สดร.เผย ยานไซคี (Psyche) ของ NASA ได้ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) ของ SpaceX มุ่งหน้าสู่ ดาวเคราะห์น้อยโลหะ ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ( สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ยาน Psyche เดินทางสู่อวกาศ มุ่งหน้าสู่ ดาวเคราะห์น้อยโลหะ ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2023 เวลา 21:19 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ยานไซคี (Psyche) ของ NASA ได้ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) ของ SpaceX จากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่รัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางบนเส้นทางยาว 3,500 ล้านกิโลเมตรของยานไซคีสู่ดาวเคราะห์น้อยโลหะที่เป็นเป้าหมายและมีชื่อเดียวกับตัวยาน ซึ่งโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (asteroid belt) ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
"ยานไซคี" เป็นยานสำรวจระบบสุริยะลำแรกของ NASA ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอนเฮฟวี ภายในเวลา 2 นาทีครึ่งหลังเริ่มปล่อยจรวด ท่อนจรวดทางด้านข้างของจรวดฟัลคอนเฮฟวีได้หยุดการทำงาน ก่อนจะแยกตัวออกมาและร่อนลงสู่บริเวณชายฝั่งรัฐฟลอริดา และที่ระยะเวลา 4 นาทีหลังปล่อยจรวด ท่อนจรวดหลักท่อนแรกของจรวดฟัลคอนเฮฟวีหยุดการทำงานแล้วแยกตัวออกจากท่อนจรวดหลักท่อนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ส่งยานไซคีสู่อวกาศต่อไป ก่อนที่ท่อนจรวดท่อนนี้จะแยกตัวจากตัวยานไซคีที่ระยะเวลา 62 นาทีครึ่งหลังการปล่อยจรวด
หลังจาก ยานไซคี แยกตัวจากท่อนจรวดท่อนสุดท้ายแล้ว ตัวยานได้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงกางแผงเซลล์สุริยะออกมา จนความยาวของตัวยานเท่ากับความยาวของสนามเทนนิส
ยานไซคี ยังเป็นยานสำรวจระบบสุริยะลำแรกของนาซาที่ติดตั้งระบบเครื่องยนต์ขับเคลื่อนยานด้วยไฟฟ้า ที่ผลิตจากแผงเซลล์สุริยะ
แต่เดิมนั้น ยานไซคีมีกำหนดส่งยานขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 แต่ทาง NASA ชะลอแผนการเนื่องจากเกิดปัญหากับระบบซอฟต์แวร์ของยาน จึงเลื่อนกำหนดการปล่อยจรวดมาเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2023 แล้วประสบปัญหาเรื่องระบบควบคุมความร้อนในเครื่องยนต์แก๊สเย็นของยาน จนเลื่อนมาเป็นวันที่ 12 ตุลาคม แต่เพราะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงต้องเลื่อนกำหนดการปล่อยจรวดส่งยานมาเป็นวันถัดมา
ยานไซคี มีเป้าหมายในการสำรวจ "ดาวเคราะห์น้อยไซคี" (ชื่อทางการ : 16 Psyche) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยโลหะที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดประมาณ 278 x 232 x 164 กิโลเมตร ทางนักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มากนัก แต่พบว่าพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นเหล็กและนิกเกิลเป็นส่วนใหญ่ และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อยโลหะดวงนี้เคยเป็น "แก่นดาว" ของวัตถุที่จะก่อตัวไปเป็นดาวเคราะห์ (protoplanet) นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการศึกษาดาวเคราะห์น้อยไซคีอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ทำความเข้าใจถึงการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ได้ดีขึ้น
ยานไซคีจะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ระหว่างเดินทางมุ่งหน่าสู่ดาวเคราะห์น้อยไซคี โดยจะเฉียดใกล้ดาวอังคารในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2026 เพื่อปรับวิถีและอัตราเร็วของยาน ก่อนเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยไซคีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2029
เมื่อถึงดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายแล้ว ยานจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ตรวจสอบและเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนเริ่มสำรวจดาวเคราะห์น้อยไซคีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2029 ทั้งการทำแผนที่และวิเคราะห์พื้นผิวดาวเคราะห์น้อยในระยะเวลาประมาณ 21 เดือน
ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง