ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แนะนำวิธีสังเกต และตรวจสอบ "แบงค์ปลอม" หรือธนบัตรปลอมง่ายๆ พร้อมเตือนผู้ผลิตเสนอจำหน่าย โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
ปัจจุบันกลโกงมิจฉาชีพมาในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน SMS หลอกให้โอน รวมไปถึงการทำธนบัตรปลอมออกสู่ท้องตลาด โดยเฉพาะแบงค์ที่มีมูลค่าสูงสุดอย่างแบงค์พันหรือธนบัตรมูลค่า 1,000 บาท ที่ถูกทำเป็นแบงค์ปลอมออกมาบ่อย ส่งผลให้ทั้งผู้ใช้และผู้รับเงินต้องหยิบแบงค์ในมือมาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง
ล่าสุด ตำรวจสอบสวนกลางได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง แนะนำวิธีสังเกต และตรวจสอบ "แบงค์ปลอม" หรือ ธนบัตรปลอมง่ายๆ โดยระบุว่า
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แนะนำวิธีสังเกต และตรวจสอบธนบัตรปลอมง่ายๆ ตามขั้นตอนนี้
1.สัมผัส : โดยกระดาษธนบัตรของจริงจะมีความทนทาน ไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับจะต่างจากกระดาษทั่วไป และลายพิมพ์เส้นนูน จะคมชัด และคำว่า “รัฐบาลไทย” เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะสะดุด
2.ยกส่อง : ธนบัตรของจริงจะมีลายน้ำที่ชัดเจน มีตัวเลขชนิดราคา รูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ ลวดลายด้านหน้าและด้านหลังจะซ้อนทับสนิทกัน
3.พลิกเอียง : ธนบัตรจริงจะมีตัวเลขแฝงตามชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ และตรงลายดอกประดิษฐ์ เมื่อพลิกธนบัตรจะพบประกายมีตัวเลขซ่อนอยู่ แถบสีต่างๆเมื่อพลิกเอียงสีจะเปลี่ยน และมีตัวเลขซ่อนอยู่ รวมถึงแถบฟลอยด์ 3 มิติ และลักษณะพิเศษใต้รังสีเหนือม่วง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ธปท.แจงปมโพสต์ขาย "ธนบัตรปลอม" ในออนไลน์ แค่หลอกให้โอนเงิน ไม่ได้ขายจริง
• 5 จุดสังเกตธนบัตรที่ระลึกฯ 100 บาท หลังคนสับสนติงคล้ายแบงก์พัน
• แก๊งมิจฉาชีพฉวยโอกาสใช้ธนบัตรปลอมจ่ายสินค้า เตือนตรวจสอบก่อนใช้
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนว่าการทำปลอมธนบัตรขึ้นมา และการสั่งซื้อมาใช้ ผู้ผลิตเสนอจำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
หากพบเบาะแสการจำหน่าย หรือผลิตธนบัตรปลอม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ อินบ็อกซ์เพจตำรวจสอบสวนกลาง หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มา : ตำรวจสอบสวนกลาง