ประชาชนยังเฝ้ารอให้ราคาสินค้าในท้องตลาดลดตาม ราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟ ที่จะลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต้นทุนลด และมีโอกาสจะทำให้ “ราคาสินค้า” จะลดตามได้
หลังมีข่าวดีไปแล้วเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท นอกจากนี้ให้ลดราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2 บาท/ลิตร ยังเหลือลิตรละ 29.94 บาท เป็นไปตามมติ ครม.นัดแรก โดยเป็นการใช้การลดภาษีสรรพสามิต และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯบริหารจัดการ
แน่นอนว่าการลดราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลงตาม เช่น ต้นทุนการผลิตในโรงงาน ต้นทุนค่าขนส่ง แต่…ในทางกลับกันผู้บริโภคอย่างเราๆก็มีความหวังที่สินค้า และบริการอื่นๆในท้องตลาดจะปรับลดลงตามต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า คนไทยต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าหลายประเภทในตลาดมีราคาที่สูง ในขณะที่เงินเดือน และรายได้ของคนไทยยังคงที่ หรืออัตราการว่างงานยังมีให้เห็น
โดยนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ที่จะเริ่มตั้งแต่งวดบิลเดือนกันยายน 2566 ทันทีนั้น ส่วนตัวมองว่า ทางด้านจิตวิทยาจะมีผลต่อราคาสินค้าให้ทรงตัว หรือปรับลดลงได้ 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และสต๊อกสินค้าเดิมที่มีอยู่ เนื่องจากต้นทุนค่าไฟ คิดเป็นต้นทุน 10-20% ของต้นทุนราคาสินค้า
ซึ่งหากมีการลดราคาสินค้าได้ก็ทำให้คนไทยมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจรายย่อยให้มีสภาพคล่องที่ดีมากขึ้นสำหรับมาตรการลดค่าไฟครั้งนี้ มองว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะยาวยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสม
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากดำเนินการลดค่าไฟเหลือ 3 บาท ได้จริงจะยิ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะการที่ต้นทุนพลังงานทั้งดีเซล ค่าไฟ ปรับลดลง ในส่วนของราคาสินค้าที่จะลดลงนั้นต้องเข้าใจโครงสร้างต้นทุนการผลิตที่ต้องดูจากสต๊อกวัตถุดิบด้วย โดยสินค้าประเภทบริโภคที่เป็นอาหารสดซึ่งเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านโดยตรงที่ผ่านมาเมื่อต้นทุนเพิ่มได้มีการปรับขึ้น เช่น อาหารจากจานละ 50 บาท ก็เป็นจานละ 60-70 บาท โดยอาหารเหล่านี้จะสต๊อกสินค้า 1-3 วัน สามารถลดราคาลงได้ภายใน 15 วันทันที
ในส่วนสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมจะต่างกันไป โดยหากเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศจะมีอัตราการสต๊อกวัตถุดิบเฉลี่ย 30-60 วัน กรณีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเฉลี่ยจะสต๊อกราว 90-100 วัน ดังนั้นการปรับราคาสินค้าจะเป็นไปตามรอบสต๊อกวัตถุดิบที่จะทยอยปรับลดลง
สำหรับสินค้าภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคและบริโภค บางรายการก็เป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องขออนุญาตปรับราคาขายปลีก อีกทั้งสินค้าบางอย่างก็เป็นไปตามกลไกการแข่งขันในตลาด หากมีการแข่งขันสูงก็ต้องสู้ด้วยราคาอยู่แล้ว ดังนั้นแต่ละอุตสาหกรรมก็ต่างกันไป
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ให้เวลากรมการค้าภายใน 15 วัน ศึกษาดูโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้า หรือต้นเดือน ต.ค.2566 นี้จะได้ข้อมูลว่าต้นทุนสินค้าใดเป็นค่าไฟฟ้าและดีเซล มีสัดส่วนเท่าไร ซึ่งจะนำข้อมูลมาหารือกับผู้ประกอบการว่าจะมีรายใดลดราคาได้หรือไม่ โดยเน้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนเท่านั้น จะหารือกับผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตสินค้า ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งต่างๆ ยืนยันว่าการลดราคาสินค้าจะดูแลให้มีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง