พามาส่องเสียงดูภาคเอกชน ว่ามองอย่างไรหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท จะมีข้อดี ข้อเสีย กระทบกับผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง ในส่วนของแรงงานจะได้จะเสียยังไงบ้าง
หลังจากการเลือกตั้ง2566 ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถานีต่อไปที่ประชาชนกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ การร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร นอกจากนี้ประชาชนยังเฝ้าจับตาว่านโยบายต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถทำได้หรือไม่ และหากทำได้ใครจะได้ประโยชน์ และจะกระทบใครบ้าง หนึ่งในนโยบายที่คน และภาคธุรกิจจับตามองมากที่สุดในตอนนี้ คือ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ของพรรคก้าวไกล พรรคที่หลายคนคาดว่าจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 นโยบายอันตราย "สุชาติ" หวั่นผลกระทบซ้ำรอยปี 54
เปิดนโยบายค่าแรง ในเลือกตั้ง 2566 วันแรงงาน 1 พ.ค. ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นไหม ?
ส่องนโยบายประชานิยม อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนเลือกตั้ง 66 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไหม ?
ธุรกิจไทยยังใช้แรงคนกว่า50 %
แต่…ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ก็วิพากษ์วิจารณ์กันมากทั้งในแง่ดี และแง่ที่ไม่ดีต่อธุรกิจ วันนี้ #สปริงนิวส์ จะพามาส่องเสียงของภาคธุรกิจเอกชนว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอย่างไร มาเริ่มที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยกับ #สปริงนิวส์ ว่า ค่าแรง คือ ต้นทุนการผลิตเบอร์ต้นๆของผู้ประกอบการ เพราะอุตสาหกรรมต่างๆมากกว่า 50% ของไทยยังคงพึ่งพาแรงงานคน เช่น เกษตร ประมง อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ปศุสัตว์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่รับจ้างผลิต (OEM) ที่ยังคงต้องใช้แรงงานเข้มข้นอยู่จำนวนมาก
“การขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำจะกระโดดไปมา ไม่มีที่มาที่ไปไม่ได้ ทำตามใจชอบช่วงหาเสียงไม่ได้ ผลกระทบเยอะแน่ เพราะธุรกิจไทยต้องใช้คนถึง50 % การขึ้นค่าแรงต้องดูสมดุลภาวะเศรษฐกิจด้วย เพราะประเทศของเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาจะอ่อนไหวได้ง่าย ไม่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรช่วยด้วย เชื่อว่าถ้าค่าแรงไทยขึ้นจะทำข้าวของแพง ขีดความสามารถในการลดลง การลงทุนใหม่จะหนีย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ อย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย บังกลาเทศ มากขึ้น ” นายธนิต กล่าว
หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ไทยจะสูงเบอร์2 ของอาเซียน
นอกจากนี้ยังจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราว30% ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทนได้ เช่น สินค้าจากประเทศจีน เวียดนาม ที่มีราคาถูกกว่าอาจทะลักเข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้หากมีการปรับขึ้นจริง ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 97 -100 บาทต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเวียดนามที่มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 220 บาทต่อวัน ไทยจะมีค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นเบอร์ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ แน่นอนว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ธุรกิจ SMEs
ต่อมา คือ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน โดยมีผลทันที และจะมีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคก้าวไกล ว่าต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เป็นว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ต้องพิจารณาเป็นรายจังหวัดไป
ทั้งนี้หอการค้าในเรื่องของค่าแรงของแรงงานนั้น ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลคสช.ว่า ในการปรับค่าแรงทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับข้อกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของไทย และ สอดคล้องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งใน ทางกฎหมายมีความชัดเจน คือ ความจำเป็นของการปรับค่าแรงในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องไม่เท่ากัน เพราะสภาพ สังคมเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงความสามารถในการทำรายได้ของแต่ละจังหวัด รวมถึงได้มีหน่วยงานไตรภาคีภาคแรงงานของจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย นายจ้าง – ลูกจ้างและหน่วยงานราชการ ที่จะมีการประชุมร่วมกันก่อนจะมีการปรับค่าแรงในแต่ละครั้ง ว่า ในแต่ละจังหวัดได้ประสบปัญหาใดบ้าง เศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดคืออะไร ซึ่งไม่เหมือนกันทุกจังหวัด
โดยจะมองถึงความจำเป็นในแต่ละจังหวัดก่อนจะพิจารณาออกมาว่า จะมีการปรับค่าแรงหรือไม่ และปรับในอัตราเท่าใด หรือไม่ปรับ ก่อนจะแจ้งกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อพิจารณาให้รอบด้านอีกครั้ง เพื่อให้แรงงานอยู่ได้ โดยการนำตัวเลข 10 ดัชนี เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ดอกเบี้ย พลังงาน ค่าไฟ น้ำมัน เป็นต้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทย ซึ่ง“เงินเฟ้อ เป็นตัวสำคัญมากที่มีการชี้ให้เห็นว่า ควรปรับประมาณเท่าไหร่
ขึ้นค่าแรงเพิ่มต้นทุนให้อุตสาหกรรม ภาคบริการ
