svasdssvasds

วันแรงงาน 2567 "โรคฮิต" มนุษย์เงินเดือน อาการและวิธีรักษา ก่อนเป็นหนัก

วันแรงงาน 2567 "โรคฮิต" มนุษย์เงินเดือน อาการและวิธีรักษา ก่อนเป็นหนัก

วัยทำงานเป็นวัยที่ "มนุษย์เงินเดือน" หลายๆคน พยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่องาน ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย สภาวะความกดดันและความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ

SHORT CUT

  • วัยทำงานเป็นวัยที่ "มนุษย์เงินเดือน" พยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่องาน ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย
  • พฤติกรรมในการทำงานจึงเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
  • การทำงานหนักหรือเครียดเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียที่ตามมาโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งก็คือ โรคภัยไข้เจ็บ

วัยทำงานเป็นวัยที่ "มนุษย์เงินเดือน" หลายๆคน พยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่องาน ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย สภาวะความกดดันและความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ

 วันแรงงาน 2567 กลุ่มคนวัยแรงงานถือว่า มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเทศ แต่ที่ผ่านมาเรามักพบว่า วัยแรงงาน ประสบปัญญาทางสุขภาพ 

ในปัจจุบัน มนุษย์เราต้องทำงานวันละ 8 -10 ชั่วโมง พฤติกรรมในการทำงานจึงเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยสภาพการทำงานที่ต้องรีบเร่ง ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเปลี่ยนไป ในวันที่ร่างกายยังแข็งแรง คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจกับสุขภาพมาก โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักจะลืมคำนึงถึงการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว การทำงานหนักหรือเครียดเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียที่ตามมาโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งก็คือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั่นเอง

7 โรคฮิตคุกคามชีวิต "มนุษย์แรงงาน"

โรคปลอกประสาทอักเสบ

 จากข้อมูลทางสถิติ โรคปลอกประสาทอักเสบเป็นโรคใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 - 40 ปี หากเป็นมากจะสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกายจนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำต้องระวังโรคนี้เป็นอย่างมาก เพราะการที่เราต้องใช้ข้อมือในท่าทางเดิมเป็นประจำ และมีการใช้งานข้อมือหนักๆ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในการเกิดโรคนี้ก็คือการใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบผิดท่าทางทำให้เกิดการกดทับ จนมีอาการชา เหน็บหรือปวดแสบปวดร้อน ตั้งแต่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือและอาจจะลามไปถึงหัวไหล่ได้

วิธีรักษา

 สามารถรักษาได้ด้วยการประคบร้อนหรือกดนวดบริเวณผังผืดที่กดทับเส้นประสาท และลองยืดเส้นยืดสาย นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เม้าส์และคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ให้ถูกท่า แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงจะต้องพบแพทย์เพื่อให้ดูแล ซึ่งการรักษาก็จะมีตั้งแต่การใช้ยาต้านอักเสบ ไปจนถึงการผ่าตัด

 

 

  • ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยตรงกับพนักงานออฟฟิศ ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนทำงานที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานานโดยไม่ได้ขยับตัว จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบได้

โรคนี้เกิดจากหลายสาเหตุมาก เช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม จนทำให้คุณเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบธรรมดาๆ ทั่วไปจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

วิธีรักษา

 ป้องกันไม่ให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้ด้วยวิธีการออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสม เช่น คนที่ปวดไหล่เป็นประจำ ลองทำท่าบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ โดยการยกไหล่ขึ้นไปจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 จากนั้นกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 หรือแม้แต่ยืดเหยียดหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง

โรคเครียดลงกระเพาะ

โรคเครียดลงกระเพาะ ส่วนมากเกิดจากความเครียด เพราะในขณะที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร จะมีอาการดังนี้

• ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ตอนท้องว่าง

• เสียดหน้าอก อาหารไม่ย่อย

• รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน

• แน่นท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว

• นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท

 

 

วิธีป้องกัน

• ทานอาหารให้ตรงเวลา

• ไม่ทานอาหารรสจัด

• เลี่ยงของมัน ของทอด

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

• งดแอลกอฮอล์

• ไม่เครียด

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง จากการที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความกดดันอยู่บ่อยครั้ง โรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายอีกด้วย จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

อาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลย หรืออาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ

ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกันคือ

• กรณีที่ 1 ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก

• กรณีที่ 2 ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้

จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 เสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกร้อยละ 20-30 และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรังร้อยละ 5-10

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีความดันโลหิตสูง

• อาหาร ควรเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ไม่หวานจัด

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที

• ทำจิตใจให้สงบเพื่อจัดการความเครียด

• ไม่สูบบุหรี่

• ไม่ดื่มสุรา

โรคหัวใจ

โรคหัวใจ มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน เพราะคนวัยทำงานมีการดำเนินชีวิตที่ต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและรสชาติจัด อีกทั้งไม่มีเวลาออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างง่ายดาย

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

• เจ็บแน่นหน้าอก มักมีอาการแน่น อึดอัด เหมือนมีสิ่งกดทับกลางอก อาจมีอาการปวดร้าวไปกราม ไหล่ หรือแขนซ้าย มักเป็นมากขึ้นเมื่อออกกำลังและหากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการเมื่ออยู่เฉย ๆ

• เหนื่อยง่ายหายใจถี่

• นอนราบไม่ได้

• หัวใจเต้นผิดจังหวะ

• หน้ามืดหมดสติ

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้

• เจ็บหน้าอก

• หายใจถี่ เหนื่อยง่าย

• เป็นลม

โรคหัวใจจะรักษาได้ผลดีหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับอาการของคุณ หากคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคหัวใจ นี่คือสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่คนทำงานหลายคนมักมองข้ามไป แต่ความจริงแล้วโรคดังกล่าวเป็นภัยเงียบที่หนุ่มสาววัยทำงานควรระวังไว้ เนื่องด้วยชีวิตที่เร่งรีบของคนทำงาน อาจมีตัวเลือกสำหรับอาหารไม่มากนัก ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องบริโภคอาหารรสจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือบางคนที่ทำงานดึกดื่นจนไม่มีเวลากินข้าว ต้องมากินข้าวก่อนนอน เมื่อกินเสร็จก็นอนทันที นับได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

• หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร

• ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร

• ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ

• เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

• พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป

• ภาวะความเครียด โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที

• ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเกิดโรคนี้คือ เมื่อปวดปัสสาวะแล้วไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำน้อย หรือเลือกดื่มกาแฟแทนน้ำเปล่า ซึ่งพฤติกรรมที่ทำจนเกิดเป็นนิสัยแบบนี้ส่งผลให้เกิดโรคร้ายได้

สังเกตอาการ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 • ปัสสาวะแสบ ขัด สีขุ่น

•  ปัสสาวะบ่อยแบบกะปริบกะปรอย

• ปวดท้องน้อย

• กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงต้องเพิ่มระยะเวลาในการรับยาปฏิชีวนะประมาณ 7-10 วัน

การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

• ดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวันให้เพียงพอ โดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ

• ไม่กลั้นปัสสาวะ

• ทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อน จึงค่อยทำความสะอาดทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักแพร่กระจายไปยังอวัยวะเพศ

•  ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศสูตรอ่อนโยน แทนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี และน้ำหอม

•  การใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนการอาบในอ่าง ช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

• เลือกใช้ชุดนั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายได้ดี ลดความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ

 อย่างไรก็ตามการทำงานหนักก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ทำงานหนักเกินไปจนสุขภาพร่างกายย่ำแย่ ก็จะส่งผลกระทบกับตัวเองได้ในหลายๆ ด้าน แทนที่เราจะนำเงินที่หามาได้ไปใช้จ่ายอย่างมีความสุข อาจจะต้องมาใช้จ่ายในเรื่องค่ายา ค่ารักษาพยาบาลแทนได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิริราช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related