svasdssvasds

ราชทัณฑ์ แจงภาพ "ทักษิณ" บนเตียงผู้ป่วยเป็นของจริง กำลังไป CT SCAN - MRI

ราชทัณฑ์ แจงภาพ "ทักษิณ" บนเตียงผู้ป่วยเป็นของจริง กำลังไป CT SCAN - MRI

กรมราชทัณฑ์ ยอมรับ แพทย์ส่ง "ทักษิณ" เข้า CT SCAN - MRI แจงอดีตนายกฯ อาการล่าสุดปลอดภัย ญาติและครอบครัวรับทราบแล้ว จ่อพิจารณาเสนอปลัดยุติธรรม หากต้องนอนพักรักษาเกิน 60 วัน แพทย์มีหน้าที่ส่งความเห็นคำวินิจฉัย

กรมราชทัณฑ์ แจงภาพ "ทักษิณ" นอนอยู่บนเตียงรถเข็นของผู้ป่วย

จากกรณีปรากฏภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย พบเป็นภาพการเคลื่อนย้ายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดี อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่ ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ

โดยในภาพถ่ายยังพบว่านายทักษิณอยู่ในชุดคนไข้สีฟ้า สวมหน้ากากอนามัยนอนอยู่บนเตียงรถเข็นของผู้ป่วย อีกทั้งยังมีบุคคล 2 ราย ยืนขนาบข้างเตียงผู้ป่วย ลักษณะคล้ายบุตรสาวทั้งสองคนนั้น

 

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าเมื่อช่วงช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 10.00 น. ทีมแพทย์ที่ทำการรักษา และดำเนินการประเมินสุขภาพของนายทักษิณได้มีการนำตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ไปทำการ CT Scan (ซีทีสแกน) และ MRI (เอ็มอาร์ไอ) และดำเนินการเสร็จสิ้นในเวลา 11.00 น.

สำหรับประเด็นการส่งตัวนายทักษิณไปทำซีทีสแกนและเอ็มอาร์ไอ ทางครอบครัวรับทราบหรือไม่นั้น นายสหการณ์ ยืนยันว่า ปกติญาติจะสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ทางญาติจะรับทราบกระบวนการการรักษาทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ทางแพทย์ผู้ทำการรักษายังไม่ได้มีการแจ้งกลับทางราชทัณฑ์เพิ่มเติมว่าจะมีการขยายระยะเวลาการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณไปสิ้นสุดที่ห้วงเวลาใด

 

 

อาการ "ทักษิณ" ปลอดภัย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ขณะนี้อาการปลอดภัย กลับไปนอนพักรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยดังเดิม ซึ่งการรักษาทั้งหมดเป็นไปตามระบบการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วย ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์

หลังจากนี้ในช่วงวันที่ 22 ต.ค.ที่จะถึง นายทักษิณ จะเข้าสู่ขั้นตอนการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ เกินกว่า 60 วัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทางทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องนำส่งความเห็น การวินิจฉัยเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จากนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาความเห็นดังกล่าวของแพทย์ และนำเสนอไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้น เพื่อให้รับทราบถึงกระบวนการการรักษาผู้ต้องขังป่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related