โลกโซเชียลเผยแพร่ “พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลกใน 48 ชม. เป็นผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก” เมื่อ 22 เมษายน 2562 สดร.ขอประกาศว่า เป็น”ข่าวลวง” เพราะพายุสุริยะไม่มีผลทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น วอนประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ข่าวแพร่ทางโซเชียล ในประเด็น พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกอยู่ในช่วงสลับขั้วจึงทำให้อ่อนกำลังลงจะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั่วโลกกรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดพายุสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นหรือเกิดอันตรายต่อโลกจะมีผลกระทบเพียงระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้การสลับขั้วสนามแม่เหล็กต้องใช้ระยะเวลานับแสนปี ดังนั้น ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาวันหรือสองวัน อาจส่งผลเล็กน้อย เช่น เกิดแสงออโรราบริเวณขั้วโลกมากกว่าปกติเท่านั้น แต่ที่เกิดการเผยแพร่ข่าวในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเพราะการนำข้อมูลเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และโลกมาเชื่อมโยงกัน ประกอบกับขณะนี้เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทุกพื้นที่ของประเทศมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลจากการรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
“ดวงอาทิตย์เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่มีปฏิกิริยาภายในเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ที่บริเวณผิวของดวงอาทิตย์นอกจากจะมีอุณหภูมิสูงมากแล้วยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปรากฏการณ์การลุกจ้า (Solar Flare) ปรากฏการณ์การเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ปรากฏการณ์การปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection : CME) เป็นต้น การเกิดปรากฏการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น”