svasdssvasds

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ แท็กซี่ เตือน ผู้โดยสาร คาดเข็มขัดนิรภัย บังคับใช้ พ.ย. 66

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ แท็กซี่ เตือน ผู้โดยสาร คาดเข็มขัดนิรภัย บังคับใช้ พ.ย. 66

'ราชกิจจานุเบกษา' ประกาศแล้ว ให้ คนขับ แท็กซี่ แจ้งเตือน ผู้โดยสาร คาด 'เข็มขัดนิรภัย' เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการโดยสาร มีผลบังคับใช้เดือน พ.ย. 2566

เว็บไซต์ “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดวิธีการสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ในการแจ้งเตือนหรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารในรถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องเข็มขัดนิรภัย พ.ศ.2566 ลงนามโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

สาระสำคัญในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดวิธีการสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ หรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้าง ในการแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารในรถดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องเข็มชัดนิรภัย และการปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยในการยืน หรือนั่งโดยสาร สำหรับรถบางประเภท เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการโดยสาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 123/3 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดวิธีการสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถนต์ หรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ในการแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารในรถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องเข็มขัดนิรภัย พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องแจ้งเตือนหรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารในรถนั้นปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

3.1 กรณีเป็นรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ต้องแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารในรถทุกคน ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลา ในขณะโดยสารและปฏิบัติ ดังนี้

  • ต้องนั่งโดยสารในที่นั่งที่กำหนดสำหรับรถประเภทนั้น
  • ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
  • ห้ามนั่งบนอุปกรณ์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือที่นั่งที่กำหนดไว้
  • ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ เว้นแต่รถนั้นกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน
  • ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร

3.2 กรณีเป็นรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งแถวตอนหน้า ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ต้องแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารซึ่งนั่งในที่นั่งแถวตอนหน้า ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสาร และต้องแจ้งเตือนหรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารทุกคนปฏิบัติ ดังนี้

  • ต้องนั่งโดยสารในที่นั่งที่กำหนดสำหรับรถประเภทนั้น
  • ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
  • ห้ามนั่งบนอุปกรณ์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือที่นั่งที่กำหนดไว้
  • ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ เว้นแต่รถนั้นกำหนดให้มีที่สำหรับคนโดยสารยืน
  • ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร

3.3 กรณีเป็นรถที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดต้องแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนโดยสารทุกคนปฏิบัติ ดังนี้

  • ต้องนั่งโดยสารในที่นั่งที่กำหนดสำหรับรถประเภทนั้น
  • ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
  • ห้ามนั่งบนอุปกรณ์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือที่นั่งที่กำหนดไว้
  • ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ เว้นแต่รถนั้นกำหนดให้มีที่สำหรับคนโดยสารยืน
  • ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร

ข้อ 4 การแจ้งเตือนต้องมีข้อความให้ครบถ้วนตามข้อ 3 โดยผู้ขับขี่สามารถแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทุกครั้งก่อนการออกรถ ดังต่อไปนี้

1.แจ้งเตือนด้วยวาจา

2.จัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยการติดประกาศภายในรถเป็นจำนวนที่เพียงพอ ในจุดที่คนโดยสารทุกคนสามารถเห็นได้อย่างทั่วถึงในขณะโดยสาร

3.จัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยวิธีการใช้อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์

4.จัดให้มีการแจ้งเตือน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ที่คนโดยสารสามารถ เข้าถึงได้ในขณะโดยสาร 

ข้อมูลจาก : ราชกิจจานุเบกษา

 

related