svasdssvasds

ดาบสองคมของวาทกรรม 'ชลน่าน' หญิงไทยต้องมีลูก!

ดาบสองคมของวาทกรรม 'ชลน่าน' หญิงไทยต้องมีลูก!

ย้อนดูวาทกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข "หญิงไทยควรมีลูก-สามี" ในห้วงเวลาที่อัตราการเกิดประชากรไทยถดถอย แต่สภาพเศรษฐกิจและสังคมก็ไม่พร้อมต่อการนพัฒนาคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงฝ่ายค้านในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถึงนโยบายด้านสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลเรื่อง Reproductive Health เพราะต้องการใช้กระทรวงสาธารณสุขเป็นจุดกำเนิดและผลักดันเรื่องประชากรเป็นวาระแห่งชาติ เพราะถ้าไม่เพิ่มฐานประชากร เราจะแข่งขันกับใครไม่ได้

“คนไทยไม่ยอมมีลูกครับ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่แต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย” 

หลังจากนั้น วันที่ 15 ก.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ประชุมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาะรณสุขครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการบริหารงาน ซึ่งกำชับให้ทางกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เห็น Quick Win ที่เป็นรูปธรรม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการมีบุตร เจ้าตัวก็ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน Quick Win เพราะได้รับข้อเสนอจากอาจารย์แพทย์บอกว่า

“การส่งเสริมมีลูกไม่ยาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรให้หาคู่สมรสได้ก่อน โดยเฉพาะสุภาพสตรี ทำอย่างไรให้หาที่หาคู่สมรสมาแต่งงานได้ก่อน ยากกว่าการมีลูก”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ทำให้คนตัดสินใจจะมีคู่ครองก็ลำบาก มีคู่ครองก็ตัดสินใจมีลูกลำบาก เพราะคำนึงถึงโอกาสของลูก แต่จะต้องรับผิดชอบสร้างภาวะแวดล้อม สร้างโอกาส ความเป็นไปได้ ขจัดปัจจัยให้ลดน้อยที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเข้ามามีหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ โดยเด็กแรกเกิดต่อปีตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน

วันที่ 19 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน เปิดการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า เดือนตุลาคมทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม เดือนนี้จึงมีความสำคัญกับสุภาพสตรี มะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง ข้อมูลระบุชัดเจนว่าผู้หญิงที่มีลูก 3 คนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคนที่ไม่มีลูก ดังนั้น เรื่องนี้จะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร 

“จึงต้องฝากว่า ต้องรณรงค์ให้เรามีลูก เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม และเพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างประชากรของประเทศด้วย”

ดาบสองคมของวาทกรรม \'ชลน่าน\' หญิงไทยต้องมีลูก!

จากข้อมูลจำนวนราษฎรของประเทศไทยถึงสิ้นปี 2565 มีประชากรสัญชาติไทย 66,080,812 คน มีคนเกิด 502,107 คน และมีคนตาย 595,965 คน แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนตาย มากกว่าคนเกิดมากถึง 93,858 คน อัตราเพิ่มของประชากรไทยติดลบมาตั้งแต่ปี 2564 คาดว่าปี 2566 จำนวนคนตายน่าจะถึงหลัก 6 แสนคน และถึงหลัก 7 แสนรายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เท่ากับว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว และปี 2566 ประชากรที่เกิดในปี 2506 จะเข้าสู่วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นปีแรก มีคนเกือบล้านคนเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 20% อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อ 1 ใน 3 ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ

ขณะที่กรุงเทพธุรกิจได้ให้เหตุผลที่คนไทยเริ่มตัดสินใจมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้น ความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง

นอกจากนี้ หลายคนยังคาดหวังว่า หากจะเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม ประกอบกับในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน โดยสาเหตุหลักของการเกิดสังคมไร้บุตรหลานนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรในจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก

ขณะที่การเน้นย้ำให้ผู้หญิงมีลูก ผลิตประชากร เป็นเหมือนการผลิตซ้ำภาพจำทางเพศที่การเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ต้องมีสามีและมีลูก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม หรือสุขภาวะของร่างกาย ส่วนหนึ่งอาจจะยิ่งสร้างความเป็นปกติและความไม่เป็นปกติในสังคม

อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้มีการเพิ่มประชากร ต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติการมีลูกให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มสวัสดิการ และมาตรการจูงใจ เช่น สิทธิการลาคลอด มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเด็ก 0-5 ปี นโยบายเรียนฟรี เงินสนับสนุนเด็กเล็ก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ในเวลากลางวันที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กเกิดใหม่ทุกคน

 

 

related