"สมชัย" มองกรณี "พิชิต ชื่นบาน" ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) เหตุเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จี้ "เศรษฐา" ใช้โอกาสนั่งนายกฯ คัดคนเป็นรัฐมนตรี ที่ความซื่อสัตย์ประจักษ์
จากกรณีที่มีข่าวลือว่า นายพิชิต ชื่นบาน ติดโผเป็นว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ด้านกฎหมาย แทนนายชูศักดิ์ ศิรินิล ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ไปทำภารกิจอื่น ซึ่งนายพิชิต ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทย มานานแล้ว ซึ่งตอนนี้การจัด ครม. เสร็จเกือบ 100% อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติ
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะสงสัยว่าชื่อ พิชิต ชื่นบาน ที่เปิดเผยเป็นรายสุดท้ายในโผ ครม. เศรษฐา ว่าจะดำรงตำแหน่ง รมว.สำนักนายกรัฐมนตรีในโควต้าพรรคเพื่อไทย จะขาดคุณสมบัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "พิชิต ชื่นบาน" ติดโผ ครม."เศรษฐา 1 นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ
• อัปเดตโผ ครม. เศรษฐา 1 ล่าสุด พรรคเพื่อไทยเขย่าใหม่ กลาโหมให้พลังประชารัฐ
• "เศรษฐา" เผย โผ ครม. นิ่งแล้ว จ่อส่งชื่อตรวจสอบคุณสมบัติ อุบชื่อ รมว.กลาโหม
เมื่อพลิกประวัติพิชิต ชื่นบาน พบว่าเคยโทษจำคุก 6 เดือน เมื่อปี 2551 ทำให้มีข้ออ้างว่านับถึงปัจจุบันเลย 10 ปีแล้ว สามารถมาเป็น รมต.ได้ เป็นเรื่องที่อาจเข้าใจผิด เพราะเรื่องเคยถูกจำคุกเลย 10 ปีแล้วมีคุณสมบัตินั้น เป็นคุณสมบัติของ สส. ตามมาตรา 98 (7) ของรัฐธรรมนูญ
แต่กรณีเป็นรัฐมนตรีนั้นต้องดูที่ มาตรา 160(7) ซึ่งไม่ได้ระบุเวลา เว้นแต่ประมาท ลหุโทษ หรือเรื่องหมิ่นประมาท
กรณี ละเมิดศาล นำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านมาให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ไม่ใช่ลหุโทษ (โทษไม่ถึง 1 เดือน) แน่นอน
จากข้อมูลดังกล่าว สมชัย เชื่อว่าชื่อนี้ น่าจะไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะแจ้งกลับไปยังพรรคอย่างตรงไปตรงมา หรือถ้าเข้าใจผิด ก็ขอให้ช่วยอธิบายสิ่งที่ถูกด้วย
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่ง ส่งไลน์มาถึงผม ดังนี้ครับ
เล่าสู่กันฟัง ย้อนคดีถุงขนมสองล้าน ไม่ใช่สินบน?
แต่ลงโทษละเมินอำนาจศาล โดยเหตุเพราะอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องสินบน
โดยอัยการสูงสุดในเวลานั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับสามของพรรคเพื่อไทย
สรุปคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551
พิพากษาจำคุกนายพิชิต ชื่นบาน นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และนายธนา ตันศิริ เป็นเวลา 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล นำเงินสองล้านบาทจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฯกระทำการอันมิชอบระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาของศาลฎีกาฯ เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย และเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนประกอบอาชีพทนายและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ต้องหาทั้งสามเป็นเวลาหกเดือน
ท้ายคำพิพากษายังระบุว่า ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งต่อมาก็มีการไปแจ้งความดำเนินคดีความผิดนี้จริง ๆ ผลคือ ตำรวจสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลโดยสรุป จากคำแถลงของนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 ดังนี้
1. ข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่พบว่า ทนายความที่ถือถุงใส่เงินมาให้ มีวัตถุประสงค์จะให้เงิน 2 ล้านบาท แต่ได้ความเพียงว่า มีเจตนาจะให้ ขนม ไม่ใช่แสดงตัวมาแต่แรกว่าจะให้เงิน จึงขาดความเป็น ผู้ใด ที่เป็นผู้ให้สินบน
2. เงินของกลาง 2 ล้านบาทเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีเงินของกลางในสำนวน และยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่า จะให้เงิน 2 ล้านบาทไปเพื่ออะไร ดังนั้น อัยการจึงมีความเห็นว่า การที่คืนเงินของกลางไปทำให้คดีขาดหลักฐานสำคัญ
3. ไร้หลักฐานเรื่องเจ้าพนักงานผู้รับสินบน แต่คดีนี้พบว่าผู้ที่มารับเงิน คือ เจ้าหน้าที่นิติกร 3 ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับอรรถคดี
4. คำสั่งศาลฎีกาให้จำคุกนายพิชิตและพวก เป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นคนละคดีกับความผิดให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาเทียบเคียงไม่ได้
5. ด้วยเหตุผลข้างต้น อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้
ย้ำ_ โดยอัยการสูงสุดในเวลานั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับสามของพรรคเพื่อไทย
มีผู้อธิบายให้ผมฟังว่า การที่คุณพิชิต ชื่นบาน เคยถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานนำถุงขนมมีเงิน 2 ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลนั้น ไม่ทำให้ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 160(7) เพราะไม่ใช่คำพิพากษาของศาลแต่เป็นคำสั่งของศาล
ฟังเหตุผลแบบตีความตามตัวอักษร ก็อาจเป็นไปได้ที่สำนักเลขาธิการ ครม. อาจจะลอดช่องนี้ เพราะมีเนติบริกรลอดช่องที่เป็นเครื่องจักรซักล้างมากความสามารถอยู่แถว ๆ นั้น
แต่อย่าลืมว่า มาตรา 160(4) ที่ระบุว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ (5) ที่ระบุว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ด้วย
ทั้งสองข้อ เป็นเรื่องคุณภาพที่ต้องประเมินกันเอง ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีแต่ความเห็นของคนในสังคมว่าจะเห็นไปในทางใด ซึ่ง สำนักเลขาธิการ ครม. อาจตอบแบบสงวนตัวได้ว่า ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์
ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับคุณเศรษฐาเอง ว่า เมื่อตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีและมีโอกาสแรกสุดในการฟอร์ม ครม. ที่หน้าตาดี ให้ประชาชนชื่นชมแล้ว จะใช้ หรือ ปล่อยโอกาสดังกล่าวไป
เพราะ ครม. ชุดอื่น เขาเริ่มจาก บวก แต่ชุดนี้ หากเริ่มจาก ติดลบ
เอาความสำเร็จทางธุรกิจมาทิ้งที่นี่ เสียดายครับ
ที่มา : สมชัย ศรีสุทธิยากร