มติวิป 3 ฝ่าย เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. นี้ ให้ สส.-สว. อภิปราย 5 ชั่วโมง ก่อนลงมติบ่าย 3 ชี้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพราะ รธน. ไม่ได้กำหนดไว้ ส่วนญัตติด่วนของ โรม ที่ขอทบทวนเสนอชื่อพิธาซ้ำ เสนอได้ แต่ใช้อำนาจประธานปัดตกได้ โดยศาล รธน. ไม่ได้สั่งให้สภาฯทบทวน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายตัวแทนวิป 3 ฝ่ายหารือ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. 66
หลังการหารือ 2 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. จะเริ่มเวลา 10:00 น. โดยกรอบระยะเวลาการอภิปรายเกี่ยวกับ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชม. แบ่งเป็น สว. 2 ชม. และ สส. ไม่เกิน 3 ชม. พร้อมลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. โดยคาดว่า 17.30 น. ก็คงจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยประธานฝ่ายกฎหมายของสภาได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์
อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของ คณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับรัฐสภาปี 2563 มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งรายละเอียด มีในบันทึกการประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 63 และมีมติของที่ประชุมเมื่อ 24 ก.ค. 63 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้นประธานรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เช็กสัญญาณ การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย คาดยังแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่ลงล็อก
ด่วน! รวมไทยสร้างชาติร่วมเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ยังไม่มีคุยเรื่องรมว.
"พิธา" ยันไม่ยื่นศาลรธน.เอง ปมเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ ปัญหาที่สภาก็ควรแก้ที่สภา
ส่วนการเสนอญัตติด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้มีการทบทวนมติที่ประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 66 เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้นายรังสิมันต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ ถึงการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าตามข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ เพราะหากมีการทบทวนจะเกิดปัญหา ว่ามติของสภาที่ออกไปสามารถทบทวนได้เรื่อยๆ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการลงมติและมีปัญหา
ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้ใช้อำนาจของประธานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับข้อที่ 5 และ 151 ประกอบ คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่นำเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นที่มีการทบทวนก็จะเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้