svasdssvasds

ชวนคุยกับ AMYLASE ในวันที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพในอุตสาหกรรม T-POP

ชวนคุยกับ AMYLASE ในวันที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพในอุตสาหกรรม T-POP

ในวันที่อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยเริ่มเปิดรับความสามารถและความหลากหลายในทุกรูปแบบ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ T-POP น้องใหม่อย่าง AMYLASE ที่อยากให้หลายคนเปิดใจและก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพ วง T-POP ก็มีสมาชิก LGBTQ+ ได้

SHORT CUT

  • กระแส T-POP เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมากขึ้น และเปิดรับความหลากหลายทุกรูปแบบ
  • AMYLASE วงที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพ และไม่อยากจำกัดว่าเป็นวง Girl Group หรือ Boy Band
  • ถึงเป็นวงที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าผู้ชายหรือ LGBTQ+ แต่ทั้ง 4 คนก็มีความฝันเดียวกันคือการอยากเป็นศิลปิน และสร้างความสุขให้คนดู 

ในวันที่อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยเริ่มเปิดรับความสามารถและความหลากหลายในทุกรูปแบบ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ T-POP น้องใหม่อย่าง AMYLASE ที่อยากให้หลายคนเปิดใจและก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพ วง T-POP ก็มีสมาชิก LGBTQ+ ได้

ในวันที่กระแส T-POP เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยจนหลายคนชวนจับตามอง ศิลปินที่มากความสามารถและแนวเพลงที่หลากหลายสร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไม่น้อย ในยุคที่เราเปิดกว้างความหลากหลายในทุกรูปแบบทั้งเรื่องของความสามารถ แนวเพลง งานศิลป์ อายุ หรือแม้กระทั่งเพศสภาพ

วันนี้เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินน้องใหม่อย่าง AMYLASE ที่มีสมาชิกประกอบด้วย ลีโอ - ประสบชัย มีพร้อม สมาร์ท - ศุภวิชญ์ แจ่มใส เกมส์ -ปัณวัจน์ พัฒน์วิรุฬห์ และ ทีทริค - ธีรโชติ ภูมิเรศสุนทร สมาชิกทั้ง 4 คน ที่มีพร้อมทั้งความสามารถและความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่กลับกลายเป็น AMYLASE ที่ลงตัวและสมบูรณ์แบบ

เมื่อเราได้พูดคุย AMYLASE ถึงเส้นทางการเข้ามาเป็นศิลปินเกิดอะไรขึ้นบ้าง มองภาพตัวเองและวงยังไง รวมถึงการที่อยากจะก้าวข้ามคำว่าเพศในอุตสาหกรรม T-POP เพื่อยกระดับกลุ่มคนเพศหลากหลายในวงการ T-POP ให้มีพื้นที่เทียบเท่ากับเพศอื่นๆ

ชวนคุยกับ AMYLASE ในวันที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพในอุตสาหกรรม T-POP

 

ชวนคุยกับ AMYLASE ในวันที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพในอุตสาหกรรม T-POP

ทำไมถึงเลือกมาเป็นศิลปิน ?

ทีทริค : เป็นคนที่ชอบด้านนี้ตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยลองไปหาออดิชัน พอติดก็เลยเลือกที่จะมาเป็นศิลปิน ตอนแรกทางครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุนให้มาเส้นทางนี้เพราะเราก็เด็กมาก แต่พอเห็นว่าเราชอบจริงๆ ทางครอบครัวก็เลยสนับสนุน

สมาร์ท : เมื่อก่อนเป็นคนที่ชอบเต้นมาก แล้วก็เคยเต้น Cover มาก่อน พอครอบครัวเห็นว่าสนใจก็เลยสนับสนุน ให้ลองไปเรียนร้อง เรียนเต้น ก็เลยสนใจอยากจะเป็นศิลปินขึ้นมา

เกมส์ :  รู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นคนชอบทางนี้มาตั้งแต่เด็ก จนช่วงหนึ่งที่เราเริ่มไล่ออดิชันก็ได้ไปติดราย Survival รายการหนึ่งในช่วงขึ้นมหาวิทยาลัยพอดี ตอนนั้นก็คิดหนักเพราะว่าอาจจะต้องดรอปเรียนด้วย แต่ก็โชคดีที่ครอบครัวก็เข้าใจ เพราะด้วยตัวเราก็อยากไปให้สุดในเส้นทางนี้ ถ้ามันครึ่งๆ กลางๆ ก็กลัวจะกลายเป็นคว้าน้ำเหลว

ลีโอ : เป็นคนชอบร้องชอบเต้นมาตั้งแต่เด็ก มีงานกิจกรรมอะไรเราทำตลอด แต่ด้วยความที่เรามีความฝันเลยเริ่มหาถ่ายโปรไฟล์ หาออดิชัน ก็เลยได้ไปติดรายการเดียวกันกับน้องเกมส์ ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดด้วย โอกาสก็อะไรก็ไม่ได้มีมาก ถ้าเราหาโอกาสให้ตัวเองได้ เราก็ทำ

ลีโอ  ประสบชัย มีพร้อม

ถ้าเราไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นวง Boy Band หรือ Girl Group แล้วเราเรียกตัวเองว่าอะไร ?

ลีโอ : เราก็มานั่งคิดกับตัวเองเหมือนกันนะว่า จริงๆ แล้วเราต้องเรียกวงตัวเองว่าอะไรกันแน่ เพราะวงเรามันไม่เหมือนคนอื่น เราเลยไม่รู้จะต้องนิยามตัวเองว่าอะไร เลยอยากให้คนมองเราเป็นแค่ศิลปินกลุ่มหนึ่ง เพราะสุดท้ายเราก็คือ AMYLASE เราอยากให้มองว่าเราเป็นศิลปินหนึ่งกลุ่ม ไม่ใช่มาจำกัดว่า เป็นบอยแบนด์แต่ทำไมมีกะเทย เราก็อยากให้คนก้าวข้ามเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่กับวงเรา มันรวมถึงวงอื่นๆ ด้วย

 

คิดยังไงกับการที่มีคนมองออกมาแล้วยัดคำว่า “วงกะเทย” ให้กับเรา ?

ลีโอ : ในปัจจุบันที่วงมันมีเยอะมากๆ เราเองก็ไม่ได้อยากไปจำกัดว่า วงนี้คือบอยกรุ๊ป วงนี้คือเกิร์ลกรุ๊ป อยากเรียกแบบไหนก็เรียกแบบนั้นดีกว่า ส่วนตัวเราเอง เรามองว่าเราเป็นวงที่ให้อิสระกับการแต่งหน้า แต่งตัว ไม่มีจำกัดว่าแต่งนี้คือบอยแบนด์ หรือเกิร์ลกรุ๊ป ถ้าจะมาบอกว่า เราเป็นวง LGBTQ+ เลยก็ไม่ใช่ เพราะว่าน้องสองคนในวงก็เป็นผู้ชาย

อยากให้ทุกคนยอมรับว่า วงเราเป็นแบบนี้ เพราะเราก็ไปจำกัดความคิดใครไม่ได้ แต่ถ้าจะมองว่า วงเราเป็นวงตุ๊ด วงกะเทย มันก็กลายเป็นว่าตัวคนที่มองมานั่นแหละ คือสิ่งที่เขาพยายามจะยัดภาพลักษณ์แล้วก็ภาพจำของเขาใส่พวกเรา

เกมส์ : เราอยู่ในยุคที่คนเริ่มเข้าใจแล้วก็เริ่มสนับความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ความเท่าเทียมมันเดินหน้าไปไกล เลยอยากให้ทุกคนมองพวกเราในแบบที่เป็นเรามากกว่า

“คือวงเรามันค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย เพราะในความเป็นจริงผู้ชายสามารถ Feminine ได้ ผู้หญิงก็มีความ Masculine  ได้”

สมาร์ท  ศุภวิชญ์ แจ่มใส

แล้ววงกะเทยเอาไปขายใคร ?