ซึ่งหอการค้าฯ ยืนยันในจุดนี้ ว่าได้สนับสนุนสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย , ตามพ.ร.บ. และตาม ILO โลก (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) โดยหอการค้าฯ ได้มีการกล่าวไปหลายครั้งตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่านโยบายเรื่องค่าแรง นำมาใช้เป็นการหาเสียงค่อนข้างอันตรายมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่เปราะบางมากกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรงโดยที่ไม่มีตัวที่อ้างอิงได้ตามกฎหมาย หรือวิธีขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักลงทุนที่ลงไปแล้ว และนักลงทุนทั้งไทยและเทศที่กำลังจะมาอยู่ หรือกำลังจะลงทุนอยู่ เพราะถ้าไม่มีมาตรฐานในการขึ้นค่าแรงที่จับต้องได้ กลายเป็นว่านักลงทุนมาก็ไม่รู้ว่า เดี๋ยวคนต่อไปจะปรับเท่าไหร่ มันไม่มีหลักการของมัน เพราะฉะนั้นจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงทุนมาก สำหรับการลงทุนใหม่ ขณะที่นักลงทุนรายเดิมที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยจะเป็นการเพิ่มภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น เมื่อได้รับผลกระทบ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ AI หรือ โรบอท แทนการจ้างงานคนได้ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นค่าแรง ไม่มีทางที่จะหลบหลีกได้เลย โดยสมมุติว่า ค่าแรงได้ปรับขึ้นมาเป็น 450 บาทต่อวัน จากปัจจุบันประมาณ 350 บาทต่อวัน ส่งผลให้มีส่วนต่างค่าแรงสูงขึ้น 100 บาทต่อวัน คิดเป็นเกือบ 30% ของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเพิ่มที่สูงมาก จนอาจทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ตั้งรับไม่ทัน และอาจจะต้องปิดกิจการลงในที่สุด จึงขอให้พรรคที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลได้คำนึงถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง ที่มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวและบริการที่จะต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก
ไทยังพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก
ในส่วนของแรงงานไทยในปัจจุบันที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นมีจำนวนที่น้อยมาก อีกทั้งประชาชนวัยทำงานก็ค่อนข้างที่จะลดน้อยลง จึงทำให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก อีกทั้งในส่วนของแรงงานไทยบางส่วนได้มีการยกระดับโดยการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานไทยให้มีความชำนาญในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น
ขึ้นค่าแรง แรงงานต่างด้าวอาจได้ประโยชน์มากกว่า
ขณะเดียวกันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่ นายพจน์มองว่า ในส่วนของแรงงานไทยนั้น ตนไม่มั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากน้อยเพียงใด เพราะสุดท้าย เชื่อว่า แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากกว่าแรงงานไทย อีกทั้งมองว่า การที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ บอกว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อนั้น สุดท้ายผู้ประกอบการจะไม่จ่ายเพียง 450 บาทต่อวัน เท่านั้น เพราะยังมีในเรื่องของค่าทำงานล่วงเวลา หรือ โอที อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อนำฐานเงินเดือน 450 บาทต่อวันมาคำนวนค่าล่วงเวลา จะทำให้สุดท้ายแล้วแรงงานจะได้รับเงินกว่า 600 บาทต่อวัน ในเวลา 8 ชั่วโมง ซึ่งในการขึ้นค่าแรงนั้นจะต้องคำนวนให้ดี เพราะมิเช่นนั้น จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างมาก
อีกทั้งในการปรับขึ้นค่าแรงนั้นหากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว และลดการใช้แรงงานลง ทำให้ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าจะมีการลดการใช้แรงงานลงเป็นจำนวนมากทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ จนอาจทำให้แรงงานไทยขาดงานทำได้นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอีกเรื่องคือการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ปัจจุบัน มองว่าอัตราค่าแรงของไทยมีความเหมาะสม และการขึ้นค่าแรงก็เป็นไปตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด รวมถึงการดูแลที่ดีของภาครัฐจากกองทุนประกันสังคมที่ดูแลในเรื่องแรงงานอย่างดี
หากเจ้าของธุรกิจแบกรับต้นทุนเพิ่มเสี่ยงปิดกิจการ
ดังนั้นหากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาได้มีนโยบายในการปรับค่าแรง ซึ่งตนเองไม่อยากใช้คำว่าตามอำเภอใจ แต่ เป็นการปรับที่รัฐบาลใหม่คิดว่ามีความเหมาะสมโดยไม่ได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ จากนายจ้าง ลูกจ้างว่าคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นไร เพราะการขึ้นค่าแรงหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ก็จะเลิกกิจการ และจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งตนมองว่าการขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะกระทบกับภาคการลงทุนอย่างรุนแรงของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงอาจจะส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นแทนประเทศไทย เพราะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศไทย แม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะสนใจประเทศไทยก็ตามแต่ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของนโยบายค่าแรงและความสามารถในการแข่งขันเรื่องค่าแรง ซึ่งมองว่าสิ่งที่ดำเนินการมาในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงนั้นเป็นการดำเนินการที่ผิด ลูกจ้างทุกคนควรที่จะไปฝึกฝนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน ซึ่งนายจ้างพร้อมที่จ้างแรงงานที่มีศักยภาพ แต่การออกนโยบายกวาดการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ตนเชื่อว่า จะทำให้นักลงทุนหนีออกจากประเทศไทยแทน
ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปัจจุบันไม่ได้มีแต่ภาคการผลิต แต่มีภาคบริการรวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานคน และวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน และค่าแรงที่ปรับขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.65 รวมถึงดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ดังนั้น วันนี้ การจะปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อย และหากมีการปรับขึ้นจริงเชื่อว่า ธุรกิจจะเกิดการชะลอ และหยุดชะงัก เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
หากปัญหาบานปลายการตั้งรัฐบาลใหม่อาจกระทบท่องเที่ยว
ด้านนางวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบลจ.บัวหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าจากนี้ไป 3 เดือน จะปะทะกันขนาดไหนหรือไม่ก็ไม่ทราบ หากมีการปะทะกันและรุนแรง การท่องเที่ยวที่กำลังขับเคลื่อนเครื่องยนต์เดียวในขณะนี้ที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจะโดนผลกระทบ จนต่างชาติระงับการมาเที่ยวไทย”