ที่มา "ฉลองพระองค์ชุดไทย" พระราชินี ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปฏิสันถาร ด้วยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ และเจ้าฟ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมาร ในงานพระราชทานเลี้ยงรับรองพระประมุข ประมุข และผู้แทนของประเทศต่างๆ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลล่า แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพิกุลถมเกสร
ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพิกุลถมเกสร ทรงพระสังวาลจักรี พระปั้นเหน่งดวงตรามหาจักรีประดับเพชร พระกุณฑลจักรี และสร้อยพระศอเพชร ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในโอกาสทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรองพระประมุข การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระราชวังบักกิงแฮม สหราชอาณาจักร
“ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เป็นผ้าทอมือที่ขึ้นชื่อในเรื่องความประณีตงดงามมากที่สุดแบบหนึ่งในภาคเหนือ โดยเป็นเทคนิคการทอผ้าด้วยการยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยส่วนใหญ่นำลวดลายมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ“ลายดอกพิกุล” ที่ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอยกดอกลำพูน
ลายดอกพิกุลเป็นลวดลายผ้าโบราณที่มีการออกแบบสำหรับทอผ้ายกลำพูนในอดีต ซึ่งต่อมาได้มีการออกแบบลวดลายดอกพิกุลที่หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และพิกุลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันคือ ขนาดของดอกพิกุล และสีสันของเส้นไหมหรือดิ้นเงิน ดิ้นทองที่กำหนดลงไปให้แตกต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มลวดลายอื่นๆ ลงไปประกอบกับดอกพิกุลเช่น การเพิ่มกลีบ ก้าน ใบ เกสร และการเพิ่มเหลี่ยมของดอกพิกุล เป็นต้น ด้วยลายดอกพิกุลเป็นลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้ายกลำพูน และเป็นที่รู้จักของคนส่วนมาก ดังนั้นผู้ออกแบบจึงนิยมนำลายดอกพิกุลมาผสมผสานกับลวดลายประยุกต์อื่นๆ เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้ายกลำพูนให้ดำรงอยู่สืบไป
ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน พระภูษาผ้ายกลำพูนสังเวียน
ประเภทผ้ายกใหญ่ ลายดอกพิกุลหลวงทรงสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงพระสังวาลนพรัตน์ ดารานพรัตน์ ทรงเข็มกลัดดวงตรามหาจักรีประดับเพชร ทรงพระปั้นเหน่งนพรัตน์ ทรงทองพระกรเพชร และ ทรงสร้อยพระศอและพระกุณฑลไพลินประดับเพชร ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งตามชื่อพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน เสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อและซิ่นติดกันเป็นชุดเดียว ตัดเย็บด้วยผ้าไหมที่มีทองแกมหรือ ยกทองทั้งตัวก็ได้ นุ่งจีบแล้วใช้เข็มขัดไทยคาด
ตามคติแต่โบราณเชื่อกันว่าดอกพิกุล เป็นดอกไม้มงคลของต้นไม้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุนี้ในพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงมีการถวายดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ให้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงโปรยในระหว่างการประกอบพระราชพิธี ทั้งนี้อาจเป็นด้วยความเชื่อว่าในหลวงทรงเป็นสมมติเทพที่ได้อุบัติลงมาจากสวรรค์ การโปรยดอกพิกุลจึงเสมือนกับการที่องค์สมมติเทพทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ได้ชื่นชม
ฉลองพระองค์ผ้าขิดไหม ลายดอกไม้
ขวิด แปลว่า ผ้ายกดอกเรียก ผ้าขวิด หรือ ผ้าขิด เป็นกิริยาในการทอผ้า โดยการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย การทอผ้าขิดเป็นการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบางๆ เรียกว่า "ไม้ค้ำ" และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ
ลวดลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า "เขา" โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้ายพิเศษ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่างๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติ ลายรูปสัตว์ต่างๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้
ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น ผ้าขิดมีหลายชนิด เช่น ขิดกาบ ขิดขอ ขิดช้าง ขิดดาว ขิดดอกแก้ว ขิดดอกบัว ขิดดอกต้าง ขิดดอกผักแว่น ขิดตาไก่ ขิดตามน ขิดม้า ขิดลอด ขิดส้อยพร้าว ขิดหมากมอน ขิดหมากโมง ขิดแอวขัน ขิดอิ้งหมากหวาย ขิดส้อยหมาก ขิดอุ้มหน่วย เทคนิคนี้ในสากลคือ continuous supplementary weft
ที่มา : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage