลที่มีคนเข้ามาแออัดมากมาย อาทิ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ จนถึงงานประเพณีสงกรานต์ รวมทั้งการจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่ เช่น คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เทศกาลดนตรี การจัดแข่งขันกีฬา ซึ่งมีโอกาสเกิดเหตุคนแออัดกันจนเป็นอันตรายเช่นกัน
โดยหลักการแล้ว , หลักการในการจัดการฝูงชน (Crowd Management) ตามมาตรฐานสากลของ National Fire Protection Association (NFPA)’s 101 Life Safety Code กำหนดนิยาม ความหนาแน่นของสถานที่ (Congestion) จะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณคนตั้งแต่ 2 คนต่อตารางเมตร หากมีมากกว่า 6 คนต่อตารางเมตร ก็เสี่ยงที่จะเกิดฝูงชนเบียดเสียดอัดแน่น หรือ Crowd Crush ได้ ดังในเหตุการณ์เหยียบกันตายที่อิแทวอนที่เกิดขึ้นในช่วงฮาโลวีน ปลายปีที่แล้ว
ดังนั้น ทางป้องกัน , ผู้จัดงาน หน่วยงานท้องถิ่น จังหวัดจะต้องมีการวางแผนปฏิบัติการ ในไทย ไม่ว่าจะเป็นงานอีเวนต์ใดๆ ต้องร่วมกัน กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนและวางบุคลากรเจ้าหน้าที่สำหรับอำนวยความสะดวกและควบคุมความสงบเรียบร้อยของฝูงชน (Crowd Manager)
ในอัตราส่วน 250 คนต่อเจ้าหน้าที่ 1 นาย หรือกรณีผู้มางานกว่า 100,000 คนในงาน จะต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 400 คน
แต่ช่วงเกิดเหตุในโศกนาฏกรรมอิแทวอน คืนแห่งความเศร้าวันนั้น มีตำรวจเกาหลีใต้ เพียง 137 นาย ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งระวังเพียงปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด โดยไม่ได้เตรียมพร้อมการควบคุมฝูงชน หรือจำกัดจำนวนและทิศทางคนที่จะเข้าไปยังจุดเสี่ยงแต่อย่างใดเลย
อีกหนึ่งคำถามสำคัญ คือ หาก เราๆท่านๆ ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ ที่เสี่ยงต่อการเบียดกันตาย หรือ ที่ถูกต้องที่สุด คือ เสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะขาดอากาศหายใจจากการเบียดเสียด เราต้องทำอย่างไร
- เมื่อเข้าไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่มีคนรวมกันอยู่จำนวนมากควรสังเกตทางเข้าออกของสถานที่นั้นๆ รวมถึงช่องทางอื่นๆ ที่อาจใช้เป็นทางออกได้ เช่น ทางออกฉุกเฉิน หรือทางเดินที่แยกออกจากทางเดินหลักซึ่งสามารถเดินทะลุไปยังเส้นทางอื่นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเกิดเหตุคับขัน คนส่วนใหญ่จะพากันเดินกลับไปยังทางเข้าที่พวกเขาเดินเข้ามา การใช้เส้นทางเลี่ยงอาจช่วยให้สามารถออกจากที่เกิดเหตุให้ง่ายและเร็วกว่า
- ประเมินสถานการณ์ หากสัมผัสได้ถึงความเสี่ยงจะเกิดเหตุเบียดกันตาย , เริ่มอึดอัด ไม่สบายตัว หายใจไม่สะดวก ให้มองหาที่โล่ง และออกจากจุดที่เบียดเสียดให้ไวที่สุด
- หากติดอยู่ในฝูงชนจนออกไม่ได้ ให้พยายามรักษาสมดุลของร่างกายเอาไว้ไม่ให้ล้มลง เพราะถ้าพลาดล้มลงไปแล้วโอกาสที่จะลุกขึ้นมายากมาก หากจำเป็นต้องเคลื่อนที่ให้เคลื่อนไปตามคลื่นฝูงชน อย่าพยายามต้านหรือเดินสวน
- เลี่ยงการไหลตามฝูงชนไปในแนวตรง เพราะเสี่ยงที่จะถูกดันมากขึ้นจนหกล้ม แต่ให้ค่อยๆ ขยับเป็นแนวเส้นทแยงมุม หาจังหวะค่อยๆ แทรกตัวออกมาจากกึ่งกลางคลื่นฝูงชน
- ยกแขนขึ้นในลักษณะตั้งการ์ดระดับอกโดยเว้นระยะห่างเล็กน้อย เพื่อป้องกันอวัยวะภายในถูกบีบอัดหรือกดทับ เว้นพื้นที่ให้ทรวงอกได้มีพื้นที่ขยายตัวสำหรับหายใจได้
พยายามควบคุมการหายใจให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด แม้วิธีการนี้จะสามารถช่วยให้คุณหายใจได้สะดวกเต็มที่ แต่ก็ยังพอที่จะถ่วงเวลาเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดออกมาได้
- สำคัญคือต้องระวังอย่าปล่อยให้ตัวเองไหลไปติดแนวกำแพง ผนัง หรือรั้ว เพราะจะกลายเป็นทางตันที่คุณไม่สามารถไปต่อได้ และจะถูกคลื่นฝูงชนบีบอัดด้วยแรงมหาศาลจนหายใจไม่ออก
อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก แออัด และคับแคบ เพื่อเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลด คือวิธีการที่ดีที่สุด และ โศกนาฏกรรมอิแทวอน ก็จะไม่เกิดซ้ำอีก ไม่ว่าจะที่ใด ในทุกมุมโลก
ที่มา : washingtonpost washingtonpost apnews nationtv
ข่าวที่เกี่ยวข้อง