"ตรีนุช เทียนทอง" ย้ำกระทรวงศึกษาธิการ ไม่บังคับแต่งกาย "ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด" ลดภาระผู้ปกครอง ตั้งแต่ปี 2565 ใช้ผ้าพันคอผืนเดียวได้ เน้นทำจิตอาสา
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้สื่อสารซักซ้อมความเข้าใจการแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี
โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง การเรียนวิชาวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ที่มีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เช่น มีผ้าผูกคอผืนเดียวได้
เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรม จิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• แนวคิดเยี่ยม โรงเรียนดัง อยุธยา ไม่บังคับนักเรียนแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี
• ชัชชาติ จ่อหารือผ่อนผัน ชุดลูกเสือ ให้ผูกผ้าพันคออย่างเดียวได้
• ชวนหาคำตอบ ยกเลิกชุดลูกเสือ-เนตรนารี ค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ
ขณะนี้ได้เปิดภาคเรียนใหม่ ในปีการศึกษา 2566 แล้ว ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันในอัตราใหม่ที่รัฐบาลได้ปรับเพิ่มขึ้นให้
ดังนั้น ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างคุ้มค่า โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การจัดเมนูอาหารกลางวันให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ตามช่วงวัย ความปลอดภัยในสถานศึกษา การเฝ่าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และที่สำคัญสิ่งใดที่ไม่จำเป็น และจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครองขอให้สถานศึกษางด ยกเว้น และยืดหยุ่นให้มากที่สุด
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการผ่อนคลายกฎ ระเบียบต่างๆ ให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน รวมถึงมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ไม่บังคับ เช่น เรื่องทรงผมของนักเรียน ก็ได้มีการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 แล้วให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือ ข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง
โดยการออกระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือ ผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคลหรือ กลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้