เปิดประวัติ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" นักการเมืองคนสำคัญ-หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตัวเต็งรายชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาฯ และ เป็นส.ส. มากประสบการณ์ถึง 11 สมัย
เปิดประวัติ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ประธานสภาไทย ในรัฐบาลก้าวไกล หลังการเลือกตั้ง 2566 และในอดีตเคยเป็นประธานสภาเชื้อสายมุสลิมคนแรก ในการเลือกตั้ง 2539 โดย "วันนอร์" เป็นประธานสภาฯ จากพรรคความหวังใหม่ รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ ในคราวนั้น
กระแสข่าว ประธานสภาฯ ในรัฐบาลก้าวไกล กำลังร้อนแรงมากๆ หลังจาก เมื่อ วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ให้สัมภาษณ์ เนื้อหาว่า
“เราต้องเคารพ และฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ถ้าเสนอชื่อตนแล้วการตั้งรัฐบาลซีกประชาธิปไตยมันราบรื่นหรือไม่ ถ้าตนไม่รับการจัดตั้งรัฐบาลราบรื่นหรือไม่ ตนไม่ได้อยากเป็นตั้งแต่แรก ขอทำแค่หัวหน้าพรรค แม้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีก็ไม่รับ ตนพอแล้ว ทำมาทุกอย่างแล้ว คิดว่าถ้าเรารู้จักพอในสิ่งที่เราได้ ถ้ามันเป็นกำหนดของพระเจ้า ก็ไม่อาจปฏิเสธได้”
“ถ้าเพื่อไทย มีมติออกมาแล้ว ก็ยินดีที่จะรับ แต่ต้องฟังเสียงพรรคก้าวไกล และเสียงของประชาชนด้วย ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ยินดี ถ้าเพื่อประชาชนในวาระสุดท้ายของชีวิตการเมือง ตนก็ยินดี” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นอกจากนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทาซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ จาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ให้วิสัยทัศน์ในการเป็นประธานสภาฯ
"ถ้าผมได้รับความไว้วางใจ ในการเป็นประธานสภาในครั้งนี้ ผมขอยืนยัน ผมจะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง และจะน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทาน ให้กับสมาชิกรัฐสภา สมัยที่ 26 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส สุจริต"
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ กล่าวในสภาฯ 4 ก.ค. 2566
ต่อมา พรรคเพื่อไทย มีมติเสนอ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภา เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ทั้งสองพรรคตกลงกันได้แล้ว นัดแถลงเบื้องต้น 20.00 น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์
• รองประธานสภาฯ ใครจะได้นั่ง ?
ทั้งนี้ ก่อนการโหวตเลือกประธานสภาฯ มีกระแสข่าวว่า
วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส.จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานคนที่ 2
เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ส่วน รองประธานคนที่ 2 คือ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย เพื่อไทย
• ประวัติการศึกษา วันมูหะมัดนอร์ มะทา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 79 ปี เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดยะลา จบมัธยมจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลายแผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบิณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาไทย เมื่อปี 2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2517
• การทำงาน วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ปี 2507 เป็นครูใหญ่โรงเรียนอัตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส
ปี 2512 เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ในปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)
ปี 2518 อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ.2521 รองอธิการบดี สถาบันราชภัฏสงขลาการเมือง
• เส้นทางการเมือง วันมูหะมัดนอร์ มะทา
นายวันมูหะมัดนอร์ เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์ เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่
ก่อน วันมูหะมัดนอร์ มะทา จะย้ายไปเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม 2545 ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และมีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี
กลุ่มวาดะห์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไป ใน 2548 โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี
ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 พรรคไทยรักไทย ถูกฟ้องร้องใน “คดียุบพรรค” และต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “ยุบพรรค” พรรคไทยรักไทย และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินทางการเมือง 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปในช่วงเวลานั้น
-ปี 2522 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม
-ปี 2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
-ปี 2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
-ปี 2526 มีการยุบสภา ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
-ปี 2527 ได้ร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ” (กลุ่มวาดะห์) และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
-ปี 2531 ได้นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ “กลุ่ม 10 มกรา” ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
-ปี 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับพรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
-ปี 2533 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)
-ปี 2535 ได้นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1) และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2) รวมทั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
-ปี 2537 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน) การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)
-ปี 2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยที่ 6 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลการแก้ไขปัญหาการจราจร
-ปี 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 7 และได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร/ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539-27 มิถุนายน 2543) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
-ปี 2540 วันที่ 11 ตุลาคม 2540 วันสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ทูลเกล้าถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวนั้น จึงมีผลให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป
-ปี 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 8 พรรคความหวังใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
-ปี 2545 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-ปี 2547 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
-ปี 2548 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 9
– ปี 2557 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13
-ปี 2562 รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563
-ปี 2566 รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 11