ระลึกถึงวันสำคัญของประเทศไทย 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน ผลัดใบ จาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ประชาธิปไตย
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือปี 1932 ถือเป็นวันสำคัญสำหรับ การสร้างรากฐานระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะล้มลุกคลุกคลาน ไปบ้าง จากการปฏิวัติรัฐประหาร หลายต่อหลายครั้ง ( นับถึงวันนี้ ปี 2566 ไทยมีรัฐประหาร 13 ครั้ง และขอให้ยุติ และต้องหยุดแค่นี้ ได้แล้ว) แต่ อย่างน้อยระบอบประชาธิปไตย ก็ทำให้ผู้คนในประเทศตื่นรู้ ในเรื่องการเมืองการปกครอง
24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ถอยเข็มนาฬิกากลับไปวันนั้น คณะราษฎรได้นำกำลังทหารและพลเรือนเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ในขณะนั้นรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์
คณะผู้ยึดอำนาจที่มี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า ได้ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คนคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์
เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพฯ จึงประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรถึงเหตุและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือ และส่ง นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า
“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
และเพื่อให้ การอภิวัฒน์สยามประสบผลสำเร็จทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย คณะราษฎร จึงทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับสู่พระนคร เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ที่คณะราษฎรจะจัดร่างขึ้นในลำดับต่อไป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎร ก่อนเสด็จจากวังไกลกังวลกลับพระนครโดยขบวนรถไฟพิเศษว่า
“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญจึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิดนานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”
ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งเดิมทีคณะผู้ก่อการตั้งใจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับถาวร และในเวลาต่อมา 10 ธันวาคม 2475 จึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
• สร้าง “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เพื่อระลึกถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากนั้น ได้มี การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ
และเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือ เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพมหานคร และประเทศไทย ยกเว้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือ ถนนมิตรภาพ ที่เริ่มนับกิโลเมตร 0 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
โดย รอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก โดยปากกระบอกปืนฝังลงดิน ซึ่งเลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
ขณะที่ พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ได้แก่
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลง
- จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
- จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร