ดาวเทียม THEOS-2 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ดาวเทียมสำรวจโลก จากคำนิยามของ GISTDA ได้อธิบายไว้ว่า เป็นดาวเทียมถ่ายภาพคล้ายๆ กับการถ่ายภาพทางอากาศ แต่เป็นการถ่ายภาพจากอวกาศด้วยดาวเทียม โดยดาวเทียมสำรวจโลกได้รับการออกแบบมาเพื่อการสำรวจที่แตกต่างกันไปหลากหลายประเภท
โดย ดาวเทียม THEOS-2 จัดเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีรูปแบบในการสำรวจลักษณะภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ และการทำงานของดาวเทียม THEOS-2 จะใช้หลักการสำรวจข้อมูลจากระยะไกล หรือ Remote Sensing ซึ่งใช้คลื่นแสงที่เป็นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า ทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางส่งผ่านระหว่างวัตถุเป้าหมาย และอุปกรณ์บันทึกข้อมูล อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียม ซึ่งมักจะได้รับการออกแบบให้มีความสามารถถ่ายภาพ และมีความหลากหลายในรายละเอียดของภาพได้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการจำแนกประเภทของวัตถุที่สำคัญๆ
การส่ง THEOS-2 ถือเป็นการส่ง “ดาวเทียมรายละเอียดสูงมาก” ขนาด 50 เซนติเมตร ครั้งแรกของประเทศไทย และยังเป็นดาวเทียมระดับปฎิบัติการในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชต
THEOS-1 หรือ ไทยโชตเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 จากฐานปล่อยจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย โดยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งดาวเทียมชนิดนี้
ไทยโชต ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลภาพถ่ายร่วมกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ จากทั่วโลก ได้ข้อมูลมหาศาลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ด้วยข้อมูลที่มากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราก็ยิ่งสามารถเฝ้าระวังและหาหนทางแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติได้ดีขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ วันนี้ ไทยโชตหมดอายุการใช้งานแล้วจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 5 ปี แต่ปัจจุบันก็คงยังทำงานได้อยู่แม้จะเข้าสู่ปีที่ 15 แล้วก็ตาม
สำหรับ THEOS-2 จัดเป็น “ดาวเทียมรายละเอียดสูงมาก” ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 10 ปี ถ้าจะนั่งนับนิ้วก็จะใช้งานได้ถึงปี 2576 แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบการใช้งานจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและพัฒนาดาวเทียมจากบริษัทแอร์บัสฯ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทำให้เรามั่นใจว่า THEOS-2 จะใช้งานได้นานเท่ากับหรือมากกว่าไทยโชต
THEOS-2 ถึงอวกาศแล้วทำงานได้เลยไหม? คำตอบคือ ยัง เพราะต้องทดสอบการทำงานบนอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินก่อน ซึ่งจะเป็นการทดสอบกับสถานการณ์จริงๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน ถึงจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบครับ แต่จริงๆแล้ว หลังจากขึ้นไปประมาณ 8-10 วัน ถ้าเกิด Disaster ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้เลย แต่คุณภาพอาจจะยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพของข้อมูล (ไทยโชตเริ่มให้บริการ 1 มิถุนายน 2552)
THEOS-2 พร้อมแล้วสำหรับการออกเดินทางในครั้งนี้ ระหว่างทางต้องเจอแรงกดดันจากสภาวะต่างๆ มากมาย เราเชื่อมั่นว่าน้องจะถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแน่นอน
ดาวเทียม THEOS-2 ใช้วัสดุหลักถึง 3 ประเภท ทั้งอลูมิเนียมเกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุอลูมิเนียมจะถูกออกแบบเป็นโครงสร้างหลักของดาวเทียม เพื่อใช้เป็นโครงหลักในการยึดอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน และยังเป็นส่วนที่รับแรงมากที่สุดของดาวเทียม ส่วนแผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์จะเป็นโครงสร้างของแผงโซลาเซลล์ด้านนอก ที่เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้การเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิด จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละวัสดุ เพื่อลดน้ำหนักโดยรวมของดาวเทียม รวมถึงลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบดาวเทียมนั่นเอง
ดาวเทียม THEOS-2 จัดได้ว่าเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรประเภทรายละเอียดสูงมาก (Very High Resolution) ด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตร หมายถึง 1 จุดภาพหรือพิกเซล เทียบเท่ากับระยะบนพื้นโลกจริง 50x50 เซนติเมตร ในทางกลับกันวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50x50 เซนติเมตร ก็จะสามารถเห็นได้ในภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS-2 เช่น กลุ่มคน รถยนต์ สะพาน เรือขนาดใหญ่ ตรอกซอกซอย หรือแม้กระทั่งทางเดินเท้ากลางป่าใหญ่ เป็นต้น
คุณภาพของภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS-2 นับได้ว่ามีความชัดเจนและมีศักยภาพเทียบเท่ากับกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดสูงมากที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เช่น WorldView GeoEye และ Pléiades เป็นต้น ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยข้อมูลภาพถ่ายของดาวเทียมกลุ่มนี้ดีอยู่แล้วผ่านแอพลิเคชั่นแผนที่ออนไลน์ที่ให้บริการภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูงผ่านมือถือของทุกคนนั่นเอง ไม่แน่ว่าอีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 บนแอพลิเคชั่นเหล่านี้ได้สักวัน
ดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรสัญชาติไทย ควบคุมดูแลโดยเหล่าวิศวกรดาวเทียมจาก GISTDA ที่ผ่านโปรแกรมการพัฒนาบุคลากรภายใต้โครงการธีออส 2 มีการวางแผนถ่ายภาพอย่างเป็นระบบตามภารกิจโดยเจ้าหน้าที่ GISTDA ที่มีความชำนาญการ ทั้งหมดปฎิบัติงานอยู่ที่สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินและสถานีควบคุมดาวเทียมตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ใดก็ตามในประเทศไทยหรือแม้กระทั้งในพื้นที่ของประเทศอื่น GISTDA จะสามารถโปรแกรมดาวเทียม THEOS-2 ให้ถ่ายภาพพื้นที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทันที และที่แตกต่างจากเมื่อก่อนคือเราจะสามารถติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ได้อย่างต่อเนื่องหรือถ่ายซ้ำทุกๆวัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เช่น การติดตามสถานการณ์ไฟป่า การติดตามเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตเมือง การประเมินความเสียหายจากดินถล่ม เป็นต้น
ศักยภาพของดาวเทียม THEOS-2 ที่สามารถถ่ายภาพแบบรายละเอียดสูงมากได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย จะทำให้ประเทศของเรามีแหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ละเอียดและทันสมัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมจะให้รายละเอียดที่ครบถ้วนและมีความถูกต้องเชิงตำแหน่ง ซึ่งนี่คือข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยและนักพัฒนาที่ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการรังสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มความมั่นคงในชีวิตของประชากรไทย เช่น ระบบขนส่งอัจฉริยะ ที่ต้องอาศัยข้อมูลประเภทถนนที่อัพเดทและมีความถูกต้องเชิงตำแหน่งสูง เป็นต้น
หนึ่งในการพัฒนาที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีความทันสมัยนั่นก็คือ การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลและนวัตกรรมต่างๆเพื่อการจัดการเมืองให้มีความมั่นคงและมีความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของประชากร เช่น ระบบขนส่งสาธารณะแบบอัจฉริยะที่สามารถติดตามรถแบบเรียลไทม์และแม่นยำ ระบบวางแผนเส้นทางโดยใช้ข้อมูลการจราจรและสภาพถนนในเวลาจริงเพื่อแนะนำเส้นทาง ระบบจัดการสาธารณูปโภคแบบอัตโนมัติ เป็นต้น ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะ
คาดการณ์ว่าตลอดปี ค.ศ. 2023 มูลล่าของตลาดซื้อขายภาพถ่ายจากดาวเทียมทั่วโลกอยู่ที่ 4.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในอีก 5 ปีข้างหน้ามูลล่าของตลาดจะโตขึ้นไปถึง 7.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดคือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เนื่องจากที่ผ่านมาภาพถ่ายจากดาวเทียมยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากคุณสมบัติคลอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่า ดังนั้นเมื่อเทียบราคาต่อตารางเมตรแล้วยังคงมีราคาที่คุ้มค่ากว่าภาพถ่ายจากกระบวนการอื่นๆ ประกอบกับความต้องการติดตามการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกในสถานการณ์ต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบันและภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงยังคงเป็นที่ต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเนื่องด้วยความต้องการข้อมูลที่ทันสมัย
การที่สังคมเราค่อยๆเปลี่ยนเป็น Smart city จะช่วยขับเคลื่อนตลาดของการซื้อขายข้อมูลจากดาวเทียม เนื่องจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยสนับสนุนจำนวนมหาศาล เช่น Internet of Things (IoT) รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่จะมีส่วนช่วยในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์และลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่ประเทศไทยมี THEOS-2 ทั้งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้เล่นตัวสำคัญในตลาดซื้อขายภาพถ่ายจากดาวเทียมในระดับภูมิภาค และช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ๆขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
คำว่า “อวกาศเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว” ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องจริงที่มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรแบบรายละเอียดสูงมาก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในประเทศไทย ทั้งในด้านการประเมินความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้แก่ภาคเกษตร เช่น ข้อมูลอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่ลุ่มที่อัพเดทด้วยภาพจาก THEOS-2 ทำให้ผลการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นในยามวิกฤติ หรือการพัฒนาระบบตรวจสอบสุขภาพพืชผลทางการเกษตรแบบรายแปลงกับการวิเคราะห์ที่ละเอียดขึ้นด้วยข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 เป็นต้น
อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนโดยเฉพาะสตาร์อัพรุ่นใหม่ที่มีพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์สูงได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 เนื่องจากในอดีตการเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงของดาวเทียมจากต่างประเทศ ต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงมาก ดังนั้น ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะให้เกิดกิจการอวกาศหรือนวัตกรรใหม่ที่จะช่วยนำพาประเทศไทยสู่อนาคตที่ดีขึ้น และส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในที่สุด
ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง