ส่อง 4 กลยุทธ์ใหม่ “สยามพิวรรธน์” ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย ขยับทัพลุยธุรกิจใหม่ ต่อยอดของเดิมเต็มสูบ เชื่อนักท่องเที่ยวคนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ และการบริการที่ครบครันขึ้น
เชื่อว่าหมุดหมายหนึ่งในการท่องเที่ยว และ Shopping ของนักท่องเที่ยวไทย และต่างชาติ ในการมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก คือการได้มา Shopping ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ อย่างสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งทั้งหมดบริหารงานโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของ และผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ล่าสุดนางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดเผยว่า ได้ประกาศยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ผ่าน 4 Strategic Pillars ย้ำจุดแข็งในการเป็นผู้สร้าง Global Destinations อันดับหนึ่งของประเทศไทย ดังนี้
ยิ่งใหญ่เหนือความคาดหมาย เสริมแกร่งผู้นำในตลาด Luxury retail ด้วยการผนึกกำลังกับ Luxury brand ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเตรียมเปิดร้าน Luxury brands ใหม่เพิ่มเติมถึง 20 ร้านค้า ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นสาขาแรกในประเทศไทย อีกทั้งมีคิวจัด Pop-up store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ ไปจนถึงสิ้นปี 2567 รวมทั้งบรรดาลักซ์ซูรี่แบรนด์ทุกค่าย เตรียมขยายพื้นที่กว่าเท่าตัว ให้เป็น Iconic store ที่ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยาม ในปี 2567 อีกด้วย
โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก โดยใช้พื้นที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม เป็นสถานที่จัดงานEvent มาตรฐานระดับโลกหรือการประชุมนานาชาติ
ทั้งนี้ในปีนี้ได้รองรับงานสำคัญรวมกันกว่า 40 งาน และมีการจองใช้ในปี 2567 แล้วมากถึง 70% โดยสยามพิวรรธน์จะร่วมมือกับพันธมิตรใน Global Ecosystem ประกอบด้วย พันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจทั้งสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมธุรกิจ MICE และสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติของ S/E Asia นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ของโลกรายหนึ่งที่จะมาร่วมลงทุนสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับในไตรมาส 4/2566 จะลงทุนจัดกิจกรรมระดับชาติครั้งยิ่งใหญ่ในทุกศูนย์การค้ารวมกันถึง 40 กิจกรรม ด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกสื่อทั่วโลก จึงมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องการมาชมและสนุกสนานร่วมกัน
โดยเตรียมแผนเสนอรัฐบาลที่จะปั้นให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ S/E Asia ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย โดยจะร่วมทำงานกับภาครัฐในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันสยามพิวรรธน์มีนโยบายที่จะเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2569 ด้วยพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดานักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่นำสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ ของไทย เพื่อนำเสนอ Soft power ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ และอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs และพ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด จำนวนกว่า 6,000 ราย มารวมตัวกันนำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่างๆ ผ่านเมืองสุขสยาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่าวันละ 70,000 คน และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน social media ทั่วโลก
ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์มีถึง 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 โดยมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน เพิ่มขึ้นจาก 5,500 บาท/คน/วัน ในปี2565 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวคุณภาพจากตะวันออกกลางเข้ามาจำนวนมาก
นางชฎาทิพ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปี 2566 ประเทศไทยจะมียอดนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันสยามพิวรรธน์ได้ทุ่มงบจัดกิจกรรมในไตรมาส 4/2566 ทุกศูนย์การค้าด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นแม่เหล็กให้ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ภายในสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 20-22 ล้านคน หนุนรายได้ในไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 3/2566
อย่างไรก็ตามสยามพิวรรธน์พร้อมที่จะผสานพลังทุกภาคส่วน สนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์จุดหมายปลายทางของโลก ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานกับประชาชนจำนวนมาก ส่งผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ MICE และบริการที่จะได้ประโยชน์จากการมาเยือนของชาวต่างชาติ
“สยามพิวรรธน์จะเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง โดยเตรียมอัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4/2566 และเตรียมจัดงบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวในปี 2567 เพื่อเดินเครื่องหนุนการท่องเที่ยวของไทยตามนโยบายของรัฐบาล โดยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมสร้างปรากฏการณ์ ปักหมุดให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่ต้องมาเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทั่วโลก” นางชฎาทิพ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง