Manipulator (การชักจูงทางจิตวิทยา) การควบคุมหรือครอบงำความรู้สึกของผู้อื่นให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ อาศัยอิทธิพลทางอารมณ์และจิตใจมาเป็นกลไกทำให้อีกฝ่ายสับสนและคล้อยตาม
จากกรณีที่ในทวิตเตอร์มีการรีทวีตและวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @youaretofuu ของ น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย อดีตแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มทะลุวัง กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง แกนนำกลุ่มทะลุวัง ในอดีตที่ผ่านมา โดยระบุว่า
"เราเคยเป็นหนึ่งในเด็กที่บุ้งเอามาดูแลเหมือนหยก รู้จักกันตั้งแต่สมัยอยู่ (กลุ่ม) นักเรียนเลว ตอนนั้นที่บ้านเรามีปัญหาทำให้ไม่มีบ้านอยู่ โดนคดีมันต้องมีผู้ปกครอง บุ้งมาเป็นผู้ปกครองแทนพ่อแม่ที่ดูแลเราไม่ได้ บุ้งก็รับปากเรากับแม่เราว่าจะดูแลเราอย่างดี
บุ้งดูแลเราอย่างดีในช่วงแรกที่อยู่ด้วยกัน เรายังคงอยู่กับบุ้งเพราะไม่รู้จะไปอยู่ไหน บ้านก็ไม่มีให้กลับ ตอนนั้นเราเริ่มสัมผัสได้ถึงความรุนแรงในบ้านที่อยู่กับบุ้ง การถูก Child Grooming (การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ) การโดนมินิพูเลท (manipulate คือ โดนหลอกใช้) และการขูดรีดผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในฐานะเยาวชนเพราะเราอายุแค่ 16 ปี
เราเคยเป็นหนึ่งในเด็กที่บุ้งเอามาดูแลเหมือนหยก รจ.กันตั้งแต่สมัยอยู่นักเรียนเลว ตอนนั้นที่บ้านเรามีปัญหาทำให้ไม่มีบ้านอยู่+โดนคดีมันต้องมีผปค บุ้งมาเป็นผปค.แทนพ่อแม่ที่ดูแลเราไม่ได้ บุ้งก็รับปากเรากับแม่เราว่าจะดูแลเราอย่างดี (1) #ทะลุวัง pic.twitter.com/bGyhatwTxV
— Poy | i don’t like tofuu🍟 (@youaretofuu) August 8, 2023
Manipulator คืออะไร
Manipulator หมายถึง "ผู้ปลุกปั่น" หรือ "ผู้บงการ" คนประเภทนี้จะพยายามใช้เทคนิคบางอย่างในการปั้นแต่งคำพูดหรือสร้างสถานการณ์ หรือการชักจูงทางจิตวิทยา ซึ่งก็คือการควบคุมหรือครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ โดยจะอาศัยอิทธิพลทางอารมณ์และจิตใจมาเป็นกลไกทำให้อีกฝ่ายสับสนและคล้อยตาม เพื่อบงการคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• วิธีรับมือเมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก ตามหลักนักจิตวิทยา
• "เล่าได้เลย" ชวนพูดคุยกับนักจิตวิทยา ผ่านเพจ Club Wellness
• เหตุแห่งความเกรียนหลังคีย์บอร์ดอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา
วิธีที่ผู้ครอบงำ (manipulator) ใช้บิดเบือน หรือชักจูงการรับรู้สภาวะความจริง อาจเป็นการใช้ผลรายงานที่ฉ้อฉล การชี้ชวน การโน้มน้าว หรือการล่อลวงอย่างอื่นๆ รวมไปถึงทำให้ยอมศิโรราบไม่ว่าจะโดยการบังคับข่มเหง (abuse) หรือโดยสมัครใจ
การครอบงำทางจิตวิทยาเป็นการใช้อิทธิพลทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความหวังดีก็ได้ เช่น การที่แพทย์ หรือสมาชิกในครอบครัว พยายามโน้มน้าว หรือหว่านล้อมชักจูงบุคคลให้เปลี่ยนพฤติกรรม หรือแก้ไขลักษณะนิสัยที่ไม่ดีของตน
ทั้งนี้การทำงานของคำพูดจาก Manipulator จะแตกต่างกับการออกคำสั่งทั่วไป เช่น เวลาที่หัวหน้ามอบหมายงานเป็นคำสั่ง ลูกทีมจะรู้สึกไม่พอใจ และมองหัวหน้าในแง่ลบทันที แต่คำพูดของ Manipulator จะเป็นการออกคำสั่งทางอ้อม กระตุ้นให้ลูกทีมรู้สึกว่าต้องทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิดมาก ส่วนความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อหัวหน้าจะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
แฮร์ริสัน โมนาร์ท นักเขียนของ The New York Times ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คำพูดของ Manipulator เป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่ได้ผลแค่ชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ฟังจะเริ่มตระหนักว่า ตัวเองกำลังรู้สึกผิดในความผิดที่ไม่ได้ก่อ และต่อต้าน Manipulator ในที่สุด
ส่วนการโน้มน้าวใจ คือการที่ผู้พูดพยายามทำให้ผู้ฟังตัดสินใจด้วยตัวเองตามความต้องการของผู้พูด แต่ผู้ฟังสามารถปฏิเสธเมื่อไม่เห็นด้วยได้
พาไปรู้จัก 6 กลวิธีการชักจูงทางจิตวิทยา
1. Gaslighting
คือการลดทอนความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่าย จนสับสนและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่กำลังเชื่ออยู่นั้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นการเอารัดเอาเปรียบและไม่เคารพความคิดเห็นของอีกฝ่าย
2. Love Bombing
เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการชักจูงทางจิตวิทยาที่มักเกิดขึ้นกับ “คู่รัก” ซึ่งก็คือการพูดหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดันจนยอมเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Manipulator สร้างขึ้น โดยการชักจูงนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วง ตั้งแต่เริ่มคบกัน ทะเลาะกัน และก่อนจบความสัมพันธ์
3. Silent Treatment
คือการไม่ยอมพูดคุยและทำตัวห่างเหินใส่ เพื่อเป็นการกดดันให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดและยอมทำในสิ่งที่ตนต้องการ
4. Guilt Tripping
คือการทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่หรืออับอาย แม้จะไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม การชักจูงในรูปแบบนี้มีทั้ง การทำให้อีกฝ่ายสำนึกบุญคุณราวกับติดหนี้ครั้งใหญ่, รู้สึกผิดหากจะมีอะไรดีหรือเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ พรสวรรค์ และชื่อเสียง, รวมไปถึงการยอมรับผิดชอบและชดใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น
5. One-up someone
‘One-up’ แปลว่า “ทำให้ดีกว่า, อยู่เหนือกว่า” การชักจูงทางจิตวิทยารูปแบบนี้จึงมักเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทนเห็นอีกฝ่ายได้ดิบได้ดีหรือมีความสุขมากกว่าไม่ได้
6. Play on a person’s insecurities
คือการชักจูงโดยอาศัยจุดอ่อนจากความไม่มั่นคงหรือไม่มั่นใจของผู้อื่น โดยผู้ที่ใช้วิธีนี้มักเป็นนักโฆษณาหรือนักการตลาดที่ต้องการ “ขายของ”
ที่มา : futuretrend , dek-d , @youaretofuu