SHORT CUT
อิหยังวะ! "แอ๊ด คาราบาว" ประกาศยุบวงหลังจบคอนเสิร์ตสุดท้าย ล่าสุดกลับคำ "ผมจะหยุดแค่เมษายนเดือนเดียว เดี๋ยวจะกลับมาใหม่" จนเกิดกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ตามมามากมาย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมปี 2566 "ยืนยง โอภากุล" หรือ "แอ๊ด คาราบาว" หัวหน้าวงคาราบาว ได้เคยประกาศไว้ว่าจะยุบวงคาราบาว ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567 "เราจะมีคอนเสิร์ตวันที่ 1 เมษายน 67 แล้วก็จะเลิกวงเลยนะครับ รีบบอกไปเลยครับพี่น้อง เป็นความจริง เพราะมันไม่ไหวแล้ว" อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการแสดงคอนเสิร์ต "ล้อมวงลาคาราบาว" ที่ BCC Hall เซ็นทรัลลาดพร้าว ทางด้าน "แอ๊ด คาราบาว" ก็ทำเอาแฟนเพลงที่เข้ามาชมคอนเสิร์ตกว่า 5 พันคนได้เฮกันลั่น เมื่อเจ้าตัวประกาศบนเวทีว่า…
"จริง ๆ แล้วผมตั้งใจหยุดวงจริง ๆ เดือนเมษายน หลังจากวันที่ 4 ไปแล้วก็จะไม่มีคาราบาว ทุกวันนี้ผมเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะเล่น หลังจากนี้ไปก็หมดแค่วันที่ 4 เมษายน จริง ๆ ผมต้องการพักวง เพราะเราเหนื่อย เราแก่ แต่ก็มีเรื่อง จากนี้ผมฮึดสู้ ผมจะหยุดแค่เมษายนเดือนเดียว เดี๋ยวจะกลับมาใหม่ อันนี้ไม่ได้ดราม่านะ จริงๆ ตั้งใจเลิกจริง ๆ"
เพียงคำพูดเท่านี้ของ "แอ๊ด คาราบาว" ทำให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ตามมามากมาย ส่วนหนึ่งคนที่เป็นแฟนเพลงที่อยากเห็นวงเดินหน้าไปต่อก็จะรู้สึกยินดีที่ได้ฟังเพลงระดับตำนานต่อไป แต่ในทางกลับกันก็มีกระแส แซว หยิก หยอก คาราวบาวเป็นวงที่พูดจากลับคำ "ยุบแต่ยุบไม่จริง" แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งที่เป็นของวงนี้ไม่ได้เลย นั่นคือบทเพลงของวง คาราบาว อยู่คู่กับหลาย ๆ บริบทของสังคมไทย นั่นหมายความว่า คาราบาว ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มิเช่นนั้นจะอยู่คู่กับวงการเพลงเพื่อชีวิตมายาวนานมากว่า 40 ปี ได้อย่างไร "สปริงบันเทิง" จึงขอพาไปย้อนความเป็นตำนานของวงคาราบาว ดังนี้
วงคาราบาว เกิดขึ้นในวันที่ แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล, เขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่-สานิตย์ ลิ่มศิลา 3 นักศึกษาไทยที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รวมตัวกันเล่นดนตรีและประกวด โดยชื่อวง คาราบาว แปลว่า ควาย ในภาษาตากาล็อก หรือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์
และพอกลับมาไทยก็เล่นดนตรีต่อและมีอัลบั้ม ขี้เมา เขียวและแอ๊ดได้ทำวงต่อโดยมี เล็ก-ปรีชา ชนะภัย มาสมทบ และจากนั้น เทียรี่ เมฆวัฒนา ก็เข้ามาในยุคอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ซี่งแม้จะมีช่วงที่เล็กและเทียรี่แยกตัวไป แต่สุดท้ายทั้งสองก็มาร่วมงานกับวงอีกครั้งในอัลบั้ม อเมริกันอันธพาล ในปี พ.ศ. 2541 แต่ถึงแม้จะมีการเข้าออกของสมาชิก แอ๊ด คาราบาว ก็เป็นสมาชิกคนเดียวที่มีผลงานทุกยุคตลอด 40 กว่าปี
ในปี 2527 อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ได้ปล่อยออกมาประสบความสำเร็จหลักล้านตลับ โดยมีเพลง เมดอินไทยแลนด์, ลูกหิน, บัวลอย, นางงามตู้กระจก, มหาลัย, ราชาเงินผ่อน ที่หลายคนคุ้นเคย รวมถึงเพลง "หำเทียม" ที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. ห้ามออกอากาศ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีอัลบั้ม ท.ทหารอดทน, ทินเนอร์ จากอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ที่เจอเหตุการณ์เดียวกัน
ตลอดเวลา 42 ปีที่ผ่านมา คาราบาว ได้มีผลงานทั้งหมด 40 อัลบั้ม ทั้ง ขี้เมา ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2524 มีเพลงดังติดหูคือ ลุงขี้เมา และ หนุ่มสุพรรณ หลังจากนั้นก็ออกผลงานสตูดิโออัลบั้ม อัลบั้มรวมเพลง และอัลบั้มพิเศษ มาอย่างต่อเนื่อง อีกมากมาย อาทิ แป๊ะขายขวด, วณิพก, ท.ทหารอดทน รวมถึงอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ อัลบั้มที่สร้างสถิติขายดีที่สุด และทำให้วงคาราบาวโด่งดังเป็นที่จดจำทั่วโลก จนมาถึง 40 ปี ฅนคาราบาว สตูดิโออัลบั้มล่าสุดลำดับที่ 29
ความสำเร็จของชุด เมด อิน ไทยแลนด์ นำพาสู่คอนเสิร์ต ทำโดยคนไทย ของวงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ซึ่งมีผู้ชม 60,000 คน ณ เวโลโดรม หัวหมาก โดยแม้จะเกิดเหตุการณ์คนปีนนั่งร้านที่อันตราย และการตีกัน จนงานต้องจบก่อนกำหนดการเดิม แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงวงคาราบาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง