เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไงดี? 1 ก.พ. นี้จะทันไหม? นายกฯ เศรษฐาเคยลั่นไว้ จุลพันธ์ มอบหากไม่ทันจริงๆ ก็เลื่อน พร้อมไปบอกนายกฯ เอง ด้าน ศิริกัญญา ลั้นถ้ายังดึงดันทำต่อ ก็ขอให้ตั้งโครงการประเมินผล เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ และรับผิดรับชอบกับผลของโครงการที่จะเกิดขึ้น
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายเด่นของพรรคเพื่อไทย โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพูดคุยกับรัฐมนตรีของพรรคระหว่างการประชุม สส.นโยบาย ถึงทิศทางและกรอบเวลาของนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” โดยระบุไว้ว่า
"ความคาดหวังของสังคมสูงเหลือเกิน หลังตั้งรัฐบาลแน่นอนต้องเจอกับปัญหาต่างๆ ทั้งภัยแล้ง เอลนีโญ ยาเสพติด ปัญหาปากท้อง รวมถึงเรื่องการดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเบื้องหลังได้ประสานกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้นโยบายนี้ออกมาโดยเร็ว ยืนยันจะแจกเงินหนเดียว และคิดว่าจะทำได้ภายใน 1 กุมภาพันธ์ 2567" (เมื่อ 4 ก.ย. 2566)
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการและอีกหลากหลายฝ่าย ออกมาแสดงความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน?
ล่าสุด นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวิตข้อความระบุถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล โดยระบุว่า "ต้นกำเนิด digital wallet มาจากประเทศญี่ปุ่น"
วันก่อน คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า ใช้งานวิจัยตัวคูณของประเทศอื่นมาเทียบไม่ได้ เพราะไม่เหมือนโครงการนี้ ที่ใส่เงื่อนไขใช้ในรัศมีจำกัด และใช้ได้ 6 เดือน เลยมีนักวิชาการส่งเปเปอร์มาให้
เปเปอร์นี้ทำวิจัยกรณีของญี่ปุ่นในปี 1999 ที่แจกคูปอง 2 หมื่นเยน 31 ล้านใบ ให้ครอบครัวที่มีบุตร และผู้สูงอายุ คูปองใช้ได้เฉพาะร้านค้าในชุมชนเท่านั้น และมีอายุ 6 เดือน เหมือนเป๊ะ
ผลก็คือ ช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้ากึ่งคงทน (เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก) ได้ 0.1-0.2 เท่าของเงินที่ได้เท่านั้น และไม่มีผลช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าไม่คงทน (อาหาร น้ำมัน) หรือสินค้าบริการได้เลย
การจำกัดเวลาใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของน้อยกว่านั้น แต่การใช้ให้หมดตามระยะเวลา ก็อาจไปลดการซื้อสินค้าในอนาคตอยู่ดี การจำกัดรัศมีการใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของในชุมชนน้อยกว่านั้น ถ้าปกติใช้มากกว่าก็ไม่มีผล
"เราไม่จำเป็นต้องเชื่องานวิจัยก็ได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรพูดเรื่อยโดยไม่มีข้อมูลมายืนยัน และถ้ายังดึงดันทำต่อ ก็ขอให้ตั้งโครงการประเมินผล เก็บข้อมูลก่อน-หลังโครงการ เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ และรับผิดรับชอบกับผลของโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วยค่ะ"
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระบวนการ KYC ยังมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นกระบวนการในการพิสูจน์ตัวตน อันนี้ต้องมี การยืนยัน KYC เพราะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมาประชาชนราว 40 ล้านคน ซึ่งเคยผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนนี้ ผ่านทางนโยบายรัฐอื่นๆ ที่ผ่านมา โดยฐานข้อมูลเดิมยังใช้ได้ แต่อีกราว 10 กว่าล้านคน ที่ยังไม่ผ่าน KYC จะต้องเข้ามายืนยันตัวตน เพื่อแจ้งความต้องการในการใช้สิทธิร่วมโครงการ
ส่วนการจัดทำ ซุปเปอร์แอป จะทยอยพัฒนาเป็นระยะ เบื้องต้นเริ่มโอนเงินได้ประมาณไตรมาสแรกปี 2567 การใช้เงินจะไม่ยุ่งยากสำหรับประชาชน ด้วยการใช้สมาร์ทโฟน แสกน QR- Code เพื่อซื้อสินค้าเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ในช่วงเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และเงินงบประมาณปี 67 ออกสู่ระบบล่าช้า กระทรวงคลังยืนยันจะไม่มีระบบการลงทะเบียน แต่จะใช้การกดรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเหมือนเคยดำเนินมาตรการรัฐช่วงที่ผ่านมา
รวมทั้งทางกระทรวงคลัง ยังร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง ป้องกันการใช้เงินผิดเงื่อนไข ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งซื้อสุรา หรือข้อห้ามต่างๆ รวมถึงการยอมโอนเงินดิจิทัลให้ร้านค้า เพื่อรับเงิน 8,000 บาท ยืนยันระบบบล็อกเชนปลอดภัย ตามเช็คการรับโอน การใช้เงินได้อย่างละเอียด
รวมทั้งที่ประชุมอาจมีความจำเป็นต้องหารือในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว รวมทั้งข้อจำกัดทางเทคนิคของผู้พัฒนา ซุปเปอร์แอป ที่อาจต้องใช้เวลาพัฒนา และทดสอบระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าซุปเปอร์แอป จะสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก บนความเสถียร และปลอดภัย
นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยี บล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาระบบ อาจต้องใช้เวลาทดสอบโดยเฉพาะด้านเสถียรภาพ และความปลอดภัย ที่อาจใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาทดสอบระบบที่น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามในโครงการ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทางรัฐบาลตั้งเป้าดำเนินโครงการให้ทันภายในเดือน ก.พ. 2567 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่นายจุลพันธ์ ยืนยันจะต้องดำเนินการให้ทันภายในไตรมาสแรกของปี 2567
“หากไม่ทันจริงๆ ก็เลื่อน ผมพร้อมไปบอกนายกฯ ว่า ยังไม่พร้อมจริงๆ ยืนยันว่า เราได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ตั้งคณะอนุกรรมการ หาข้อสรุปให้คณะกรรมการ หรือถ้าหาข้อสรุปไม่ได้ก็เสนอตัวเลือกให้กับคณะกรรมการตัดสินใจ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ ยังเผยอีกว่า การประชุมคณะอนุกรรมการโครงการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในวันนี้ได้เลื่อนออกไปจากเดิมที่จะมีการประชุมในเวลา 16.00น.
เนื่องจากเมื่อวานฝ่ายเลขาฯ มีการประชุมในหลายหน่วย และยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนในบางส่วน รวมทั้งกระบวนการการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้มีงานเป็นจำนวนมากที่จะต้องดำเนินการ ทำให้วันนี้ยังไม่มีความพร้อมจึงเลื่อนการประชุมออกไปก่อน โดยจะมีการนัดประชุมใหม่ ในวันอังคารที่ 24 ตุลาคมนี้
"มีข่าวออกไปว่าการประชุมชุดใหญ่นัดวันอังคาร ผมเช็คทุกฝ่ายแล้วไม่มีใครบอกไม่มีการประชุม ไม่เคยมีการนัดประชุมวันอังคารผมยังงง ไปเอาข่าวมาจากไหน เพราะเรายังไม่ทำการบ้านส่งเลยแล้วจะประชุมอะไรกัน อันนั้นเป็นข่าวไม่รู้ไปเอามาจากไหนเหมือนกัน" นายจุลพันธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง