ทราบหรือไม่ว่า ก้าวไกล "อาจจะ" ไม่ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอีกด้วย ถ้าหาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง รองประธานสภาฯ
สถานการณ์ทางการเมือง ยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบคละคลุ้งฟุ้งกระจายไปทั่ว เนื่องจากยังอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย และจัดตั้ง ครม. เศรษฐา 1 ซึ่งใกล้จะเป็น "ภาพจริง" เข้าไปทุกขณะ
อย่างไรก็ตาม อีกฟากฝั่งหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือ ขั้วที่กำลังจะเป็นฝ่ายค้าน ก็มีความเคลื่อนไหว เช่นกัน , โดย มีประเด็นที่สังคมสนใจ นั่นก็คือ ก้าวไกล "อาจจะ" ไม่ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอีกด้วย ถ้าหาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง รองประธานสภาฯ
โดย เรื่องนี้ มีนักข่าว ไปสอบถามกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (รักษาการ) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดย ณ เวลานั้น "รองวิษณุ" ตอบคำถามว่า ต้องรอให้รู้ก่อนว่า พรรคไหนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านต้องมาจากพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล และต้องเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในฝ่ายค้าน
เมื่อถามถึง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภา คนที่ 1 ทำให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ เนื่องจากแย้งกับรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องลาออกจากรองประธานสภา
เมื่อถามว่า หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องหลุดจาก ส.ส. พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า ใช่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดประวัติ "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล รองประธานสภาฯ คนที่ 1
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ชัดขึ้น ผ่านการโหวตนายกรอบ 3 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนรับรองผ่านฉลุย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ได้กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 โดยระบุว่า หาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง จากก้าวไกล ไม่ยอมลาออกตำแหน่ง รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จะตกไปที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่
วิษณุ เครืองาม ก็ให้คำตอบอีกว่า ก็ต้องตกไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือว่า เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในฝ่ายค้าน เพราะผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้เอาเสียงมากอย่างเดียว แต่ต้องไม่มีตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็ถือว่าจะตกไปที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปโดยอัตโนมัติ และหัวหน้าพรรค จะต้องเป็น สส.
ผู้สื่อข่าวถามว่า รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล จะต้องลาออกหรือไม่ หากต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่มีอำนาจบารมีเท่าไร แต่ก็มีความสำคัญอยู่บ้างในบางเรื่อง เช่น การขอเปิดอภิปรายฯอะไรบางอย่างที่จะได้พูดเป็นคนแรก ที่สำคัญ คือ อยู่ในองค์ประกอบสมการสรรหาองค์กรอิสระ หลายองค์กร แต่ถ้าไม่มีผู้นำฝ่ายค้านก็จะขาดไป 1 เสียง
เมื่อถามว่า หากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในอนาคตไม่ได้เป็น สส.จะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่ต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
ขณะที่ อีกฟากฝั่งหนึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ 25 สิงหาคม 2566 ว่าจะปฏิเสธ การเป็นผู้นำฝ่ายค้านด้วย
ดังนั้น สรุปแล้ว ถ้าหาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง จากก้าวไกล ยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ 1 ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จะไม่ได้อยู่กับพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน และจะผลัดมือไปอยู่กับพรรคที่มี สส. รองลงมา นั่นคือ ประชาธิปัตย์
หมายเหตุ
ด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดไว้ว่า
หลัง ครม.เข้าบริหารประเทศ จะต้องแต่งตั้ง "สส." ผู้เป็น "หัวหน้าพรรค" ที่มีสมาชิกมากที่สุดเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่พรรคนั้นต้องไม่มีสมาชิก เป็นรัฐมนตรี-เป็นประธานและรองประธานสภาฯ