ทำความรู้จักยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" พร้อมเปิดรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ผลตอบแทน มี "พล.อ.ประยุทธ์" ประธานโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ยังเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนการประชุมจากรายครั้งเป็นรายเดือน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดค่าใช้จ่ายมหาศาลหลังประชุม
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็น ภาพฝันของแผนการพัฒนาประเทศ ที่จะกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หรือตามคติพจน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยมีระยะเวลาบังคับนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579
ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับสรุปย่อ ที่เผยแพร่ต่อประชาชน มีการแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน คือ
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" มันทำให้ไทยเนื้อหอม น่าลงทุนจากสายตาชาวโลกจริงเหรอ ?
ส่องแผนพัฒนา Bangkok Smart City กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)
ที่มาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
คำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งยุทธศาสตร์ชาติถูกเขียนขึ้นอย่างเปิดเผยครั้งแรกใน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 โดยเขียนว่า
"มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็น พลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
การจัดทํา การกําหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับ"ได้"
จากมาตรา 65 นี้เอง ทำให้ต้องออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า "พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560" เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการจัดทำตัวยุทธศาสตร์ชาติของจริง เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานราชการต่าง ๆ
ทำไมต้องมี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวไว้ว่า เราต้องกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าใน 20 ปีข้างหน้า เราต้องการให้บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไรแล้วเดินไปตามนั้น มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเดินไปตามนั้น มาจัดสรรทำแผนงาน แผนคน แผนเงิน ไปสู่จุดหมายที่วางไว้ทุกปี ทุกๆ 5 ปี โดยมียุทธศาสตร์พาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และใน 20 ปี เราต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่เพียงพอ
พล.อ.สุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... อธิบายว่า การจัดยุทธศาสตร์ชาติต้องมีระยะยาว อย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไป ซึ่งกรอบที่วางไว้ 20 ปีนั้นไม่ถือว่านานเกินไป และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติ มีเพียงยุทธศาสตร์เฉพาะหน่วยงาน เช่น ยุทธศาสตร์ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ยุทธศาสตร์กลาโหม การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาประเทศ และสามารถกำหนดการดำเนินงานในการพัฒนาประเทศได้ เพราะยุทธศาสตร์ได้กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องทำอะไรใน 20 ปีที่ยุทธศาสตร์ชาติบังคับใช้
จากแผนภาพของพล.อ.วิลาศ อรุณศรี ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เมื่อมียุทธศาสตร์ชาติแล้ว ก็ยังคงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติอยู่ด้วย โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังคงมีสถานะใหญ่ที่สุด ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ด้วย
เปิดค่าตอบแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
อย่างไรก็ตาม 5 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบตามผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ให้เพิ่มค่าตอบแทนของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 โดยมีรายละเอียดดังนี้
นอกจากนี้ ยังให้มีค่าตอบแทนสำหรับการประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปเป็นรายเดือนอยู่ที่ 9000 บาท
การเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนดังกล่าว มีการระบุเหตุผลว่าเป็นการปรับเงินให้เหมาะสมกับภารกิจ และเนื่องจากที่ผ่านมามีการจ่ายเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงเห็นควรให้ปรับค่าตอบแทนขึ้นและจ่ายเงินเป็นรายเดือน
ข้อมูลจาก : www.ilaw.or.th/ , nesdc.go.th