เกมส์ : จริงๆ ก็เคยคิดเหมือนกันนะว่าวงเราจะเอาไปขายใคร แต่พอมานั่งนึกดูแล้วตัวอย่างในวงการก็มีให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ไม่งั้นพี่พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร หรือพี่ๆ คนอื่นๆ ในวงการ จะประสบความสำเร็จได้ยังไง มันอยู่ที่การยอมรับแล้วก็ความรู้สึกของคนมากกว่า ครั้งแรกตอนที่เห็นพี่นินจา 4MIX เรารู้สึกว่าเขาเป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นหลังได้ เพราะว่าตอนที่เห็นก็เหมือนว่าเขาเป็น T-POP รุ่นแรกที่มี LGBTQ+ อยู่ในวง

“การที่เรามาอยู่ตรงนี้ก็อาจจะเป็นส่วนในการช่วยผลักดันให้เด็กรุ่นหลังมองเห็นความฝันของตัวเองชัดขึ้นว่าต่อให้เราเป็น LGBTQ+ เราก็สามารถเป็นได้เหมือนกับคนอื่นๆ ได้”

ลีโอ : พอวงการเปิดมันเปิดกว้าง ตัวอย่างของพี่ๆ มันก็มีให้เห็น ถ้าคนอื่นมองว่าไม่รู้ว่าจะเอาวงกะเทยไปขายใคร แต่ถ้ามองไปอีกว่า “ขนาดมีวงผู้ชายแล้วพวกคุณยังจับจิ้นกันได้ แล้วทำไมถึงตั้งคำถามกับคำว่าวงกะเทยเอาไปขายใคร สุดท้ายก็ยังติดหล่มเรื่องเพศไม่จบไม่สิ้น

เกมส์ ปัณวัจน์ พัฒน์วิรุฬห์

แล้วเราอยากให้คนจดจำเราในรูปแบบไหน ?

ทีทริค : ตัวผมเองก็ไม่ได้อยากไปให้คนติดภาพจำผมว่าต้องเป็นลุคเท่ๆ ตลอด เพราะอย่างพวกพี่ๆ เขาก็จะมีปรับเปลี่ยนบ้าง เพราะส่วนตัวผมถ้าจะแต่งตัวไปทาง Feminine เลย ก็อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของแฟชั่นมากกว่าที่จะมาตัดสินว่าเราเป็นอะไร เพราะว่าการทำงานเป็นกลุ่มมันทำให้เราต้องหาจุดกึ่งกลาง เราทุกคนก็ยอมรับซึ่งกันและกันว่าเราจะเป็นแบบนี้

สมาร์ท : ส่วนตัวแล้วเราพรีเซนต์ตัวเองแบบตัวของตัวเองเลย ไม่อยากไปจำกัดความคิดของคนที่มองเราเข้ามา

ลีโอ : ถ้าพูดถึงพาร์ทของการทำงาน เราก็คุยกับพี่ Choreographer แล้วว่า เราจะมีท่าที่มันค่อนข้างสาวบ้าง เพราะด้วยความที่ภาพลักษณ์มันเห็นชัดเลยว่าทุกคนเป็นแบบไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งอะไรมาก นอกจากปรับเปลี่ยนไปตามคอนเซปต์ของเพลง

เราอาจจะประสบความสำเร็จยากกว่าคนอื่น เพราะสังคมตีกรอบว่าเราเป็นวง LGBTQ+

เกมส์ : ไม่ว่าเราจะเป็นยังไง มันก็สามารถไปให้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ อย่างพี่พีพี กฤษฏ์ หรืออาโป DICE เราก็มองว่าพวกเขาก็อยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จแล้วในวงการบันเทิง มันอยู่ที่ว่าคนจะยอมรับเรามากแค่ไหน เพราะตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่า คนจะชอบเอาเราไปเปรียบเทียบกับฝั่ง K-POP มากกว่า อยากให้ทุกคนหันมาสนับสนุนกันเองมากกว่า มันไม่ใช่แค่พื้นที่ LGBTQ+ ในวงการ T-POP ที่จะไปได้ไกล มันรวมถึงทุกๆ ส่วนของวงการด้วย

ลีโอ : เรายังติดภาพจำของวงการที่มีแต่ บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป พอมีวงที่มี LGBTQ+ ขึ้นมาคนเลยมองว่ามันแปลกใหม่ ส่วนตัวก็อยากให้คนหันมาสนับนุนกันเองมากกว่า อยากให้ผลักดัน โดยมองข้ามคำว่าเพศสภาพ เพราะเราจะเห็นว่าหลังๆ เด็กที่ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หรือแม้กระทั่ง LGBTQ+ ก็มีความฝันที่อยากเป็นศิลปิน  ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้มากขึ้น วงการ T-POP ของเราก็สามารถเป็น Soft Power ให้กับประเทศได้แน่นอน

“เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เพราะสังคมยังตีกรอบให้เราว่าเป็นวง LGBTQ+”

ทีทริค  ธีรโชติ ภูมิเรศสุนทร

การยืนในแสงที่มาพร้อมความกดดันของสังคมในการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ

ลีโอ : จริงๆ เราทำมาตลอดอยู่แล้ว อะไรที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมได้เราก็ทำมาตลอด

เกมส์ : ถ้าพูดถึงเรื่องความคาดหวัง เราอาจจะต้องขอบคุณที่ทุกคนคาดหวังว่าเราจะเป็นกระบอกเสียงในการเดินหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แล้วเราก็มองว่ามันไม่ได้เป็นความกดดันเลย เรามองว่ามันเป็นเกียรติมากกว่าที่หลายคนเชื่อแล้วก็มั่นใจว่าเราจะเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จะสามารถขับเคลื่อน LGBTQ+ ไปได้ไกลมากกว่านี้

“มันก็ยากเหมือนกันนะที่ LGBTQ+ จะมาอยู่จุดนี้ได้ ด้วยความที่สังคมมันมีบรรทัดฐานของมัน คนสวยก็ต้องสวย คนหล่อก็ต้องหล่อ แล้ว LGBTQ+ ต้องเป็นแบบไหน

การเป็น AMYLASE ที่มีทั้งกำแพงที่สูงและความท้าทายที่ต้องกล้าเสี่ยง

สมาร์ท : หลักๆ ก็ศักยภาพแล้วก็เรื่องของบุคลิก แล้วก็เรื่อง Beauty Standard ที่ตัวเราเองก็ยังก้าวข้ามไปไม่ได้

ลีโอ : สำหรับเราแล้วกำแพงของวงแล้วก็ตัวเราคือ Standard ที่จะทำให้คนมายอมรับเราให้ได้ ให้คนเลิกโฟกัสให้ได้ว่าเราเป็นเพศอะไร มองข้ามเพศสภาพแล้วมองที่ว่าเราสร้างผลงานและความสามารถยังไงมากกว่า มันคือความท้าทายที่เราต้องทำให้ได้แล้วต้องพัฒนาเพื่อให้เราไปอยู่จุดที่ประสบความสำเร็จให้ได้

เกมส์ : พอเรามาอยู่รวมกัน 4 คน แล้วมันก็มียากเพราะว่าต่างคนก็ต่างมีอีโก เพราะงั้นเราก็ต้องหาตรงกลางให้มันพอดี ตรงนี้แหละมันคือความยากเพราะแต่เราจะปลดล็อกแต่ละคนได้มันต้องใช้เวลาแล้วก็ความเข้าใจ

ทีทริค : พอเราเป็นน้องเล็กสุด แล้วอายุก็ค่อนข้างห่างกับพี่ๆ ประสบการณ์ก็น้อยกว่า ด้วยความที่เป็นคนขี้เขินด้วย เพราะงั้นมันจะยังมีเส้นที่เราเองขีดไว้อยู่ มันเลยเป็นความท้าทายที่เราจะต้องพัฒนาศักยภาพให้เท่ากับพวกพี่ๆ ให้ได้

“เราทั้ง 4 คนมีความฝันเดียวกันว่า ทุกคนอยากจะเป็นศิลปิน อยากจะทำให้คนดูมีความสุข แล้วพวกเราก็ต้องมีความสุขในสิ่งที่พวกเราทำ มันเป็นกำแพงที่สูงมาก มันเลยทำให้เราจำเป็นต้องมีศักยภาพมากพอที่ก้าวข้ามมันไปให้ได้”

ชวนคุยกับ AMYLASE ในวันที่อยากก้าวข้ามคำว่าเพศสภาพในอุตสาหกรรม T-POP

related